TSE 'ตัวจริง' พลังงานแสงอาทิตย์ญี่ปุ่น

TSE 'ตัวจริง' พลังงานแสงอาทิตย์ญี่ปุ่น

แม้ผลตอบแทนพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นจะใกล้เคียงเมืองไทย แต่โอกาสมีกำลังการผลิตใหม่ต่อเนื่องมีมากกว่า 'แคทลีน มาลีนนท์' นายหญิงแห่ง 'ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่' กางแผนเติมงานแดนปลาดิบ

นโยบายเปิดประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกภายในประเทศไม่ชัดเจน บวกกับสถานการณ์การเมืองไม่ปกติ ส่งผลให้เมื่อ 4 ปีก่อน เหล่าผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนสัญชาติไทย ต่างพากันออกไปหาโอกาสเติบโตนอกบ้าน โดยเฉพาะ 'ประเทศญี่ปุ่น' ที่ต้องเผชิญหน้ากับภาวะขาดแคลนไฟฟ้าเมื่อปี 2554 หลังประสบเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิถล่มโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

เช่นเดียวกับ บมจ.ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ หรือ TSE ของ 'ตระกูลมาลีนนท์' ที่เริ่มมองเห็นโอกาสในการสร้างฐานรายได้ใหม่ สะท้อนผ่านการลงทุนโปรเจคขนาดเล็ก ด้วยการเทคโอเวอร์โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ครึ่งเมกะวัตต์ในประเทศญี่ปุ่น ก่อนจะทยอยสะสมผลงานอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน TSE มีกำลังการผลิตไฟฟ้าประเทศญี่ปุ่นในมือแล้ว 30 เมกะวัตต์ ขึ้นแท่น 'ตัวจริง' ของวงการพลังงานทางเลือกที่ประสบความสำเร็จ จากการเข้าไปลงทุนในญี่ปุ่นเป็นรายแรกๆ สะท้อนผ่านการมีตัวเลขจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 4 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิต 5.24 เมกะวัตต์

ทั้งนี้โครงการในประเทศญี่ปุ่นของ TSE ได้รับอัตรารับซื้อไฟฟ้าเฉลี่ย 32-36 เยนต่อหน่วย ถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง แม้ในอดีตทางการญี่ปุ่นจะเคยรับซื้อไฟฟ้าสูงสุดในระดับ 40 เยนต่อหน่วย แต่ปัจจุบันอัตราการรับซื้อไฟฟ้ากำลังปรับตัวลดลงมายืนระดับ 21 เยนต่อหน่วย (ผันแปรตามต้นทุนที่ลดลง)

'แคทลีน มาลีนนท์' ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ หรือ TSE เล่าให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า แม้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐจะทยอยเปิดประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ออกมาบ้าง โดยเฉพาะโครงการโซลาร์ฟาร์มหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร เฟส 2 จำนวน 219 เมกะวัตต์ (เปิดยื่นคำขอเป็นเจ้าของโครงการเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติตั้งแต่วันที่ 29 พ.ค.-2 มิ.ย.2560) แต่วิธีการได้มาในลักษณะจับฉลากเพื่อรับสิทธิ์ ทำให้ความน่าสนใจลงทุนลดลง

ขณะเดียวกันหากมองในแง่ของ อัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบ Feed-in Tariff (FiT) ยิ่งบั่นทอนความน่าสนใจ หลังตัวเลขปรับลดลงเรื่อยๆ โดยโครงการโซลาร์ฟาร์มรอบล่าสุดที่จะประกาศผลผู้ที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติภายในวันที่ 14 มิ.ย.นี้ มีอัตรารับซื้อไฟฟ้าลดลงแล้วประมาณ 20%

'รอบก่อนเมื่อช่วงปีกว่าที่ผ่านมา ทางการรับซื้อไฟฟ้า 5.66 บาทต่อหน่วย อายุสัญญา 25 ปี แต่รอบนี้เหลือ 4.12 บาทต่อหน่วย' 

เมื่ออัตรารับซื้อไฟฟ้าต่ำลงเรื่อยๆ ขณะที่ต้นทุนไม่ได้ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะ 'ราคาที่ดิน' ที่ปรับตัวขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะละแวกที่มีสายส่งไฟฟ้าและมีกลุ่มสหกรณ์ ผู้ประกอบการที่จะเข้าประมูลโครงการยิ่งต้องคิดให้มาก แม้ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ราคาแผงโซลาร์เซลล์จะปรับตัวลดลงเฉลี่ย 25% แล้วก็ตาม

ส่วนตัวมองว่า จากนี้ราคาแผงโซลาร์เซลล์คงไม่กดลงไปต่ำกว่านี้อีกแล้ว ยกเว้นแผง โซ ลาร์เซลล์จะมีเทคโนโลยีล้ำสมัยมากขึ้น อย่างไรก็ดีหากบริษัทตัดสินใจเข้ารวมประมูลโรงไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์กับกลุ่มสหกรณ์คงต้องใช้ที่ดินประมาณ 50-60 ไร่ ต่อกำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์

'วันนี้ผลตอบแทนจากการลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์ภายในประเทศไม่สูงเหมือนก่อนแล้ว ปัจจุบันลงมาอยู่ระดับ 8-12% เมื่อเทียบกับในอดีตที่ทำได้สูงกว่า 20% เท่ากับว่า การลงทุนในประเทศและญี่ปุ่นมีอัตราใกล้เคียงกันแล้ว'

ประธานกรรมการบริหาร ย้ำว่า แม้ผลตอบแทนจากการลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์ ภายในประเทศจะไม่สูงเหมือนอดีต แต่บริษัทยังคงมองหาโอกาสการเติบโตภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น เข้าประมูลโครงการโซลาร์ฟาร์ม หน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร เฉลี่ย 20-30 เมกะวัตต์

'เมื่อทางการยืนยันจะใช้วิธีจับฉลากเหมือนเดิม เราคงต้องหันไปยื่นประมูลในพื้นที่ที่ไม่ต้องจับฉลาก' 

ตามแผนงานบริษัทต้องการมีกำลังการผลิตพลังงานทดแทนใหม่ๆภายในประเทศเติมเข้ามาปีละ 40-50 เมกะวัตต์ แต่จะเป็นพลังงานประเภทใดบ้างคงต้องขึ้นอยู่กับนโยบายภาครัฐ เพราะหากนโยบายรัฐยังไม่มีความชัดเจน ผู้ประกอบการคงต้องดิ้นรนไปหาการเติบโตในแหล่งอื่นแทน

หากทางการเปิดประมูลโครงการโซลาร์เซลล์ในอัตราจำกัด ขณะที่ผู้เล่นมีจำนวนมาก วิธีการได้เมกะวัตต์ใหม่ๆ คงหนีไม่พ้นการ 'ซื้อใบอนุญาตต่อจากเจ้าของเดิม' ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการหลากหลายรายเข้ามาเสนอขายใบอนุญาตค่อนข้างมาก โดยเฉพาะพลังงานชีวมวล (Biomass) และพลังงานแสงอาทิตย์

ในส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์ นอกจากจะขายแพงขึ้นแล้ว ในแง่ของผลตอบแทนจากการลงทุน หรือ IRR ยังเหลือน้อยมาก เท่ากับว่า ไม่คุ้มค่าที่จะลงทุน ฉะนั้นหากจะเห็นความคืบหน้าในดีลใหม่ๆ คงเป็นในส่วนของ 'พลังงานชีวมวล' แต่คงไม่มีสัดส่วนมากอย่างมีนัยสำคัญ

ที่ผ่านมาบริษัทได้ซื้อใบอนุญาตโรงไฟฟ้าชีวมวล จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสุราษฎร์ธานี จากเจ้าของเดิมโรงไม้ มาดำเนินการต่อ 3 โครงการ (ใช้ปีกไม้เป็นเชื้อเพลิง) กำลังการผลิต 22.2 เมกะวัตต์ (แต่รับรู้รายได้ 18 เมกะวัตต์ เพราะโรงไฟฟ้าสองแห่งมีพันธมิตรถือหุ้น 30%)

เบื้องต้นคาดว่า ในเดือนก.พ.2561 โรงไฟฟ้าหนึ่งแห่งจะเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) 4.6 เมกะวัตต์ ส่วนอีกสองโรงจะเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าได้ในเดือนมิ.ย.หรือ ก.ค.ปีหน้า ซึ่งทั้งสามโรงไฟฟ้าเริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

'ประมูลโรงไฟฟ้าชีวมวล 4 จังหวัดภาคใต้รอบก่อน อัตราการรับซื้อไฟฟ้าลดลงเกือบ 80% ราคาต่ำขนาดนี้ ทำไม่ไหว แม้ผลตอบแทนจากการลงทุนจะสูงถึงตัวเลข สองหลักก็ตาม เพราะผลิตไฟฟ้าได้ 24 ชั่วโมง'

ปัจจุบันบริษัทที่มีกำลังการผลิตภายในประเทศ 121.7 เมกะวัตต์ คิดเป็น 29 โรงไฟฟ้า โดยจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 100 เมกะวัตต์

นายหญิง เล่าแผนลงทุนประเทศญี่ปุ่นว่า ปัจจุบันมีกำลังการผลิตในมือ 30 เมกะวัตต์ ทยอย COD ไปแล้ว 7-8 เมกะวัตต์ และอีก 17 เมกะวัตต์ กำลังจะก่อสร้าง คาดว่า ภายใน 1 ปีข้างหน้าจะแล้วเสร็จ

ส่วนดีลใหม่ล่าสุด เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา บริษัทได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น หรือ STEC โดย TSE และ STEC ถือหุ้นสัดส่วน 60:40 ของมูลค่าโครงการประมาณ 61,240 ล้านเยน หรือคิดเป็นประมาณ 19,658 ล้านบาท เพื่อลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ประเภทติดตั้งบนพื้นดิน 1 โรง ขนาดกำลังการผลิต 155 เมกะวัตต์ (กำลังการผลิตติดตั้ง 182.76 เมกะวัตต์)

โดยได้รับ อัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed-in Tariff (FiT) หน่วยละ 36 เยน อายุสัญญา 20 ปี หลังได้รับสัมปทานในการขายไฟฟ้าให้แก่ Tohoku Electric Power Co.,Inc เป็นระยะเวลา 20 ปี ณ เมืองโอนิโกเบ จังหวัดมิยางิ ประเทศญี่ปุ่น

แผนงานสเต็ปต่อไป บริษัทต้องหา “พันธมิตรใหม่อีก 1 ราย” มาถือหุ้นในบริษัทร่วมทุนแห่งนี้ สัดส่วนเฉลี่ย 25% เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในการบริหารงาน เนื่องจากยังมีแผนจะลงทุนโปรเจคอื่นๆ เพิ่มเติมในประเทศญี่ปุ่น ล่าสุดกำลังเจรจา 2 ดีลใหม่ กำลังการผลิตดีลละ 40 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุนเฉลี่ย 10,000 ล้านบาท คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 3 นี้

'วันนี้ TSE มีหนี้สินต่อทุน หรือ D/E 1 เท่ากว่า หากต้องกู้เงินมาลงทุนโปรเจคนี้บวกกับโปรเจคใหม่ๆ ตัวเลขคงขยับไปเกือบ 3 เท่า ถือว่าสูงเกินไป ฉะนั้นจำเป็นต้องหาเพื่อนร่วมลงทุน แม้จะมีเพื่อนใหม่ แต่ TSE จะถือหุ้นในบริษัทร่วมทุนไม่ต่ำกว่า 40%' 

สำหรับรายละเอียดโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ประเภทติดตั้งบนพื้นดิน ขนาดกำลังการผลิต 155 เมกะวัตต์ หลังกระบวนการซื้อใบอนุญาตแล้วเสร็จภายในเดือนมิ.ย.นี้ จะเข้าสู่ช่วงก่อสร้าง คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 ปี ถึง 3 ปีครึ่ง

แม้ต้นทุนก่อสร้างจะสูงกว่าเมืองไทย 'เท่าตัว' แต่อัตรารับซื้อไฟฟ้าที่สูงกว่า บวกกับต้นทุนการเงินที่ต่ำกว่าเมืองไทย ส่งผลให้ผลตอบแทนจากโครงการ ทำได้เท่าการลงทุนใน เมืองไทย (ดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาวในประเทศญี่ปุ่น 2% บวกลบ ส่วนเมืองไทย TSE ได้ดอกเบี้ยไม่ถึง 5%)

เธอ ย้ำว่า เมื่อปีนี้ต่อเนื่องปีหน้า บริษัทมีแผนใช้เงินลงทุนเฉลี่ย 6,000-7,000 ล้านบาท ฉะนั้นต้องวางแผนการหาเงินให้รอบคอบ ซึ่งการขอมติขายหุ้นเพิ่มทุนให้นักลงทุนเฉพาะเจาะจง หรือ PP หรือขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิม หรือ RO ถือเป็นทางหาเงินที่ดีทางหนึ่ง

'ใจจริงอยากขายหุ้นเพิ่มทุนให้เหล่ากองทุนมากกว่า แม้วันนี้บางกองทุนจะยังไม่สนใจหุ้น TSE เพราะเรายังซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ แต่ปลายปีนี้มีแผนจะย้ายไป SET'

ที่ผ่านมามีเหล่ากองทุนหลายรายสนใจซื้อหุ้น TSE แต่ติดปัญหาตรงที่ไม่มีหุ้นจะขาย เพราะสภาพคล่องหุ้นต่ำ แต่นับตั้งแต่ผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง เริ่มเห็นกองทุนในประเทศ บางแห่งทยอยเก็บหุ้น TSE โดยเฉพาะกองทุนบัวหลวง ปัจจุบันถือหุ้น TSE แล้วเกือบ 5%

จากการสำรวจพบ กองทุนเปิด บัวหลวงหุ้นระยะยาว ถือหุ้น 1.26% กองทุนเปิด บัวหลวงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเลี้ยงชีพ 1.26% และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งจดทะเบียนแล้ว โดย บลจ.บัวหลวง จำกัด 0.70% (ตัวเลขวันปิดสมุดทะเบียน ณ วันที่ 2 พ.ค.2560)

เมื่อถามถึงเป้าหมายรายได้รวม เธอ ยอมรับว่า ปีนี้คงไม่แตกต่างจากปีก่อน เพราะรายได้จากโปรเจคญี่ปุ่นอย่างมากคงเข้ามาแค่ 10 เมกะวัตต์ แต่ปลายปี 2561 น่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจนมากขึ้น เพราะกลางปีหน้าจะรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าชีวมวลทั้งสามแห่ง และจะชัดขึ้นอีกสเต็ปในปี 2562 เมื่อโรงไฟฟ้าในญี่ปุ่นอีก 17 เมกะวัตต์ ก่อสร้างแล้วเสร็จ

ส่วนตัวมั่นใจว่า ระหว่างทางอาจมีกำลังการผลิตใหม่ๆเข้ามาเติม ซึ่งดีลลักษณะที่สามารถ COD ได้เลยมีเข้ามาตลอด ใจจริงอยากเติมงานใหม่ๆในญี่ปุ่นปีละ 40-50 เมกะวัตต์ นักลงทุนจะได้ไม่ต้องรอเก็บเกี่ยวผลกำไรยาวนานเกินไป

'เรื่องหนึ่งที่ต้องการตอกย้ำความมั่นใจ คือ พลังงานทดแทน ถือเป็นกิจการที่สร้างความ มั่นคง ยิ่งกลุ่มเออีซีเปิดเรื่องพลังงานทดแทนมากขึ้น และแบตเตอร์รี่ที่ใช้เก็บพลังงานแสงอาทิตย์มีราคาถูกลง ธุรกิจยิ่งเจริญเติบโต'

'แคทลีน' ทิ้งท้ายว่า ตอนนี้อยู่ระหว่างศึกษาการลงทุนหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นพลังงานขยะ พลังงานลม หรือพลังงานไฮโดรเจน ในกลุ่มประเทศเออีซี จากผลสำรวจพบว่า เราสามารถลงทุนพลังงานไฮโดรเจน ประเทศสปป.ลาว ได้ ขณะที่กัมพูชาก็สามารถทำพลังงานแดดได้เช่นกัน แต่คงต้องศึกษาเรื่องการเมืองและนโยบายการลงทุนให้รอบคอบ ส่วนเรื่องการรับติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปคงไม่ทำ เพราะมาร์จิ้นต่ำเกินไป

'เราเป็นตัวจริงเสียงจริงเรื่องการลงทุนพลังงานแดดในประเทศญี่ปุ่น สะท้อนผ่านกำลังการผลิตในมือวันนี้ที่มีมากกว่าผู้ประกอบการรายอื่นที่พยายามจะเข้าไปลงทุน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ' นายหญิง ยืนยัน