'กสทช.'เอ็มโอยู 'รัสเซีย'ดัน '3ยุทธศาสตร์โทรคม'รับยุคดิจิทัล

'กสทช.'เอ็มโอยู 'รัสเซีย'ดัน '3ยุทธศาสตร์โทรคม'รับยุคดิจิทัล

กสทช.เอ็มโอยูรัสเซียวางกรอบความร่วมมือ 3 ยุทธศาสตร์ หวังพัฒนากิจการโทรคมนาคม-กระจายเสียงภาครัฐร่วมกัน พร้อมหนุนภาคการท่องเที่ยวลดบริการโรมมิ่ง

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า จากการจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคมของสำนักงานกสทช.จำนวน 170 ล้านเลขหมายในปีที่ผ่านมา ทำให้มีผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือราว 120 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็นผู้ใช้งานในระบบ 3จี 70% , 4จี 25% และอีก 5% เป็นผู้ใช้งานในระบบ 2จี ที่คงเหลือ 1 ล้านเลขหมาย และคาดว่าจะยุติการให้บริการเร็วๆ นี้ พบว่า อัตราผู้ใช้งาน 3จี และ 4จี ที่เพิ่มขึ้นทำให้มีความนิยมการใช้บริการชำระเงินผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดการทุจริตและเกิดคดีผิดกฎหมายเพิ่ม มีเรื่องร้องเรียนมายังสำนักงาน กสทช.

ด้วยเหตุนี้ สำนักงาน กสทช.จึงเดินทางไปยัง กรุงมอสโคว สหพันธรัฐรัสเซีย ตามคำเชิญของ นายนิโคลัย นิกิโฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโทรคมนาคม และการสื่อสารมวลชน เพื่อลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ในกิจการโทรคมนาคมของทั้ง 2 ประเทศ หลังจากที่เมื่อหลายเดือนก่อน กสทช.ได้มีการหารือถึงความร่วมมือในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม กับ นายอเล็กซี่ โวลิน รัฐมนตรีช่วยว่าการของสหพันธรัฐรัสเซีย

สานความร่วมมือโทรคม-ดิจิทัล
ทั้งนี้ กรอบความร่วมมือดังกล่าวรัฐบาลรัสเซียและไทยจะร่วมมือกันใน 3 ด้าน คือ การเรียนรู้ความรู้เชิงกลยุทธ์ เพื่อความปลอดภัยในโลกไซเบอร์, การอำนวยความสะดวกการลดค่าบริการข้ามแดนอัตโนมัติระหว่างประเทศทั้งสองประเทศ และความร่วมมือด้านเนื้อหาข้อมูลของภาคกระจายเสียง เป้าหมายของ กสทช. คือ ต้องการสร้างคนที่เดินหน้าด้วยดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ เพราะปัจจุบันการทำธุรกิจออนไลน์อีคอมเมิร์ซได้เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมาก แต่การเตรียมรับมือเรื่องภัยคุกคามด้านข้อมูล และความเป็นส่วนบุคคลยังอาจมีช่องโหว่

การหารือกับรัสเซียครั้งนี้ เป้าหมายจะนำมาพัฒนาร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย และหน่วยงานรักษาความมั่นคงแห่งชาติ อันจะเป็นประโยชน์ในการดำเนินการมาตรการควบคุมการโอนเงินผ่านเครือข่ายโทรคมนาคมมากขึ้น รวมทั้งมาตรการด้านการป้องกันการฉ้อโกงและผิดกฎหมาย

นอกจากนี้ การหารือร่วมกับกับรัสเซีย จะพิจารณาเรื่องความร่วมมือการลดค่าธรรมเนียมบริการโรมมิ่งระหว่างประเทศสำหรับทั้งข้อมูลและเสียง คาดว่า จะเป็นประโยชน์ต่อภาคการท่องเที่ยวทั้งสองประเทศ โดยแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวรัสเซียมาไทยจำนวน 3 ล้านคน และนักท่องเที่ยวไทยไปรัสเซีย 3 แสนราย

ดังนั้น จึงมีแนวคิดพัฒนาความร่วมมือต่อไป ซึ่งอาจมีการออกซิมการ์ดโดยเฉพาะระหว่างกันขึ้น และยังมีแนวโน้มพัฒนาความร่วมมือด้านการพัฒนาเนื้อหา และโครงสร้างพื้นฐานสำหรับอุตสาหกรรมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล ที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมโทรทัศน์ในประเทศไทยได้ในระยะยาว

ขณะที่ นายนิโคลัย นิกิโฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโทรคมนาคมและการสื่อสารมวลชน กล่าวว่า กระทรวงโทรคมนาคมและการสื่อสารมวลชน สหพันธรัฐรัสเซีย เป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบงานด้านโทรคมนาคม สื่อ เทคโนโลยีสารสนเทศ และบริการด้านไปรษณีย์ โดยจะพัฒนาและดำเนินงานตามแนวนโยบายจากทางภาครัฐ และกำกับดูแลในด้านต่างๆ เช่น จัดสรรและกำกับดูแลคลื่นความถี่ กำกับดูแลสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด รวมถึงการพัฒนาอินเทอร์เน็ต โทรทัศน์ และวิทยุ รวมถึงเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการให้บริการโทรคมนาคม และอินเทอร์เน็ตเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและสื่อต่างๆ ได้

ไอทีรัสเซียโตกว่าจีดีพี3เท่า
ในช่วงปี 2555-2561กระทรวงฯ มีเป้าหมายดำเนินการให้สำเร็จตามแผน ได้แก่ 1.ด้านโทรคมนาคม ให้มีการเข้าถึงการใช้บริการบรอดแบรนด์มากกว่า 90% ประชาชนสามารถเข้าถึงการให้บริการ 4จี และคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้บริการอินเตอร์เน็ตของเด็ก

2.ด้านไปรษณีย์ ทำให้การขนส่งทางไปรษณีย์ในชุมชนมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น ส่งภายใน 24 ชั่วโมงสำหรับพื้นที่ชุมชนและใกล้เคียง และระหว่างเมืองภายใน 3 วัน มีจุดให้บริการเกี่ยวกับภาครัฐและการให้บริการทางด้านการเงินในที่ทำการไปรษณีย์จำนวน 42,000 แห่งทั่วสหพันธรัฐรัสเซีย

3.ด้านสื่อ มีฟรีทีวี จำนวน 20 ช่องสำหรับประชากรทั้งประเทศ มีเนื้อหาที่เหมาะสมและเข้าถึงง่าย และบริการโสตทัศน์ดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้

4.ข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รัสเซียมีการลงทุนในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมากถึง 1.2 พันล้านดอลลาร์ และในส่วนของภาคอุตสาหกรรมไอที นั้น มีอัตราการเจริญเติบโตมากกว่าจีดีพีของรัสเซียมากถึง 3 เท่า

5. การให้บริการภาครัฐโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ประชากรรัสเซียใช้บริการของภาครัฐจากทางอิเล็กทรอนิกส์มากถึง 70% และรัฐจัดให้มีการให้บริการทางภาครัฐทั้งหมดผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์