ชาวชัยภูมิร่วมใจฟื้นฟูพิธีฮด สรงน้ำก่อนให้พระเดินเหยียบ

ชาวชัยภูมิร่วมใจฟื้นฟูพิธีฮด สรงน้ำก่อนให้พระเดินเหยียบ

ชาวบ้านร่วมใจฟื้นฟูประเพณีพิธีฮด สรงน้ำพระก่อนให้พระเดินเหยียบคน เพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งเป็นอีกประเพณีหนึ่ง ของชาวไทยอีสานที่นับวันหาชมได้ยาก

ชาวบ้านตำบลโคกกุง อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ร่วมใจจัดงานฮดสรงน้ำพระภิกษุ หรือฮดสรงน้ำพระภิกษุ ประเพณีของชาวไทยอีสาน โดยพิธีรดสรงพระภิกษุที่จัดขึ้นเนื่องในงานเลื่อนสมณศักดิ์พระสงฆ์ในชุมชน ตามจารีตเดิมของชาวอีสานที่ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2456 ซึ่งชาวบ้านในชุมชนและพระเถระผู้ใหญ่ของท้องถิ่น จะมาร่วมพิธีกันเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นเกียรติยศแก่พระภิกษุที่ได้รับ การเลื่อนสมณศักดิ์ ก็จะต้องมีการจัดพิธี“ฮดสรง”ให้ยิ่งใหญ่สมฐานะ

สำหรับปีนี้ที่วัดโพธิสัตว์โคกกุง ต.โคกกุง อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ชาวบ้านต่างเดินทางมาพร้อมใจกันมาร่วมจัดพิธีฮด หรือ รดสรงน้ำพระแบบโบราณ ทุกคนต่างเชื่อว่าเป็นพิธีที่ศักดิ์และเป็นศิริมงคลกับตนเองและครอบครัว สำหรับปีนี้พระครูรังษีชัยคุณ (พระอธิการแสง กตภโร)เจ้าอาวาสวัดโพธิสัตว์ ได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครู ซึ่งพิธีจะประดับประดาสถานที่โดยใช้ต้นกล้วย ต้นอ้อยปลูกประดับ เป็นทางเดินและรอบโฮงหรือโรงสรง ส่วนที่เป็นโฮงสรงจะใช้ผ้าขาวทำเป็นเพดาน และกั้นเป็นห้องพอบังตาได้ มีตั่งนั่ง หินมงคล สำหรับวางเท้า มีรางน้ำรดสรง ทำเป็นรางรูปพญานาคแกะสลักสวยงาม ตั้งไว้นอกโรงสรง มีขาค้ำสูงจากพื้นประมาณ 1.20-1.50 เมตร ให้หัวนาคหันไปทางโรงสรงทางทิศเหนือ มีท่อน้ำไหลลงสู่ตัวพระภิกษุพอดี และนำ ใบโพธิ์ ใบคูณ ใบยอ อย่างละ 7 ใบ ใส่ไว้ในรางริน ส่วนใบโพธิ์ใช้ผ้าขาวห่อปากท่อน้ำที่จะไหลตกลงสู่ตัวพระภิกษุโดยให้ผ่านใบโพธิ์ด้วย

เมื่อญาติโยมเตรียมการเสร็จแล้ว จะทำพิธีจัดขบวนแห่เครื่องบริขาร และนิมนต์พระภิกษุที่ได้รับฮดสรงนั่งบนรถไปกับขบวนแห่ มีดนตรี มโหรีแห่ประโคมไปด้วย กลุ่มที่ชอบสนุกสนานก็จะฟ้อนนำหน้ากระบวนไป บางครั้งจะแห่ไปรอบหมู่บ้าน แล้วกลับมาเวียนขวารอบศาลาโฮงธรรม นำเครื่องบริขารจัดวางต่อหน้าประธาน ซึ่งจะนิมนต์พระเถระผู้ใหญ่ของหมู่บ้านหรือเมืองนั้นๆ มาเป็นประธานด้วย

เมื่อถึงเวลาชาวบ้านต่างสรงน้ำอบน้ำหอมและน้ำจากแม่น้ำทั้ง 5 สาย เช่นน้ำจากแม่น้ำโขงและน้ำชี ที่จ.ชัยภูมิเป็นต้นกำเนิด รวมทั้งแหล่งน้ำที่มาจากแม่น้ำคงคาประเทศอินเดีย รวมถึงน้ำจากแหล่งอื่นๆที่สำคัญๆรวมกันให้ครบ 5 สาย

เมื่อเสร็จแล้วพระเถรมอบตาลปัตร ไม้เท้าเหล็กให้และจูงนำพระภิกษุเจ้าพิธีขึ้นไปยังโรงธรรม อุบาสกชายจะนอนคว่ำหน้าเรียงกันจำนวนมาก จากบันไดโรงสรง เพื่อให้พระภิกษุเดินเหยียบไปจนถึงศาลาการเปรียญยาวกว่า 100 เมตร เชื่อว่าได้อานิสงส์แรงมาก ผู้คนที่ได้ให้พระสงฆ์เดินเหยียบจะเป็นมงคลกับชีวิต และมีความเชื่อว่าใครเจ็บปวดจะหายจากโรคปวดหลังเจ็บหลัง ส่วนอุบาสิกาใช้มือจับชายเสื้อหรือกางเกงผู้ชายที่นอน ในขณะที่พระสงฆ์เดินเหยียบก็จะได้รับอานิสงส์แรงมากเช่นเดียวกัน

นายจรัส เคนมา อายุ 73 ปี ปราช์ญชาวบ้านในพื้นที่กล่าวว่า สำหรับพิธีรดสรงน้ำพระจารีตเดิมของชาวอีสานนี้ ถือว่าเป็นประเพณีที่เก่าแก่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน สิ่งดีๆที่บรรพบุรุษทำมาเริ่มเลือนหาย จึงอยากให้ประชาชนเยาวชนคนในท้องถิ่น ออกมาช่วยกันฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อให้ลูกหลานได้เรียนรู้จารีตประเพณีเก่าๆ อีกทางหนึ่ง ได้ช่วยกันอนุรักษ์สืบทอดประเพณีไทยอันดีกว่าแห่งให้ยั่งยืนอยู่คู่บ้านเมือง