'บจ.ใหญ่' แห่ขอเพิกถอนหุ้น

'บจ.ใหญ่' แห่ขอเพิกถอนหุ้น

“บจ.ใหญ่” แห่ขอเพิกถอนหุ้น มาร์เก็ตแคปหด2.4แสนล้าน - เบอร์ลี่คาด “บิ๊กซี” ออกก.ย.นี้ วางเป้าหมายขึ้นเบอร์2ร้านสะดวกซื้อในไทย

สำรวจ 5 เดือนบจ.รายใหญ่ตลาดหุ้นไทยพร้อมใจขอเพิกถอน 3 บริษัท “ไทยพลาสติก-วีนิไทย-บิ๊กซี” มาร์เก็ตแคปรวมกันกว่า 2.4 แสนล้านบาท ด้านเบอร์ลี่ยุคเกอร์คาดปิดดีลเทนเดอร์และขอถอนหุ้นจากตลาดภายในเดือนก.ย.นี้ พร้อมเปิดแผนตั้งเป้าหมายดันบิ๊กซีขึ้นเบอร์ 2 ร้านสะดวกซื้อในไทย

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจสำรวจตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน พบว่า บริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นไทยได้ยื่นขอเพิกถอนจากการเป็นบริษัทจดทะเบียน 3 บริษัท มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) รวม 2.4 แสนล้านบาท ประกอบด้วย บริษัทไทยพลาสติกเคมีภัณฑ์ จำกัด(มหาชน) TPC โดยบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) SCC ยื่นขอทำคำเสนอซื้อหุ้น และเพิกถอนไปเมื่อเดือนม.ค. 2560 ซึ่งบริษัทไทยพลาสติกฯ มีมาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 3.5 หมื่นล้านบาท ต่อมาบริษัทวีนิไทย จำกัด (มหาชน) VNT โดยบริษัท Asahi Glass ได้เข้าถือหุ้น VNT แล้ว 58.77% โดยซื้อจาก Solvay Vinyls Holding AG และได้กำหนดราคาเสนอซื้อที่หุ้นละ 15 บาท คิดเป็นเงินทุน 7,330 ล้านบาท และอยู่ระหว่างดำเนินการขอเพิกถอนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน ปัจจุบันหุ้นวีนิไทย มีมาร์เก็ตแคปอยู่ที่  2.34 หมื่นล้านบาท 

ล่าสุด บริษัทเบอร์ลี่ยุค จำกัด (มหาชน) BJC ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ 98% ได้ยื่นทำคำเสนอซื้อหุ้นบริษัทบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) BIGC 17 ล้านหุ้น คิดเป็น 2.06% เพื่อการเพิกถอนหุ้นบิ๊กซีออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยจะทำคำเสนอซื้อหุ้นบิ๊กซีในราคา 225.00 บาทต่อหุ้น และปัจจุบันหุ้นบิ๊กซีมีมาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 1.83 แสนล้านบาท

นายรามี ปีไรเนน ผู้อำนวยการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ กล่าวว่า บริษัทคาดว่าการดำเนินการนำหุ้นบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จะเพิกถอนจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ภายในเดือนก.ย.นี้ โดยเป้าหมายหลังจากนี้ บริษัทต้องการให้ มินิ บิ๊กซี ขึ้นเป็นอันดับที่ 2 ของธุรกิจร้านสะดวกซื้อในเมืองไทย

“บริษัทคาดว่าจะสามารถดำเนินการนำ บิ๊กซีออกจากการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ในเดือนก.ย.นี้ โดยกระบวนการนั้น จะมีการขอมติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นกลางเดือนนี้ และแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ให้มีการอนุมัติการทำรายการดังกล่าว 30 วัน และจะดำเนินการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์หลังจากนั้นอีก 45 วัน”

การนำหุ้นบิ๊กซีออกจากการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ครั้งนี้ เนื่องจากสัดส่วนของผู้ถือหุ้นรายย่อย อยู่ที่ 2% เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์ต้องให้มีสภาพคล่องการซื้อขาย (ฟรีโฟลท) ที่ 15% ขึ้นไป บริษัทพิจารณาแล้วไม่คุ้มค่ากับค่าธรรมเนียมที่บริษัทต้องเสียค่าปรับให้กับตลาดหลักทรัพย์ จึงมองว่าการนำบริษัทออกจากการจดทะเบียนเป็นสิ่งที่เหมาะสมมากกว่า

ทั้งนี้ เป้าหมายระยะกลางของบริษัทต้องการขึ้นเป็นผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อที่มีความแข็งแกร่งเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ รองจากเจ้าตลาดในปัจจุบันอย่าง บริษัทซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ เซเว่น อีเลฟเว่น ปัจจุบันบริษัทมีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 465 สาขา และบริษัทมีการปรับปรุงศูนย์กระจายสินค้าให้มีศักยภาพมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันสามารถรองรับสาขาได้ทั้งหมด 1,600-1,700 สาขา โดยเป้าหมายของบริษัทหลังจากนี้คือ ต้องการขยายสาขาดังกล่าวให้ได้ 200 สาขาต่อปี

สำหรับการทำธุรกิจในต่างประเทศ ของบริษัทบิ๊กซี เบื้องต้นจะมีการเข้าทำตลาดในประเทศกัมพูชาในปี 2561 และจะขยายต่อไปยังประเทศลาวด้วย ทั้งนี้แผนธุรกิจในลาวเดิมทีบริษัทมีสาขาของร้านสะดวกซื้ออยู่แล้วประมาณ 40 สาขา มีความเป็นไปได้ที่จะนำสาขา ดังกล่าวมาปรับปรุงให้เป็นสาขาของ มินิ บิ๊กซี เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของบิ๊กซีให้มีมากขึ้น 

เป้าหมายการเติบโตของบริษัทเบอร์ลี่ยุคเกอร์ในปีนี้ ฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่นั้น บริษัทไม่สามารถประเมินได้โดยเฉพาะการเติบโตของรายได้รวม เนื่องจากเป็นปีแรกที่บริษัทได้มีการนำงบการเงินรวมกับของบริษัทบิ๊กซี ส่วนการเติบโตของยอดขายสาขาเดิมปีนี้ คาดว่าจะเริ่มดีขึ้น และช่วงครึ่งปีหลังน่าจะขยายตัวได้ 2-3% 

อย่างไรก็ตาม การประเมินการเติบโตไม่ได้มาก เนื่องจากสถานการณ์กำลังซื้อในประเทศ ยังไม่เห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจน  แต่ในส่วนบริษัทอาจจะมีกำไรในงวดครึ่งแรกของปีนี้เติบโตค่อนข้างดี เนื่องจาก ได้มีการยกเลิกการจำหน่ายสินค้าที่มีกำไรต่ำ หรือขาดทุนออกไป และเน้นสินค้าที่มีกำไรสูงเข้ามาทดแทน 

การเคลื่อนไหวราคาหุ้นเบอร์ลี่ วานนี้ (2 มิ.ย.) ปิดตลาดที่ 46.50 บาท ราคาไม่เปลี่ยนแปลง และราคาหุ้นบิ๊กซี ปิดตลาดที่ 222 บาท