เจาะยุทธศาสตร์ 'แอเรียนสเปซ' เบื้องหลังธุรกิจ'ดาวเทียม'โลก

เจาะยุทธศาสตร์ 'แอเรียนสเปซ' เบื้องหลังธุรกิจ'ดาวเทียม'โลก

ตามสถานการณ์ในไทย รวมถึงการลงทุนดาวเทียมไทยคม 9 อย่างใกล้ชิด และหวังว่าจะได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับโครงการใดโครงการหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้น

หากเอ่ยถึงธุรกิจที่ให้บริการส่งดาวเทียมขึ้นสู่ห้วงอวกาศแล้ว ชื่อชั้นของ “แอเรียนสเปซ” ถือเป็นเบอร์ 1 ที่สามารถครองความเป็นผู้นำ กินส่วนแบ่งทางการตลาดจากทั่วโลกได้เกินกว่า 50% มาเป็นเวลายาวนาน

บริษัทดังกล่าวเป็นหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จดาวเทียมไทยคม 1-5 แม้ระยะหลังห่างหายไปและมีรายอื่นๆ เข้ามาแทน ทว่ายังคงมุ่งมั่นที่จะกลับมาทวงบัลลังก์ สานต่อธุรกิจในประเทศไทย...

“นายริชาร์ด โบว์ส” กรรมการผู้จัดการ ประจำภูมิภาคเอเชีย แอเรียนสเปซ ผู้ให้บริการปล่อยดาวเทียมยักษ์ใหญ่ของโลก มีมุมมองว่า ความต้องการในธุรกิจดาวเทียมยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง โอกาสทางการตลาดมีทั้งดาวเทียมสื่อสารขนาดใหญ่ รวมถึงตลาดใหม่ๆ ที่เติบโตต่อเนื่อง เช่น ดาวเทียมสำหรับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ดาวเทียมสังเกตการณ์ทางวิทยาศาสตร์ และดาวเทียมสังเกตการณ์พื้นโลก

โทรคมนาคมยุคใหม่ต้องสามารถตอบโจทย์การใช้งานที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจากทุกที่ ทุกเวลา แต่ทุกวันนี้ยังมีประชากรน้อยกว่าครึ่งโลกที่ได้รับความสะดวกอย่างแท้จริง ดังนั้นการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมจะสร้างความเป็นไปได้พร้อมช่วยเพิ่มทางเลือกที่น่าเชื่อถือภายใต้ราคาที่เหมาะสม

บริษัทคาดว่า อนาคตอันใกล้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมจะกลายเป็นฟีเจอร์พื้นฐานบนโทรศัพท์มือถือได้แน่นอน ปัจจัยสำคัญผลักดันโดย การมาของอินเทอรเน็ตออฟธิงส์ หรือ ไอโอที บริการวีดีโอออนดีมานด์ ที่เติบโตแบบก้าวกระโดด รวมถึงการแพร่ภาพที่ต้องการความคมชัดสูงระดับ 4เค และ 8เค

นอกจากนี้ เทรนด์ที่น่าสนใจพบด้วยว่าระบบนำทางผ่านดาวเทียมเริ่มถูกนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากประโยชน์ที่ได้ทำให้สามารถขยายการบริการได้แพร่หลายในวงกว้าง มีความเสถียร สามารถต่อยอดใช้งานด้านความปลอดภัยสาธารณะโดยหน่วยงานภาครัฐหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งช่วยลดเวลาการออกไปช่วยเหลือเมื่อมีเหตุฉุกเฉินจากเดิมต้องเสียเวลาระบุพิกัด กว่าจะไปถึงใช้เวลาหลายชั่วโมงลดเหลือแค่ระดับนาที

ด้านวิทยาศาสตร์และอวกาศ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ยิ่งมีความเข้าใจ ยิ่งสามารถก้าวไปข้างหน้าได้ดีขึ้น และบางครั้งหากสามารถมองมาจากนอกโลกก็อาจจะได้มุมมองที่ดีกว่าเดิม ขณะที่แง่ของการนำไปใช้สำรวจพื้นโลก ที่ผ่านมาช่วยให้ได้เห็นมุมมองของภาพที่กว้างมากขึ้น เห็นการเปลี่ยนแปลงของพื้นดิน มหาสมุทร อากาศ สภาพแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงความเป็นไปของสิ่งมีชีวิต

ไม่หวั่นตลาดแข่งดุ

ปัจจุบันแอเรียนสเปซ ให้บริการปล่อยดาวเทียมทุกประเภทไปยังวงโคจรทุกรูปแบบ โดยแบ่งธุรกิจออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย ดาวเทียมสำหรับการสื่อสาร นำทาง วิทยาศาสตร์ และสังเกตการณ์พื้นโลก

สำหรับกลยุทธ์ เน้นด้านคุณภาพและการให้บริการที่ครบวงจร เหนือกว่าที่คู่แข่งจะทำได้ ไม่ขอแข่งด้านราคา ขณะเดียวกันด้วยการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่เมื่อเดือนธ.ค.2559 ซึ่ง "แอร์บัส ซาฟราน ลอนเชอร์" ได้กลายมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของแอเรียนสเปซ สัดส่วน 74% หลังจากนั้นจึงได้มีการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการใหม่ซึ่งยิ่งเพิ่มความคล่องแคล่วในด้านการแข่งขัน ทันต่อตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

บริษัทเป้าหมายรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดการปล่อยดาวเทียมเชิงพาณิชย์ไว้ให้ได้ต่อเนื่อง ประเด็นนี้ได้วางรากฐานที่มั่นคงไว้แล้วด้วยจรวด “แอเรียน 6” และ “เวก้าซี” เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่จะช่วยตอบโจทย์ของลูกค้าได้มากขึ้น ทว่าราคาถูกลงกว่าเดิม ในแผนคาดว่าเวก้าซีจะเริ่มให้บริการอย่างเป็นทางการได้ในปี 2562 ส่วนแอเรียน 6 ปี 2563

“เราเข้าใจดีถึงการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของราคา ที่ผ่านมาจึงพยายามพัฒนาตนเอง ทั้งปรับโครงการองค์กรให้สอดคล้องกับสภาพการแข่งขัน แม้อาจไม่ใช่ผู้ให้บริการที่ราคาถูกที่สุด ทว่ามีบริการที่ดีที่สุด น่าเชื่อถือ ที่ผ่านมาอัตราการปล่อยดาวเทียมไม่เคยผิดพลาดเลย”

เกาะติดไทย

นายโบว์ส เผยว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในตลาดทำเงินของบริษัท ที่ผ่านมามีลูกค้าว่าจ้างให้ปล่อยดาวเทียมอยู่ต่อเนื่องทุกปี

ส่วนของประเทศไทย แม้ระยะหลังจะห่างหายออกไป ทว่าบริษัทมีแผนเข้ามาสานต่อและสร้างความต่อเนื่องให้ธุรกิจ เชื่อว่าโอกาสทางการตลาดนอกจากดาวเทียมสำหรับสื่อสาร ที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากยังมีดาวเทียมสังเกตการณ์สำหรับการใช้งานภาครัฐ

“เราได้ติดตามสถานการณ์ในไทย รวมถึงการลงทุนดาวเทียมไทยคม 9 อย่างใกล้ชิด และหวังว่าจะได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับโครงการใดโครงการหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้น”

พร้อมระบุว่า ชินแซทเทลไลท์ (ปัจจุบัน คือ บริษัทไทยคม) จากประเทศไทยเป็นลูกค้ารายแรกของแอเรียนสเปซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยสัญญาว่าจ้างให้ปล่อยดาวเทียมไทยคม1 และต่อเนื่องหลังจากนั้นอีก 4 ดวงไปจนถึงไทยคม 5 จากนี้ยังคงให้ความสำคัญ ในฐานะส่วนหนึ่งของแผนสร้างการเติบโตในภูมิภาค

ปักธงเอเชียแปซิฟิก

“นายฌาค เบรตง” รองประธานบริหารอาวุโส ด้านการขายและพัฒนาธุรกิจ แอเรียนสเปซ กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจของแอเรียนสเปซปีนี้ คาดว่าจะทำได้ดีใกล้เคียงกับปี 2559 ซึ่งมีการเซ็นสัญญาว่าจ้างให้ปล่อยดาวเทียมจำนวน 13 ดวง

บริษัทเชื่อด้วยว่า 2560 จะเป็นอีกหนึ่งปีที่ดีมากของแอเรียนสเปซในเอเชียแปซิฟิค จากต้นปีที่ประสบความสำเร็จในการปล่อยดาวเทียมสองครั้งด้วยจรวดแอเรียน5 ให้แก่เทลคอมอินโดนีเซีย (ดาวเทียมเทลคอม 3เอส เมื่อวันที่ 14 ก.พ.) และเคแซท (ดาวเทียมโคเรียแซท-7 ในวันที่ 4 พ.ค.)

หลังจากนี้ ยังมีอีก 3 ภารกิจ โดยสองครั้งเป็นขององค์การวิจัยอวกาศแห่งอินเดีย (ดาวเทียมจีแซท-17และจีแซท-11) และอีกครั้งเป็นของบีแซท (ดาวเทียมบีแซท-4เอ)

ภาพรวมปีนี้มีแผนปล่อยดาวเทียมในเอเชียแปซิฟิกแน่นอนแล้ว 12 ดวงโดยเจ็ดดวงจะใช้จรวดแอเรียน 5 อีกสามดวงใช้จรวดเวกา และอีกสองดวงโดยจรวดโซยุซ

เอเชียแปซิฟิกเป็นตลาดที่สำคัญอย่างมากของบริษัท ปัจจุบันครองส่วนแบ่งการตลาดกว่า 60% ของตลาดรวมการปล่อยดาวเทียมเชิงพาณิชย์ หรือคิดเป็นสัดส่วนรายได้ 25% ของธุรกิจแอเรียนสเปซทั่วโลก

ยึดแชมป์แชร์50%

นายเบรตง กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีโครงการในมือที่ได้เซ็นสัญญาว่าจ้างให้ปล่อยดาวเทียมเข้าสู่วงโคจร 51 ครั้ง (19 ครั้งโดยแอเรียน 25 ครั้งโดยโซยุส และ 7 ครั้งโดยเวก้า) แก่ลูกค้า 28 รายทั่วโลก คิดเป็นมูลค่ารวม 4.9 พันล้านยูโร หรือประมาณ 1.9 แสนล้านบาท

“เรามีความแข็งแกร่งอย่างมากในตลาดดาวเทียมเชิงพาณิชย์ ทั้งมั่นใจอย่างมากว่าจะสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดกว่า 50% ในตลาดรวมการปล่อยดาวเทียมเชิงพาณิชย์ทั่วโลกไว้ได้ต่อเนื่อง”

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2523 แอเรียนสเปซนำดาวเทียมกว่า 550 ดวงเข้าสู่วงโคจรด้วยจรวด 3 ประเภท แอเรียน โซยุซ และเวกา จากฐานปล่อยในเฟรนช์กายนา ประเทศอเมริกาใต้ และไบคอนอร์ ประเทศคาซัคสาน เฉพาะภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคปล่อยดาวเทียมไปแล้วกว่า 78 ดวงแก่ลูกค้า 17 ราย