โดนใจ&ไม่คาดฝัน เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ 70

โดนใจ&ไม่คาดฝัน เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ 70

ควันหลงงานประกาศผลรางวัลเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ 70 รายงานเอ็กซ์คลูซีฟโดย ‘กัลปพฤกษ์’ ผู้ไปอยู่เกาะขอบจอตั้งแต่ต้นจนจบงาน

ได้ทราบกันไปพร้อมๆ กันแล้วสำหรับผลการตัดสินรางวัลของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ 70 ประจำปี ค.ศ. 2017 นี้ ซึ่งประกาศกันไปเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา

คณะกรรมการตัดสินหลัก ประกอบไปด้วย ทีมผู้กำกับ Paolo Sorrentino, Park Chan-wook, Agnes Jaoui, Maren Ade ทีมนักแสดง Jessica Chastain, Will Smith, Fan Bingbing และผู้ประพันธ์ดนตรีประกอบ Gabriel Yared โดยมีผู้กำกับระดับตำนานจากสเปน Pedro Almodovar นั่งแท่นเป็นประธานกรรมการตัดสิน

สำหรับผลรางวัลก็มีทั้งที่โดนใจและที่ surprise เหล่าคนดูและนักวิจารณ์ โดยจะขอไล่เล่าวิเคราะห์ผลของแต่ละรางวัลว่าได้สร้างปรากฏการณ์หรือเสียงตอบรับอย่างไรบ้าง

  • รางวัล Un Certain Regard Award

เริ่มที่ รางวัล Un Certain Regard Award สำหรับหนังยอดเยี่ยมในการฉายสายรอง Un Certain Regard ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหนังอินดี้สเกลเล็กกว่าหนังสายประกวด ซึ่งจริงๆ ก็มีคณะกรรมการอีกชุดเป็นผู้ตัดสินโดยมีนักแสดงหญิง Uma Thurman เป็นประธาน และจากหนังที่เข้าร่วมประกวดในสายนี้จำนวน 18 เรื่อง เรื่องที่ได้รับรางวัลใหญ่ไปก็คือ A Man of Integrity ของผู้กำกับ Mohammad Rasoulof จากอิหร่าน

โดนใจ&ไม่คาดฝัน เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ 70

สำหรับ A Man of Integrity ก็เล่าเรื่องราวของครอบครัวที่ย้ายจากเมืองใหญ่มาอาศัยทำฟาร์มเลี้ยงปลาในท้องที่ชนบท แต่พวกเขากลับถูกอิทธิพลมืดจากธุรกิจท้องถิ่นที่อยู่ได้ด้วยเงินสินบนเจ้าหน้าที่บ้านเมือง กลายเป็นบททดสอบให้หัวหน้าครอบครัวต้องตัดสินใจว่าจะยอมตามน้ำหรือจะดื้อรั้นทำตามอุดมการณ์ต่อไปอย่างหัวเดียวกระเทียมลีบ หนังเล่าได้อย่างเรียบนิ่งแต่ก็สามารถสร้างแรงกดดันของเรื่องราวได้อย่างทรงพลัง ยิ่งได้แรงหนุนจากการแสดงอันแสนหม่นเครียดของนักแสดงนำ ก็ยิ่งทำให้ A Man of Integrity เป็นหนังที่สะท้อนความจริงในสังคมได้อย่างหดหู่และน่าเศร้ามากอีกเรื่อง

  • รางวัลกล้องทองคำ

รางวัลต่อมาคือ รางวัลกล้องทองคำ สำหรับผู้กำกับหน้าใหม่ยอดเยี่ยมซึ่งก็มีคณะกรรมการเฉพาะเช่นกัน นำโดยนักแสดงหญิงฝรั่งเศส Sandrine Kiberlain ซึ่งผลงานที่ได้รางวัลในปีนี้คือหนังฝรั่งเศสเรื่อง Jeune femme กำกับโดย Leonor Serraille จากสาย Un Certain Regard ซึ่งก็เป็นหนังตลกเน้นตัวละครตามสไตล์หนังฝรั่งเศส เล่าเรื่องราวของสาวสติเฟื่องผู้มีบุคลิกส่วนตัวที่ออกจะด๋าเด๋อเฟอะฟะแต่ต้องอาศัยในกรุงปารีสตามลำพังกับแมวของเธอ รวมทั้งต้องพยายามหางานทำ มองโลกในแง่ดี แถมต้องโกหกคนโน้นคนนี้เพื่อเอาตัวรอด

โดนใจ&ไม่คาดฝัน เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ 70

หนังโดดเด่นด้วยการแสดงของ Laetitia Dosch ที่สร้าง character ของตัวละครนำได้ชัดและลึกมาก และที่สำคัญคือพฤติกรรมและการแสดงออกทั้งหมดดูจริงไม่เห็นถึงความพยายามปรุงแต่งอะไรเลย ชวนให้เราอยากติดตามเรื่องราวชีวิตของเธอไปได้ แม้จะเป็นชีวิตที่ไม่มีความสำคัญกับใครนัก

  • รางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

มาถึงรางวัลจากคณะกรรมการชุดหลัก เริ่มกันที่ รางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ซึ่งก็ได้รับรางวัลไปพร้อมๆ กันถึงสองเรื่องนั่นคือ The Killing of a Sacred Deer ฝีมือการเขียนบทโดย Efthimis Filippou กับ Yorgos Lanthimos ซึ่งเคยร่วมกันเขียนเรื่อง The Lobster ที่เคยลงโรงฉายในบ้านเราไปแล้ว

และอีกเรื่องที่ได้รางวัลคือ You Were Never Really Here เขียนบทโดยผู้กำกับ Lynne Ramsay 

สำหรับเรื่องแรกก็เป็นรางวัลที่ไม่ชวนให้กังขาเพราะเนื้อหาที่เล่าเรื่องราวของศัลยแพทย์หนุ่มใหญ่ที่ถูกหนุ่มเนิร์ดมาทำตัวสนิทชิดใกล้โดยอ้างว่าอยากเป็นหมอเหมือนเขา ก่อนจะรู้ตัวว่า มันเป็นการเข้ามาเพื่อล้างแค้นด้วยการอาศัยเทคนิคการแพทย์ที่เขาได้ศึกษามาหรืออาจจะเป็นอำนาจคุณไสย ทำให้สมาชิกในครอบครัวของศัลยแพทย์ผู้นั้นขาพิการอวัยวะภายในปั่นป่วนจนไม่สามารถไปไหนมาไหนได้ ก็เปี่ยมไปด้วยชั้นเชิงในการสร้างความกำกวมชวนให้สงสัยว่าสาเหตุที่แท้จริงของเหตุการณ์ต่างๆ คืออะไร นับเป็นการเล่าเรื่องที่แปลกใหม่ไม่เคยเห็นจากหนังเรื่องไหนมาก่อน 

ในขณะที่ You Were Never Really Here ของ Lynne Ramsay ซึ่งเกี่ยวกับชีวิตของมือสังหารโหดผู้อาศัยอยู่ตามลำพังกับมารดาชรา และได้รับภารกิจสำคัญในการช่วยเหลือลูกสาวนักการเมืองใหญ่จากซ่องโสเภณีชั้นสูง ก็เป็นการดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเดียวกันของ Jonathan Ames กันแบบตรงๆ จนไม่เห็นชั้นเชิงในการเล่าในแบบฉบับของตัวเองสักเท่าไหร่ จนเป็นรางวัลที่ชวนให้สงสัยว่าควรตกเป็นของตัวบทหนังหรือของนิยายต้นฉบับ?

โดนใจ&ไม่คาดฝัน เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ 70

  • รางวัลนักแสดงนำยอดเยี่ยม

ส่วนรางวัลทางการแสดง Joaquin Phoenix ในบทนักฆ่าผู้โดดเดี่ยวจาก You Were Never Really Here ก็ได้รับ รางวัลนักแสดงชายยอดเยี่ยม ไปอย่างไม่น่าประหลาดใจอะไร เพราะเขาสามารถเล่นเป็นมือฆาตกรใจอำมหิตผู้มีความอ่อนโยนภายในออกมาได้อย่างลุ่มลึกและน่าเชื่อ

ไม่ต่างจาก รางวัลนักแสดงฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม ซึ่งตกเป็นของ Diane Kruger จากเรื่อง In the Fade กำกับโดย Fatih Akin ผู้รับบทเป็นมารดาที่ต้องต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมหลังสูญเสียสามีและลูกชายสุดที่รักไปจากการวางระเบิดในกรุงเบอร์ลินจากฝีมือของพวก Neo-Nazi ซึ่งก็ทำให้เธอทราบว่าสามีของเธอประกอบธุรกิจลับเกี่ยวกับยาเสพติดพร้อม ๆ กับอาชีพบังหน้า

น่าสังเกตว่าการแสดงที่ได้รับรางวัลในปีนี้ล้วนเป็นบทบาทเด่นที่ต้องแบกน้ำหนักของหนังเรื่องเอาไว้เพียงคนเดียวด้วยกันทั้งคู่

  • รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม

แต่รางวัลที่สร้างความประหลาดใจกันพอสมควรก็คือ รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม ซึ่งตกเป็นของผู้กำกับหญิง Sofia Coppola จากเรื่อง The Beguiled ซึ่ง re-make มาจากหนังชื่อเดียวกันของ Don Siegel อีกต่อหนึ่ง เพราะดูจากลีลาการกำกับของ Sofia Coppola ในการเล่าเรื่องของสมาชิกหญิงล้วนในโรงเรียนประจำสตรีที่ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมไปเมื่อนายทหารหนุ่มหล่อต้องมาขออาศัยรักษาบาดแผลที่ขาในช่วงสงครามกลางเมืองสหรัฐอเมริกา ก็ค่อนข้างเป็นการกำกับที่ดำเนินตามขนบแบบ old-school ทุกประการ ไม่ได้มีอะไรสร้างสรรค์นัก ในขณะที่หนังประกวดเรื่องอื่นๆ ในปีนี้หลายเรื่องกลับมีเทคนิควิธีในการกำกับที่อุดมไปด้วยลูกเล่นแพรวพราวมากกว่า

  • สามรางวัลแด่ 'หนัง' สุดเจ๋ง

และรางวัลที่มอบให้กับหนังทั้งเรื่องก็จะมีอยู่สามรางวัลด้วยกัน เริ่มจากรางวัลที่สามซึ่งก็คือ Jury Prize หรือ รางวัลขวัญใจคณะกรรมการ ในปีนี้ก็ตกเป็นของเรื่อง Loveless ของผู้กำกับ Andrey Zvyagintsev จากรัสเซีย เล่าเรื่องราวสุดหดหู่เกี่ยวกับคู่สามีภรรยาที่กำลังตัดสินใจหย่าร้างกันเนื่องจากต่างฝ่ายต่างหันไปมีคนใหม่ และตั้งใจจะขาย apartment โดยไม่ใส่ใจบุตรชายตัวน้อยของพวกเขากันเลย เมื่อความรักของทั้งคู่สิ้นสุดลง พยานรักอย่างบุตรชายรายนี้ก็คงจะไม่มีตัวตนหรือความหมายอะไรอีกต่อไป กระทั่งเขาได้หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยเท่านั้น สามีภรรยาคู่นี้จึงจะหันกลับมาเหลียวแลออกตามหา ซึ่งหนังก็ใช้เทคนิคภาพยนตร์อันสุดแสนแพรวพราวทั้งทางด้านงานภาพ เสียงประกอบ และการแสดง มาเขย่าอารมณ์ผู้ชมให้ดิ่งจมไปกับภาวะสิ้นหวังของตัวละครได้อย่างเข้มข้นและมีพลังเลยทีเดียว

120 Beats Per Minute เป็นหนังที่กวาดรางวัลเยอะที่สุดในเทศกาล

รางวัลรองชนะเลิศหรือที่เรียกกันว่ารางวัล Grand Prix ก็นับเป็นสีสันใหม่ๆ เพราะผลงานที่ได้คือหนังฝรั่งเศสเรื่อง 120 Beats Per Minute ของผู้กำกับ Robin Campillo เกี่ยวกับกลุ่มเกย์ Act-up Paris ที่ต้องต่อสู้เพื่อความเข้าใจอันจะนำไปสู่การป้องกันที่ถูกต้องของโรคเอดส์ที่แพร่ระบาดในช่วงต้นยุค 1990s ซึ่งถึงแม้ว่าพวกเขาจะมีอุดมการณ์เดียวกันแต่ก็ไม่วายที่จะมีวิธีคิดในการทำงานที่ต่างกันจนมักจะโต้เถียงกันเสมอ หนังนำเสนอภาพชีวิตของชายเกย์อย่างไม่ประนีประนอม เปิดเผยทั้งความคิดอ่าน อารมณ์ความรู้สึก ไปจนถึงฉากการร่วมรักที่เหมือนจะนำพาผู้ชมเข้าไปสัมผัสกับความเป็นพวกเขาอย่างจริงใจ เรียกร้องให้เข้าใจว่าพวกเขาก็มีอะไร ๆ ไม่ได้ต่างไปจากชายหญิงทั่วไปในสังคมเลย

หนังเรื่อง 120 Beats Per Minute นับว่าเป็นหนังที่กวาดรางวัลไปได้เยอะที่สุดในเทศกาล เพราะนอกจากรางวัล Grand Prix แล้ว หนังยังได้รางวัลจากสมาพันธ์นักวิจารณ์ FIPRESCI รางวัล Francois Chalais สำหรับงานที่สะท้อนความเป็นจริงดีเด่น และที่จะพลาดกันไม่ได้เลยคือรางวัล Queer Palm สำหรับหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ LGBT ยอดเยี่ยมจากคณะกรรมการอิสระอีกด้วย

และสำหรับ รางวัลปาล์มทองคำ ในปีนี้ก็เป็นของหนังตลกเสียดสีวงการศิลปะร่วมสมัยเรื่อง The Square ของผู้กำกับ Ruben Ostlund จากสวีเดน 

ความดีใจของ Ruben Ostlund เมื่อรู้ว่าได้ปาล์มทองคำ

ปิดท้ายกันด้วยรางวัลพิเศษในวาระครบรอบ 70 ปี เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ทางคณะกรรมการจึงลงมติมอบรางวัลพิเศษให้กับนักแสดงหญิง Nicole Kidman ซึ่งมีผลงานเข้าร่วมฉายเฉพาะในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปีนี้ถึงสามเรื่องด้วยกันคือ The Killing of a Sacred Deer ของ Yorgos Lanthimos, The Beguiled ของ Sofia Coppola และหนังพังค์อวกาศสุดฮิปเรื่อง How to Talk to Girls at Parties ของผู้กำกับ John Cameron Mitchell 

นับเป็นการประกาศรางวัลที่ค่อนข้างจะ surprise เพราะ Nicole Kidman เองก็ไม่ได้มาร่วมงาน แต่ส่งคลิปแสดงความขอบคุณมา ทว่าทุกคนก็ดูจะยินดีปรีดากับการสดุดีความสามารถในโอกาสพิเศษของเทศกาลให้กับนักแสดงหญิงในตำนานรายนี้