คลีนกรีนเทค ยั่งยืนบนฐานนวัตกรรม

คลีนกรีนเทค ยั่งยืนบนฐานนวัตกรรม

“ซีต้า เทคโนโลยี” ,“ไข่ออกแบบได้” 2 นวัตกรรมไฮไลต์แจ้งเกิดของธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการเกษตรโดยบริษัท คลีนกรีนเทค จำกัด ผลจากการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี

“ซีต้า เทคโนโลยี” สารดูดซับสารพิษเชื้อราปนเปื้อนในอาหารสัตว์, “ไข่ออกแบบได้” จากเทคโนโลยีนาโนที่ช่วยเพิ่มการดูดซึมอาหารของไก่ เป็น 2 นวัตกรรมไฮไลต์แจ้งเกิดของธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการเกษตรโดยบริษัท คลีนกรีนเทค จำกัด ผลจากการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ตอบโจทย์ความต้องการของภาคเอกชน ควบคู่กับกลไกสนับสนุนวิจัยเอกชนจากรัฐบาล

แก้ปัญหาด้วยวิทยาศาสตร์


เริ่มจากปัญหาสารพิษเชื้อราปนเปื้อนในอาหารสัตว์ก่อผลเสียหายทางธุรกิจ เป็นจุดเริ่มต้นของโจทย์การคิดค้นนวัตกรรมที่จะแก้ปัญหา โดยใช้นาโนเทคโนโลยีคัดเลือกชนิดและดัดแปลงโครงสร้างอนุภาคเคลย์ (ดินภูเขาไฟ หรือ ผนังเซลล์จากยีสต์) ให้เป็นวัสดุนาโนคอมโพสิต ตลอดจนเพิ่มศักยภาพการดูดจับสารพิษร่วมกับการใช้เอนไซม์เปลี่ยนโครงสร้างสารพิษเชื้อรา เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถดูดจับสารพิษเชื้อราได้ครอบคลุมทุกชนิดที่เป็นปัญหาในการผลิตปศุสัตว์


จุดเด่นของซีต้าเทคโนโลยีอยู่ที่ความครอบคลุมของการแก้ปัญหาตรงจุด ลดการสูญเสียจากสารพิษเชื้อราที่ปนเปื้อนในอาหารสัตว์ได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกันในท้องตลาด" น.สพ. กิตติ ทรัพย์ชูกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท คลีน กรีนเทค จำกัด กล่าวและว่า โจทย์ที่ชัดเจนจะนำไปสู่การคิดและสิ่งใหม่ที่ตลาดต้องการ ยกตัวอย่างเทคโนโลยีสารดูดซับสารพิษเชื้อราปนเปื้อนในอาหารสัตว์ เกิดจากโจทย์คือวัตถุดิบอาหารสัตว์ปนเปื้อนเชื้อราจำนวนมาก จึงหารือเพื่อหาคำตอบจากนักวิจัย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช.


“นักวิจัยใช้เวลาคิดเพียง 15นาทีในการแก้ปัญหาที่ผมขบคิดเป็น 10 ปี นี่คือจุดเด่นของ สวทช. คือมีบุคลากรนักวิจัยที่เก่งในหลายๆ ที่ช่วยคิดแก้ปัญหาได้ทันที ทั้งยังมีโครงการสนับสนุนการสร้างผลิตภัณฑ์ อาทิ โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือไอแทปช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายเพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุนทำวิจัยของผู้ประกอบการ 50% จากวงเงินลงทุน 3 แสนบาท ภาครัฐช่วย 1.5 แสนบาท บริษัทออก 1.5 แสนบาททำให้ได้นวัตกรรมออกมา และได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ตามมาด้วย 9 รางวัลจากเวทีนวัตกรรมต่างประเทศ ปัจจุบันได้ส่งต่อโนฮาวน์ให้กับธุรกิจต่างชาติในรูปแบบการร่วมทุนกับไทย”

เหมือนถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1


ส่วนนวัตกรรมตัวที่สอง “ไข่ออกแบบได้” นั้น เริ่มจากเกษตรกรขายไข่ขาดทุน ต้องการแก้ปัญหานี้ด้วยการทำไข่ในฝันของผู้บริโภคที่ต้องการไข่ขาวที่ตอกออกมาแล้วเป็นวง สด เปลือกไข่จะต้องแข็งแรง นั้นหมายความว่าลำไส้ไก่จะต้องแข็งแรง จึงหารือศูนย์นาโนเทคถึงการออกแบบระบบนำพาสารอาหารในรูปแบบแคปซูลนาโนไปสู่ระบบการทำงานของลำไส้สัตว์ปีกโดยตรง ช่วยให้การย่อยและการดูดซึมธาตุอาหารของสัตว์ปีกมีประสิทธิภาพดีขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตไข่ไก่มีความสดกว่า 80-90% มีคุณสมบัติตามลักษณะไข่ที่ได้มาตรฐานเกรด AA เช่น เปลือกแข็งแรง ไข่ขาวเป็นวงชัดและเป็นไข่เสริมคุณค่าอาหาร20-40% ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร


“โจทย์ต้องชัดเจนก่อนที่คุยกับนักวิจัยจึงทำให้การทำงานง่าย สะดวกรวดเร็วขึ้น นวัตกรรมต้องตอบโจทย์และขยายผลได้ ตรงนี้จะยิ่งกว่าถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 หลายๆ งวด เพราะความต่างระหว่างคนโชคดีกับคนอับโชคก็คือ 1.คิดได้หรือไม่ คนโชคดีคือคนที่คิดได้ 2. คิดได้แล้วพร้อมจะทำหรือไม่ คนโชคดีคือคนที่พร้อมจะทำ และ 3. ทำแล้วหรือยัง คนโชคดีคือคนที่ลงมือทำ เหมือนกับคนที่อยากถูกลอตเตอรี่ก็ต้องลงมือซื้อลอตเตอรี่" น.สพ. กิตติ กล่าวและว่า


ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะเป็นผู้ผลิตอุตสาหกรรมการเกษตร การปศุสัตว์ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก จึงถือเป็นโอกาสของสินค้าที่มีนวัตกรรม ความปลอดภัย จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการจะขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความยั่งยืนในปัจจุบันและอนาคตโดยการผสานเทคโนโลยีเข้าไปช่วยสร้างคุณค่าและมูลค่ามากขึ้น