เทคโนฯเติมเชื่อมั่น‘ทุเรียนไทย’

เทคโนฯเติมเชื่อมั่น‘ทุเรียนไทย’

เครื่องตรวจวัดความสุกของทุเรียนด้วยเทคโนโลยีอินฟราเรด มีค่าความแม่นยำ 95% ไม่สร้างความเสียหายให้ตัวอย่างผลไม้ ไม่มีการใช้สารเคมี ทั้งยังสะดวกและรวดเร็ว ผลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตอบโจทย์ผู้ประกอบการส่งออกในตลาดพรีเมียม

“สิ่งประดิษฐ์นี้พร้อมส่งต่อเชิงพาณิชย์ในราคาหลักแสน ซึ่งค่อนข้างสูงตามต้นทุนทางเทคโนโลยี แต่ก็ให้ความคุ้มค่าแก่ผู้ประกอบการ ในเร็วๆ นี้ยังมีแผนที่จะพัฒนาเครื่องตรวจวัดให้มีขนาดเล็กลงใกล้เคียงกับโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้การใช้งานสะดวกขึ้น สามารถนำไปใช้ตรวจวัดในพื้นที่สวนได้ง่ายยิ่งขึ้นอีกด้วย” ผศ.รณฤทธิ์ ฤทธิรณ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน กล่าว

เพิ่มคุณภาพสู่ตลาดโลก

ทุเรียนไทยผ่านการพัฒนามายาวนาน มีคุณภาพและความอร่อยของแต่ละพันธุ์เป็นเอกลักษณ์และมีความจำเพาะเหนือกว่าผลผลิตจากประเทศอื่นๆ ส่งผลให้ตลาดต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น จีนและอื่นๆ มีความต้องการมากกว่าผลผลิตที่ออกสู่ตลาด ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องคุณภาพของผลผลิตส่งออก และเกิดปัญหาภาพลักษณ์สินค้าเกษตรที่กระทบต่อชื่อเสียงของประเทศ

ศ.จริงแท้ ศิริพานิช อาจารย์ประจำภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร กำแพงแสน กล่าวในการเสวนา เรื่อง คุณภาพทุเรียนไทย จะไปถึง 4.0 หรืออยู่ที่ 0.4 ว่า ความรู้ด้านการเก็บรักษาและส่งเสริมคุณภาพทุเรียนเพื่อการส่งออกนั้นมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ทั้งการรวบรวมพันธุกรรม การคัดเลือกพันธุ์ การปรับปรุงและขยายพันธุ์ รวมถึงการจัดการสวน อีกทั้งภาครัฐสนับสนุนในการแพร่ความรู้ไปในกลุ่มเกษตรกรชาวสวนผลไม้

ขณะที่เทคโนโลยีการตรวจวิเคราะห์คุณภาพทุเรียนยังมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็น เครื่องมือต่างๆ ที่วิเคราะห์ได้เพียงค่าเดียว เช่น ค่าทางเคมีหรือกายภาพ แต่ผลไม้มีตัวแปรมากกว่านั้น, เทคโนโลยีการตรวจดูเฉพาะความสัมพันธ์ขั้นที่ 2 และวิธีการตรวจที่เน้นหลังการเก็บเกี่ยว แต่ไม่ได้ตรวจเมื่อจะรับประทาน ทำให้ไม่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค

นักวิจัย ม.เกษตรฯ จึงพัฒนาวิธีการต่างๆ ที่หลากหลายเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งรวมถึงเครื่องตรวจวัดความสุกของทุเรียนด้วยเทคโนโลยีอินฟราเรดย่านใกล้ (NIR) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการตรวจสอบโดยไม่ทำลาย การันตีด้วยรางวัลดีเด่นการประกวดนวัตกรรมมุ่งเป้าปี 2556 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ลดไซส์เทคโนฯส่งเข้าสวน

“วิธีการตรวจดั้งเดิม นอกจากการเคาะฟังเสียงแล้ว ยังมีวิธีวิเคราะห์ที่ทำลายตัวอย่าง มีการบีบ คั้น เค้น ใช้เวลาหลายวันในการหาค่าเคมีจึงจะได้ค่าคุณภาพของทุเรียนออกมา แต่เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ง่าย แม่นยำและสะดวกมากขึ้นโดยที่ไม่ทำลายตัวอย่าง จึงประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอินฟราเรดซึ่งเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า แล้วหาค่าองค์ประกอบภายในทุเรียนที่ต้องการตรวจสอบ อาทิ น้ำตาล แป้งและน้ำหนักเนื้อแห้ง ที่สามารถดูดกลืนพลังงานแสงอินฟราเรดย่านใกล้ในตำแหน่งความยาวคลื่นเฉพาะ มาสร้างสมการเทียบมาตรฐาน” ผศ.รณฤทธิ์ กล่าวและว่า

“ปัจจุบัน เราทำเสร็จพร้อมส่งต่อเชิงพาณิชย์ โดยเชื่อว่า จะเป็นอุปกรณ์ที่เหมาะสำหรับผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนในตลาดพรีเมี่ยม ด้วยต้นทุนปัจจุบันอยู่หลักแสนบาท แต่จะมีความคุ้มค่าด้วยทำให้สามารถคัดแยกสินค้าคุณภาพสูง ขายได้ราคาที่สูงขึ้น สร้างมาตรฐานสินค้าการเกษตรของไทย และสร้างภาพลักษณ์และการยอมรับทุเรียนไทยในตลาดโลกอีกด้วย”

ทั้งนี้ นอกจากเทคโนโลยีอินฟราเรดของ ม.เกษตรฯแล้ว ก่อนหน้านี้ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้เปิดตัวเครื่องวัดความอ่อน- แก่ของทุเรียนด้วยคลื่นไมโครเวฟ (Durian Maturity Inspection) เป็นผลงานของทีมวิจัย นำโดย ผศ.ศรวัฒน์ ชิวปรีชา อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม และทีมนักศึกษา

เครื่องดังกล่าวจะช่วยคัดทุเรียนอ่อนออกจากคอนเทนเนอร์ส่งออก ลดปัญหาสินค้าถูกตีกลับทั้งคอนเทนเนอร์จากประเทศคู่ค้าเมื่อมีการสุ่มตรวจแล้วพบทุเรียนอ่อน วิธีการใช้งานง่าย คนทั่วไปที่ไม่ใช่ชาวสวนก็สามารถวัดและทราบได้ในเวลาไม่ถึง 1 วินาที โดยไม่ทำลายผลทุเรียน ทีมงานออกแบบให้แสดงผลผ่านหน้าจอทันที ว่า PASSED หมายถึง ทุเรียนแก่, หากแสดงผลว่า FAILED หมายถึง ทุเรียนอ่อน นอกจากนี้ในอนาคตอาจจะพัฒนาเป็นเทคโนโลยีก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตโดยติดตั้งและใช้งานที่ต้นทุเรียนเลยก็เป็นไปได้