ยกระดับ‘สังคมสูงวัย-เกษตร-ท่องเที่ยว’ เคลื่อนไทยสู่ดิจิทัล

ยกระดับ‘สังคมสูงวัย-เกษตร-ท่องเที่ยว’ เคลื่อนไทยสู่ดิจิทัล

ความก้าวหน้าและการพร้อมยอมรับในเทคโนโลยี จะช่วยสนับสนุนไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางดิจิทัล เพื่อนวัตกรรมระดับภูมิภาค

‘วิทย์ฯ-ดีอี’ ผนึกกำลัง ‘หัวเว่ย’ ทำรายงานเชิงลึกการพัฒนาเข้าสู่เศรษฐกิจฐานดิจิทัลของไทย หนุน “ไทยแลนด์ 4.0” มุ่งพัฒนา 3 ภาคส่วนสำคัญ สังคมสูงวัย เกษตร ท่องเที่ยว

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประสานความร่วมมือกับบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด พัฒนาโรดแมพ (Roadmap) ด้านดิจิทัลเพื่อช่วยขับเคลื่อน ประเทศไทยก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เร่งผลักดันวิสัยทัศน์ “ไทยแลนด์ 4.0” เป็นรูปธรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายงานเชิงลึกการพัฒนาเข้าสู่เศรษฐกิจฐานดิจิทัลของประเทศไทย (Thailand Digitalization Whitepaper) เกิดจากการพัฒนาเนื้อหาร่วมกันกับบริษัท โรแลนด์ เบอร์เกอร์ (Roland Berger) ในหัวข้อเรื่อง “เจาะลึกเรื่องดิจิทัล ในอุตสาหกรรมไทย : ดิจิทัลโรดแมพเพื่อสังคมสูงอายุ (Aging Society) ภาคการเกษตร (Agriculture) และภาค การท่องเที่ยว (Tourism)” เป็นผลสืบเนื่องจากจากการที่คณะผู้บริหารอาวุโส บริษัท หัวเว่ย เข้าเยี่ยมและ หารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2559 ซึ่งได้ระบุว่า ภาคสังคมผู้สูงวัย ภาคการเกษตร และภาคการท่องเที่ยว คือ 3 ภาคส่วนสำคัญที่ถูกยกให้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งมีความสำคัญระดับต้นๆ ของประเทศ

รายงานฉบับนี้พัฒนาขึ้นจากการตระหนักว่า เทคโนโลยีดิจิทัลสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันและพัฒนาสังคม ลดความเหลื่อมล้ำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข ทั้งนี้ไทย ควรตื่นตัวในการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา และนำโซลูชั่นด้านดิจิทัลมาช่วยให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ และสังคมอย่างมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน หลุดพ้นจากกับดักของประเทศที่มีรายได้ปานกลางและพัฒนาประเทศไทยไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง

ยกระดับ3ส่วนขับเคลื่อน4ปัจจัย
นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังเป็นการให้ข้อเสนอแนะแนวทางที่ไทย จะสามารถยกระดับเทคโนโลยีดิจิทัล ให้เกิดผลดีที่สุดในการรับมือกับประเด็นที่สำคัญต่อประเทศอย่างมาก 3 ประการ คือ 1.การบริหารจัดการสังคม สูงอายุ 2.การเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร และ 3.การเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทั้งนี้ได้นำเสนอแนวทางพัฒนากว่า 39 แนวทางครอบคลุม 3 ส่วนนี้ รวมถึงอีก 4 ปัจจัย ขับเคลื่อนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานด้านบรอดแบนด์ โครงสร้างพื้นฐานด้านคลาวด์ นวัตกรรม และทุนมนุษย์

โรดแมพ หรือรายงานเชิงลึกฯ ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้เกิดการจัดลำดับความสำคัญแผนการดำเนินงาน ตั้งแต่วางแผนแม่บท และโครงการแนวคิดริเริ่มในระดับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การทำรายงานเชิงลึกฯ นี้ผ่านการประชุมหารือมามากกว่า 120 ครั้ง โดยผู้เชี่ยวชาญและผู้เกี่ยวข้องโดยตรงทั้งจากภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคเอกชน และข้อมูลที่ได้จากกระบวนการกลั่นกรองความคิดจากที่ประชุม นอกจากนั้น ยังได้รวบรวมข้อเสนอแนะต่างๆ ไว้ในรายงานฉบับนี้ด้วย

นายวิคเตอร์ จาง ประธานบริหาร ฝ่ายสื่อสารรัฐกิจ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ จํากัด กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุคดิจิทัลผ่านทั้ง 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคสังคมสูงอายุ ภาคเกษตร และภาคการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นรากฐานของประเทศไทยนั้น จะนำไปสู่ความท้าทายครั้งสำคัญและการปรับปรุงให้เกิดการพัฒนาแบบยั่งยืนในระยะยาว

“ความก้าวหน้าและการพร้อมยอมรับในเทคโนโลยี จะช่วยสนับสนุนไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางดิจิทัล เพื่อนวัตกรรมระดับภูมิภาค โดยการรวมตัวของผู้มีความสามารถด้านดิจิทัลระดับโลก เพื่อเปิดตัวผลิตภัณฑ์ และ บริการด้านดิจิทัลใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง” นายจาง กล่าว

ด้านนางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ริเริ่มแผนงานและโครงการมากมายเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้มีการยกระดับขีดความสามารถ ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศ เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และพัฒนาคุณภาพชีวิต ประชาชน เช่น การให้การสนับสนุนกลุ่มสตาร์ทอัพ การพัฒนาหลักสูตรการศึกษา และบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี และการให้การสนับสนุน ด้านการเงินกับกลุ่มสตาร์ทอัพและบริษัทด้านเทคโนโลยีในการโครงการ พัฒนานวัตกรรมต่างๆ เป็นต้น ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเชื่อมโยงหรือเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล

ดีอีย้ำพัฒนาคนดิจิทัล5แสนคน
นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึง แผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเชิงบูรณาการ และแผนความร่วมมือระดับชาติ เรื่อง “ดิจิทัลไทยแลนด์” ว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ แสดงถึงก้าวสำคัญการพัฒนาระยะที่สอง คือ การสร้างความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงทุกคน ทั้งภาครัฐและเอกชนในการก้าวสู่สังคมดิจิทัล เพื่อนำมาใช้เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้ประเทศ

"การเตรียมความพร้อมด้านกำลังคนดิจิทัล ทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณให้พร้อมต่อเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์หลัก โดยกระทรวงดิจิทัลฯ มีแผนพัฒนากำลังคนดิจิทัลทุกระดับจำนวน 5 แสนคน ใน 5 ปี เพื่อรองรับ การเปลี่ยนแปลงนี้” นายพิเชฐ กล่าว

นายจาง กล่าวเสริมด้วยว่า หัวเว่ยยังได้ร่วมลงนามข้อตกลง (เอ็มโอยู) กับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (เอ็นไอเอ) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) รายงานเชิงลึกฉบับนี้ถือเป็นหนึ่งในข้อตกลงของความร่วมมือครั้งนี้ด้วย ซึ่งหัวเว่ยจะต้องพัฒนา และส่งมอบให้รัฐบาล เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ภายใต้วิสัยทัศน์ไทยแลนด์ 4.0