แจกเงิน 'ช่วยคนจน' รายได้ต่ำ 3 หมื่น

แจกเงิน 'ช่วยคนจน' รายได้ต่ำ 3 หมื่น

"แจกเงิน" ช่วยคนจนรายได้ต่ำ3 หมื่น คลังเริ่มจ่ายผ่านพร้อมเพย์ 1ต.ค.นี้ ติดตั้งเครื่องรูดบัตรต่ำเป้า เหตุร้านค้าหวั่นถูกสรรพากรตรวจสอบภาษี  

คลังสรุปใช้วิธีแจกเงินคนจนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนที่ 3 หมื่นบาทต่อปี เริ่มจ่ายผ่านระบบพร้อมเพย์วันที่ 1 ต.ค.นี้ แต่มีเงื่อนไขที่ต้องพัฒนาตัวเองให้มีรายได้ให้มากขึ้น ส่วนวงเงินที่ใช้ขึ้นอยู่กับจำนวนคนจน ซึ่งต้องสามารถแสดงรายได้ที่ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปีจริง

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ข้อสรุปการช่วยเหลือกลุ่มคนจนที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปีที่มาลงทะเบียนรับสวัสดิการรัฐเพิ่มเติมในปี 2560 โดยจะใช้วิธีการเติมเงินเพื่อให้รายได้เกินกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี แต่มีเงื่อนไขที่ผู้ที่รับการเติมเงินดังกล่าว จะต้องพัฒนาตนเองให้สามารถหารายได้ได้มากขึ้น

ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวจะเหมือนกับแนวทางที่กระทรวงการคลังได้เคยศึกษาไว้ คือ แนวทางNegative income tax(NIT)ซึ่งเป็นแนวทางการคืนเงินภาษีให้แก่ผู้มีรายได้น้อย หรือ เรียกว่า ภาษีโอนคนขยัน ซึ่งมีเงื่อนไขที่ผู้รับจะต้องพัฒนาตนเองในการสร้างรายได้

“เรามีความคิดที่จะทำให้แนวทางการเติมเงินคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนนี้ เป็นแนวทางที่รัฐบาลควรดำเนินการอย่างถาวร โดยอาจจะออกมาเป็นกฎกระทรวงหรือกฎหมายรองรับ เมื่อเราทำเช่นนี้ ประเทศเราก็จะมีประชากรที่พ้นเส้นความยากจน”

นายอภิศักดิ์ยกตัวอย่าง กรณีเกษตรที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน จะต้องมีแนวทางพัฒนาความรู้ด้านการเกษตร ขณะเดียวกัน จะต้องแสดงรายได้ให้เห็นว่า มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนจริงๆ โดยรัฐบาลจะชดเชยส่วนต่างรายได้ให้ ส่วนจะเป็นจำนวนเท่าใด หรือ ใช้งบประมาณเท่าใดนั้น จะต้องขึ้นอยู่กับงบประมาณและจำนวนผู้มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนจริงๆ

“วงเงินที่แต่ละคนจะได้ จะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับรายได้ที่แต่ละคนมี ส่วนวิธีการจ่ายนั้น ถ้าเขาได้รับเงินเติม 1 หมื่นบาทต่อปี เราก็อาจเฉลี่ยและทยอยจ่ายให้ในแต่ละเดือน เพื่อให้เขามีรายได้ต่อการดำรงชีพในแต่ละเดือน และ ป้องกันการใช้หมดภายในเวลาอันรวดเร็ว”

หากได้ข้อสรุปทั้งในเรื่องของวงเงินและจำนวนผู้ที่ได้รับสิทธิ์โดยเร็ว เราจะสามารถเติมเงินให้ผู้มีรายได้น้อยดังกล่าวได้ภายในวันที่ 1 ตุลาคมนี้โดยการเติมเงินดังกล่าวจะดำเนินการผ่านระบบพร้อมเพย์ที่รัฐบาลดำเนินโครงการ

สำหรับความคืบหน้าโครงการอี-เพย์เมนท์นั้น ขณะนี้ ร้านค้าได้ทยอยติดตั้งเครื่องรับชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์แล้วประมาณ 6 หมื่นร้านค้า ถือว่า อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเป้าหมาย โดยทั้งโครงการหรือราวปีหน้าจะต้องติดตั้งให้ได้กว่า 5 แสนเครื่องทั่วประเทศ ซึ่งได้รับรายงานว่า เหตุที่ร้านค้าไม่ยอมติดตั้ง เพราะเห็นว่ายังไม่จำเป็น และ บางรายกังวลว่า กรมสรรพากรจะเข้าไปตรวจสอบภาษี ซึ่งสรรพากรก็แจ้งว่า ในรายที่ไม่ติดตั้งเครื่องอีดีซีนั้น จะเป็นรายที่กรมจะเข้าตรวจสอบภาษีมากกว่า

“การติดตั้งเครื่องอีดีซียังไม่ถึงเป้า พูดกันว่าชวนร้านค้าแล้วไม่ยอมเข้ามา เพราะเห็นว่า ยังไม่จำเป็น แต่เราก็จะรอดูหลังจากที่เราได้ประกาศรางวัลสำหรับผู้ที่ใช้จ่ายผ่านเครื่องที่มีเงินรางวัลสูงถึง 1 ล้านบาท ก็เชื่อว่า น่าจะมีร้านค้าเข้ามาติดตั้งมากขึ้น แต่ถึงจุดแล้ว สังคมก็จะเปลี่ยนแปลงให้เอง เพราะเมื่อภาครัฐเปลี่ยน ประชาชนก็จะเปลี่ยนตาม จะบอกว่า อยู่อย่างนี้ คนเดียวไม่ได้”