กณพ เชาว์วิศิษฐ บนถนนชีวิตที่คดเคี้ยว

กณพ เชาว์วิศิษฐ บนถนนชีวิตที่คดเคี้ยว

ผู้บริหารรุ่นใหม่ของโตโยต้า ทูโช(ไทยแลนด์) ‘กณพ เชาว์วิศิษฐ’ ยึดหลักเรียนรู้จากการลงมือทำ เพื่อความเข้าใจธุรกิจอย่างแท้จริง โดยใช้หลัก Learning by Doing ในขณะเดียวกัน ก็สวมหมวกคุณพ่อที่เน้นเลี้ยงลูกด้วยเหตุผล

ทายาทรุ่นที่ 3 ของโตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์) ผู้นำธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอุตสาหกรรม เครื่องอุปโภคบริโภค นำเข้า-ส่งออกฯ ที่มีมากว่า 60 ปี ที่ถือเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ทำงานโดยใช้หลัก Learning by Doing ในขณะเดียวกัน ก็สวมหมวกคุณพ่อที่เน้นเลี้ยงลูกด้วยเหตุผล
“กณพ เชาว์วิศิษฐ” ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่ง ผู้จัดการฝ่ายเคมีอุตสาหกรรม บริษัท โตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์) จำกัด แต่น้อยคนจะรู้ว่า ความฝันในวัยเด็กของเขาคือ นักวิทยาศาสตร์

บนถนนชีวิตที่คดเคี้ยว


“เด็กๆ อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ เพราะตอนเรียนมัธยมปลายชอบเรื่องของพันธุวิศวกรรมศาสตร์ (Genetic Engineering) ก็เลยตัดสินใจเข้าเรียนในคณะวิทยาศาสตร์ สาชาชีววิทยา ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เมื่อเรียนไปแล้วรู้สึกไม่ใช่ จึงตัดสินใจกลับไปเรียนด้านเศรษฐศาสตร์ ที่จุฬาฯ” กณพกล่าว พร้อมชี้ว่า ลึกๆ ก็สนใจเรื่องการเงิน จึงเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ซึ่งเป็นสาขาที่กว้างมาก และสามารถประยุกต์ใช้ได้หลายสถานการณ์ ทั้งนี้ เขาเติบโตมาโดยที่ไม่ได้เข้ามาดูธุรกิจนี้ตั้งแต่เด็ก เพราะที่บ้านจะให้สนใจแต่การเรียนเป็นหลัก

“อยู่บ้านกับปู่ย่ามาตั้งแต่เด็ก แต่คุณปู่ (สุจินต์ เชาวน์วิศิษฐ) ท่านไม่ได้บอกตรงๆ ว่าต้องมาทำตรงนี้ มารับช่วงต่อ แต่คิดเอาเองว่า ท่านค่อยๆ ปูทางให้เรา เพราะทุกเช้าวันหยุด คุณปู่จะนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ และคอยถามเราเกี่ยวกับข่าวคราวเรื่องเศรษฐกิจต่างๆ ถามความคิดเห็นว่าเรารู้เรื่องและเข้าใจสถานการณ์หรือไม่”

หลังกลับจากการเรียนปริญญาโท ด้าน Mathematical Finance ที่ University of Essex ประเทศอังกฤษ กณพก็เข้ามารับช่วงเป็นผู้บริหารรุ่นที่ 3 ของโตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์) โดยเริ่มเข้ามาดูในส่วนของบัญชีและการเงิน พร้อมกันนั้นก็มีโอกาสไปเรียนรู้งานที่บริษัทลูกในจังหวัดฉะเชิงเทราและปราจีนบุรี


“การฝึกงานที่บริษัทลูกนั้น เป็นการเรียนรู้สถานการณ์หน้างานตามหลัก 3G ของโตโยต้า ทูโช ได้แก่ Genji เวลาจริง, Genba สถานที่จริง และ Genbatsu ของจริง”


การเริ่มต้นทำงานพร้อมกับช่วงเวลาที่ท้าทายอย่างวิกฤตน้ำท่วม สินค้าที่นำเข้าต้องใช้เวลา 3-5 เดือนจึงจะมาถึงไทย เมื่อมาแล้วเจอน้ำท่วม ขนส่งไม่ได้ ที่เก็บไม่มี ก็ต้องรอเวลา ต้องไปคุยประสานกับซัพพลายเออร์เพื่อยืดเวลาส่งงาน และผ่านมาได้ ประสบการณ์ การเปิดใจเรียนรู้ เป็นปัจจัยหลักที่ช่วยให้เขาผ่านบททดสอบนั้นมาได้


ปัจจุบัน เขารับผิดชอบในด้านงานบริหารจัดการซัพพลายเชน และดูแลการขายผลิตภัณฑ์เคมีในเครือโตโยต้า ทูโช ธุรกิจนำเข้าส่งออก ธุรกิจนายหน้าตัวแทน ธุรกิจบริการ ธุรกิจซื้อขาย และธุรกิจขายปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งวิธีการทำงานในแบบกณพ คือ จับงานให้นิ่ง วิเคราะห์ และพัฒนา


“ตอนนี้เข้าไปดูในส่วนที่ 2 จาก 7 ส่วนของโตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์) แต่ไม่ได้ตีกรอบตัวเองว่า ต้องเข้าไปดูให้ครบทั้ง 7 ส่วน เราทำในสิ่งที่เราจำเป็นต้องรู้ และทำให้ดีที่สุด อนาคต หากจุดไหนที่จำเป็นต้องเข้าไปเรียนรู้ก็ต้องขยับไปดู เพราะการที่เราจะทำงานได้ดี เราต้องเรียนรู้และเข้าใจกระบวนการทั้งหมด จึงจะมองภาพรวมได้เข้าใจ เมื่อต้องออกคำสั่งหรือต้องตัดสินใจก็จะทำได้ดี”


ความยากของงาน ไม่ใช่ปัญหาเพราะเขาพร้อมที่จะเรียนรู้และก้าวไปข้างหน้า แต่ด้วยเป็นบริษัทร่วมทุนกับญี่ปุ่น การทำงานก็ต้องร่วมงานกับคนญี่ปุ่น CultureShock ก็เกิดขึ้น


กณพกล่าวว่า ในปีแรกที่เข้ามาทำงานก็ยังไม่เข้าใจหลายอย่าง จนกระทั่งปี 2557 ถูกส่งตัวไปสำนักงานใหญ่ที่เมืองนาโงย่า ประเทศญี่ปุ่น ก็ได้เรียนรู้ว่า ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาทางอ้อม เช่น จะไม่มีคำว่า หิว แต่จะใช้คำว่าท้องว่าง เวลาชวนไปกินข้าวจะบอกว่า ท้องว่าง ซึ่งตอนแรกเราไม่เข้าใจ ท้องว่างก็คือ ท้องว่าง ก็อยู่เฉยๆ เพื่อนเลยไม่มีเพราะคิดว่าหยิ่ง ชวนไปกินข้าวก็ไม่ไป แต่ต่อมาก็ปรับตัวได้ และสนุกกับการทำงานในวัฒนธรรมที่แตกต่าง


“แต่ละฝ่ายจะมีวัฒนธรรมที่ต่างกัน พาร์ทเนอร์ในแต่ละอุตสาหกรรมก็จะแตกต่างกันออกไปด้วย ในฐานะผู้บริหารที่ต้องเข้าไปเรียนรู้งาน ก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับทุกฝ่ายได้ เป็นเรื่องที่ยาก แต่เมื่อใช้เวลาซักพักก็สามารถทำความเข้าใจได้”

เมื่อถามถึงคนต้นแบบ คงหนีไม่พ้นคุณปู่ สุจินต์ เชาวน์วิศิษฐ ซึ่งเป็นผู้บริหารที่พนักงานสามารถเข้าถึงได้ เมื่อก่อนตอนที่คุณปู่ยังทำงานอยู่ จะเห็นว่า ท่านเดินทั่วตึก ทักทายพนักงาน จำชื่อพนักงานได้ทุกคน กณพกล่าวว่า นอกจากการเรียนรู้และลงมือทำงานเพื่อมองภาพรวมการทำงานอย่างเข้าใจแล้ว เขายังเรียนรู้การบริหารผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยความเป็นกันเอง เข้าถึงได้ เรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างเข้าใจและรอบด้านอีกด้วย

เลี้ยงลูกด้วยเหตุผล
Work Life Balance ของกณพนั้น นอกจากงานก็ดูแลตัวเอง ออกกำลังกายด้วยตีกอล์ฟทุกสัปดาห์ เป็นกีฬาที่คุณปู่ฝึกให้ตั้งแต่เรียนมัธยมปลาย ซึ่งก็ชอบเพราะเป็นการแข่งกับตัวเอง ได้ออกกำลังและได้งานด้วย นอกจากนั้นก็มีวิ่งบ้าง


“ปัจจุบัน มีลูกแล้วเวลาส่วนตัวก็หายไปเยอะ เน้นเวลาให้ครอบครัว อย่างน้อยก็วันอาทิตย์” เขากล่าว แน่นอนว่า เมื่อมีลูก ไลฟ์สไตล์เปลี่ยนไป เข้าสู่โหมดคุณพ่อ ซึ่งคุณพ่อแบบกณพก็มีรูปแบบเฉพาะตัว


“เราพยายามไม่ตามใจ พยายามให้เขาเรียนรู้ด้วยตัวเอง เด็ก ๆ ต้องเรียนรู้ในสิ่งที่ตัวเองทำและยอมรับผลที่ตามมา เช่น ถ้าเขาล้ม เราจะไม่ไปโอ๋ ไม่อุ้ม ไม่เอามือไปตีพื้นแล้วบอกว่าเป็นความผิดของพื้น แต่จะบอกเขาว่า เขาล้มเอง ก็ต้องลุกเอง ต้องเรียนรู้ที่จะระวังมากกว่านี้”
ช่วงที่มีลูกคนแรก เขาต้องไปทำงานที่ญี่ปุ่น นับเป็นโอกาสในการศึกษาเรื่องของเด็กและการเจริญเติบโตของญี่ปุ่นที่หลายอย่างต่างจากไทย อันไหนที่เห็นว่าดี มีเหตุมีผลก็นำมาปรับใช้


“เขามีโฆษณาว่า ถ้าเด็กร้องไห้ไม่มีเหตุผล เขาจะปล่อยให้ร้องและให้พ่อแม่เดินออกมา ถ้าอยู่บ้านนะ ถ้าอยู่ข้างนอกเด็กหาย (หัวเราะ) เขาจะปล่อยให้เด็กร้อง ถ้าหยุดร้องค่อยกลับมาและนั่งคุยกันว่า ทำไมถึงร้อง เป็นเรื่องที่สมควรจะร้องหรือเปล่า เพราะถ้าเราปล่อยให้เด็กทำอะไร เขาเป็นเหมือนผ้าขาวที่จะซึมซับว่า สิ่งที่เราปล่อยให้ทำคือสิ่งที่ถูก ถ้าร้องปุ๊บแล้วเรายื่นของเล่นให้ ร้องแล้วเราทำตามเขา เขาจะมีความคิดว่า เวลาอยากได้อะไรเขาร้องไห้แล้วจะได้ เป็นความคิดฝังหัว เราก็ต้องมาคุยด้วยเหตุผลกัน”


นับเป็นการบริหารจัดการชีวิตทั้งงานและครอบครัวอย่างสมดุลและมีประสิทธิภาพ