‘แมงกะพรุน’ความต่างในสกินแคร์

‘แมงกะพรุน’ความต่างในสกินแคร์

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกับผู้ผลิตเครื่องสำอางแบรนด์เจลลีโนสกัดคอลลาเจนจากแมงกะพรุนใช้เป็นสารประกอบในผลิตภัณฑ์สกินแคร์

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกับผู้ผลิตเครื่องสำอางแบรนด์เจลลีโน (Jellino) สกัดคอลลาเจนจากแมงกะพรุนใช้เป็นสารประกอบในผลิตภัณฑ์สกินแคร์ เสริมความเชื่อมั่นด้านความประสิทธิภาพและความปลอดภัยด้วยผลการทดสอบในแล็บ หวังสร้างความแตกต่างในตลาดทั้งแก้ปัญหาแมงกะพรุนราคาตกได้ด้วย


“จากปัญหาแมงกะพรุนราคาตกในช่วงล้นตลาดจากกิโลกรัมละ 90 บาท ลดลง 10% ทำให้ขาดทุนเฉลี่ย 1 แสนบาทจากการจำหน่ายแมงกะพรุน 1 ตู้คอนเทนเนอร์ จึงเกิดแนวคิดที่จะนำมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการดึงจุดเด่นของแมงกะพรุนมาใช้ประโยชน์ ซึ่งก็คือ คอลลาเจน วัตถุดิบมาแรงในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง จึงนำโจทย์นี้เข้าหรือนักวิจัย วว.” กฤษฎ์พัฐ พันธุ์ธนชาติ กรรมการผู้จัดการบริษัท อติญา มาร์เก็ตติ้ง จำกัด กล่าวถึงที่มาของแนวคิด


คอลลาเจนจากทะเล


อุบล ฤกษ์อ่ำ นักวิจัยจากศูนย์ความเชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร วว. กล่าวว่า จากการสกัดและพิสูจน์โครงสร้างของตัวแมงกะพรุน ประกอบด้วย เจลาติน คอลลาเจนและโปรตีนที่รับประทานได้ และจากผลการทดสอบสารสกัดคอลลาเจนจากแมงกะพรุนลอดช่อง พบมีองค์ประกอบของกรดอะมิโนแอซิดหลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย


เมื่อนำสารสกัดคอลลาเจนที่ได้ไปทำการทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพ พบว่ามีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส กระตุ้นการสร้างคอลลาเจนใต้ผิวหนัง และสารสกัดแมงกะพรุนที่เลือกนี้ไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์ ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนัง และไม่มีความเป็นพิษเมื่อนำไปทำการทดสอบในสัตว์ทดลองโดยการกิน จากนั้นได้นำสารสกัดที่ได้มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ทั้ง ซรั่ม โลชั่น โฟมและเจลล้างหน้า
“งานวิจัยพบว่า แมงกะพรุนมีคอลลาเจนสูงซึ่งนิยมใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง อาหารและอาหารเสริม เริ่มแรกได้หารือที่จะนำมาป่นเป็นผงเพื่อทำเป็นเครื่องดื่มคอลลาเจน แต่จากการศึกษาตลาดของผู้ประกอบการพบว่า มีการแข่งขันสูง จึงเปลี่ยนมาเล่นในตลาดเครื่องสำอาง เราใช้เวลาศึกษาวิจัย 1 ปีจึงได้เป็นเซรั่มสกัดแมงกะพรุน ขณะนี้กำลังเริ่มทดลองทำตลาด” นักวิจัยกล่าว

วิทย์สร้างความเชื่อมั่น


“ผลการทดลองใช้เซรั่มแมงกะพรุนในอาสาสมัครที่เป็นฝ้าและริ้วรอยบนใบหน้า ทำให้เกิดการบอกต่อในกลุ่มผู้บริโภค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงอายุ 30 ปีขึ้นไปที่เริ่มมีความกังวลริ้วรอย ต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ลดริ้วรอยบนใบหน้าจากฝ้า” กฤษฎ์พัฐ กล่าว
สำหรับแนวทางการทำตลาดพยายามสื่อสารกลุ่มผู้บริโภคผ่านโซเชียลมีเดียและกลยุทธ์การบอกต่อในกลุ่มผู้ใช้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าใหม่ที่สนใจ โดยนำเสนอถึงผลงานวิจัยที่เข้าสนับสนุน รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องของความปลอดภัยจากการทดสอบของ วว. ซึ่งถือเป็นจุดแข็งที่สร้างความมั่นใจแก่กลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการใช้วัตถุดิบจากเมืองไทยคือ แมงกะพรุนลอดช่องและแมงกะพรุนหนัง ซึ่งรับประทานเป็นอาหารได้

ปัจจุบันช่องทางจำหน่ายหลักจะเข้าไปตามคลินิกและร้านขายยา โดยผ่านตัวแทนจำหน่ายที่มีเครือข่ายในการกระจายสินค้า รวมถึงการขายผ่านออนไลน์ ในอนาคตมีแผนที่จะส่งขายประเทศเพื่อนบ้านที่มีแนวโน้มเศรษฐกิจโตต่อเนื่อง รวมทั้งประเทศจีน ซึ่งคุ้นเคยกับการบริโภคแมงกะพรุน อีกทั้งจะขยายไลน์ผลิตภัณฑ์แดดที่มีส่วนผสมของคอลลาเจนแมงกะพรุนและไข่มุกจากสตูล มาเป็นจุดขายที่สร้างความแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในตลาด


ฉะนั้น การนำเสนอผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มาจากคอลลาเจนแมงกะพรุน จึงไม่ใช่เรื่องยากเมื่อเทียบกับประเทศแถบยุโรปและสหรัฐที่อาจมีความกังวลในเรื่องของพิษแมงกะพรุนในอนาคต
“สินค้านวัตกรรมต้องใช้เงินและเวลาในการพัฒนากว่าจะได้คุณสมบัติที่ตอบโจทย์ของกลุ่มเป้าหมายและมีความปลอดภัย ยกตัวอย่าง เซรั่มจากแมงกะพรุนใช้เวลา 3 ปีแต่ก็คุ้มค่าเพราะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและมีงานวิจัยมารองรับ ทำให้ยากต่อการลอกเลียนแบบ”กฤษฎ์พัฐ กล่าว