ทางเดียวกัน ไปด้วยกัน ‘ลิลูน่า’

ทางเดียวกัน ไปด้วยกัน ‘ลิลูน่า’

จะเปลี่ยนประเทศไทยอย่างแน่นอน ถ้าคนไทยหันมาใช้บริการ “ลิลูน่า” แอพพลิเคชั่นสำหรับแชร์ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง “ทางเดียวกัน ก็ไปด้วยกัน

นัฐพงษ์ จารวิจิต (นาย) ผู้พัตนาและผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพลิลูน่า (Liluna) มั่นใจว่านอกจากจะทำให้ผู้คนเดินทางได้สะดวกขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่าย ประการสำคัญจะช่วยแก้ปัญหาโลกแตกที่แก้ไม่ตกของเมืองไทยก็คือ “รถติด”


โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมหานครอย่างเช่นกรุงเทพ ทุกวันนี้มีรถจดทะเบียนส่วนบุคคลเกือบ 4 ล้านคัน ขณะที่มีคนใช้รถสาธารณะประมาณ 630,000 คน


ซึ่งรถส่วนตัวบนท้องถนนก็มักจะมีที่ว่างเฉลี่ยคันละ 2 ที่ข้างหลัง หรือบางทีก็มี 3 เป็นที่นั่งข้างคนขับ แน่นนอนว่าการขับรถส่วนตัวมีค่าใช้จ่ายที่สูง ทั้งค่าน้ำมัน ค่าทางด่วน ไหนจะค่าบำรุงรักษารถอีก แต่ที่นั่งว่างที่เหลือจะสามารถช่วยให้ผู้ขับประหยัดได้


“ถ้าเดินทางคนเดียว ก็จ่ายคนเดียวทั้งหมด แต่ถ้าไปกันหลายคนก็แบ่งจ่ายตามจำนวนคนเดินทาง”


ขณะที่ฝั่งผู้ใช้รถสาธารณะอีกหลายแสนคนก็เดินทางสะดวกขึ้นด้วย ไม่ต้องแย่งกันขึ้นไปยืนเบียดกันบนรถเมล์ และรถตู้ ซึ่งในบางพื้นที่ของกรุงเทพระบบรถสาธารณะก็ยังไปไม่ถึง เป็นเหมือนฝนตกไม่ทั่วฟ้า เพราะหลายๆเส้นทางก็ไม่มีรถประจำทางผ่าน คนต้องใช้วิธีเดินทางหลายต่อทั้งขึ้นรถ ลงเรือ ต่อมอเตอร์ไซค์ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น


ไอเดียนี้เกิดเมื่อปีที่ผ่านมา เพราะตัวเขาอาศัยอยู่ที่คอนโดมีเนียมแห่งหนึ่งย่านบางนาซึ่งป้ายรถเมล์ที่ใกล้ที่สุดต้องเดินไปประมาณครึ่งกิโลเมตร เมื่อเวลาที่เขาขับรถออกไปก็มักจะเห็นคนที่อาศัยอยู่ในคอนโดเดียวกันเดินออกไปป้ายรถเมล์ดังกล่าวอยู่เสมอ


"ผมก็อยากจะช่วย เคยลองชวนว่าพวกเขาว่ารถผมผ่านป้ายรถเมล์อยู่แล้วจะขับไปส่งให้ แต่ก็ไม่มีใครไป คงเป็นเพราะเราไม่รู้จักกันต้องมีตัวกลางที่เชื่อมให้ ผมก็คิดออกขึ้นมาทันทีว่ามันคือ คาร์พูล ที่ผมเคยใช้บริการมาก่อนที่เยอรมัน"


อย่างไรก็ตาม เขาก็พิจารณาต่อว่าคอนเซ็ปต์ธุรกิจนี้เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนสำหรับเมืองไทย ซึ่งถ้าย้อนไปเมื่อ 5 ปีที่แล้วคงอาจยังไม่ใช่ แต่ในวันนี้มีความเหมาะสม เพราะเมื่อเทียบกับอูเบอร์ แกร๊บแท็กซี่ และ แอร์บีเอ็นบี ที่มีคอนเซ็ปต์ sharing economy หรือ “เศรษฐกิจแบ่งปัน” เช่นเดียวกันก็เข้ามาตีตลาดไทยได้สำเร็จ คาร์พูลของลิลูน่าก็ต้องประสบความสำเร็จได้เช่นเดียวกัน


ทำไมใช้ชื่อลิลูน่า? เพราะตัวเขาชอบคำว่าลาลิลูน่า ที่เป็นเว็บเกี่ยวกับจาวาโปรแกรมมิ่งที่เคยใช้สมัยทำงานอยู่ที่เยอรมัน ก็เลยตัดให้สั้นเพื่อเรียกได้ง่ายขึ้นเหลือแค่ลิลูน่า สรุปแล้วคำๆ นี้ไม่มีความหมายแต่มันมีที่มา


"การเป็นสตาร์ทอัพจะต้องบอกว่าได้ว่าอะไรคือปัญหาจริงๆ ซึ่งผมมองเห็นว่ามันมีทั้งฝั่งคนที่ขับรถ และคนที่ใช้รถสาธารณะ ซึ่งผมไม่ได้คิดไปเอง เพราะเมื่อไปเสิร์ซหาบนโลกออนไลน์ก็พบว่ามีการโพสต์กันในเรื่องนี้ วันนี้จะไปทำงานทางนี้้มีที่ว่างจะมีใครไปด้วยกันไหม หรือจะไปเชียงใหม่ด้วยรถตู้แต่ไปกันแค่สี่คนมีที่ว่างถ้าใครจะไปด้วยกันก็มาแชร์ได้เลย มันมีคนกลุ่มนี้อยู่จริง "


โซลูชั่นของลิลูน่าคืออะไร เขาบอกว่าเป็นการพัฒนาแอพขึ้นมา เพื่อให้คนขับรถสามารถมาสร้างเส้นทางว่า เขาขับรถอะไร จะขับรถไปที่ไหน เวลาใด มีที่นั่งว่างอยู่กี่ที่ จะให้มาช่วยแชร์ค่าโดยสารในราคาเท่าไหร่ และเพื่อให้ผู้โดยสารมาเลือกเส้นทาง ซึ่งต่างฝ่ายก็จะเห็นหน้ากันว่าใครเป็นใคร และจะตอบรับหรือปฏิเสธก็ได้ เมื่อใช้บริการแล้วต่างฝ่ายก็จะให้คะแนนซึ่งกันและกันด้วย


ในหมายเหตุที่ว่า ไม่จำกัดประเภทรถ จะเป็นรถบรรทุก รถตู้ หรือ รถมอเตอร์ไซค์ก็ได้ทั้งหมด เพราะมันอยู่ในคอนเซ็ปต์ที่ว่า ขับไปคนเดียวและมีที่ว่างให้คนอื่นมานั่งด้วยหรือมาซ้อนท้าย ถ้ามีใครไปทางเดียวกันก็มาแชร์ค่าใช้จ่ายกันได้


"แต่คนไทยจะกังวลเรื่องของความปลอดภัย ดังนั้นเราจึงมีการตรวจสอบคนที่มาใช้บริการทั้งฝั่งคนขับ คนนั่ง โดยให้พวกเขาลงทะเบียนด้วยเบอร์โทรศัพท์ซึ่งต้องลงทะเบียนด้วยบัตรประชาชนอยู่แล้ว เราจะเข้มงวดในฝั่งคนขับมากกว่า คือนอกจากเบอร์โทรแล้ว เขาต้องส่งพรบ.รถและใบขับขี่มาให้เราเพื่อดูว่าหมดอายุหรือยัง รถที่ขับเป็นรถอะไร ป้ายทะเบียนอะไร ใบขับขี่ตรงกับชื่อตรงกับหน้าของเขาไหม โดยเราจะเป็นคนกรอกรายละเอียดให้เขาเอง"


แอพลิลูน่าเปิดตัวมามาเป็นเวลา 14-15 สัปดาห์แล้ว ล่าสุดมียอดดาวน์โหลด 1 หมื่นราย ในจำนวนนี้มีคนที่ลงทะเบียนจริง 3 พันกว่าราย มีคนขับรถจำนวน 600 ราย


เมื่อถามถึงโมเดลธุรกิจ เขายอมรับตรงๆว่ายังไม่มี ว่าจะหักเปอร์เซ็นต์จากคนขับหรือจากทางผู้นั่งดี เพราะไม่อยากทำให้ใครเดือดร้อน แต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่ได้คิดจะทำเป็นการกุศล


“กลายเป็นว่าแล้วผมจะหาเงินจากที่ไหน ก็เป็นการบ้านของผม เชื่อว่ามันต้องมีทางออก แค่ตอนนี้ผมยังหาไม่เจอ”


แต่มีโมเดลที่กำลังจะเกิดขึ้นก็คือ “บีทูบี” นัฐพงษ์ เดินเข้าไปคุยกับคอปอเรทขนาดใหญ่ ที่มีพนักงานจำนวนมาก และประสบปัญหาในเรื่องของการเดินทาง แต่ก็ยอมรับว่าก็ไม่แน่ใจว่ามันจะเวิร์คแค่ไหน


"ผมตั้งใจจะให้เขาทดลองใช้ก่อน สิ่งที่ขอเขาก็คือช่วยพาผมไปออกสื่อ เป้าหมายแรกของผมตอนนี้ก็คือ อยากให้คนได้ใช้จริงๆ การทำคาร์พูลเป็นเรื่องยาก แม้มีคนมาลงทะเบียนกว่า 3 พันคนแล้ว มีคนที่แสดงตัวว่าสนใจอยากใช้บริการเยอะแล้ว แต่เอาเข้าจริงคนใช้บริการจริงๆ ยังน้อย เพราะเส้นทางมันไม่แมตท์กัน เป็นปัญหาใหญ่เลย ซึ่งจะแก้ไขได้ก็ต้องเพิ่มเส้นทางให้มากยิ่งขึ้น เช่น คอนโดที่ผมอาศัยอยู่ก็มีตัวผมคนเดียวที่ใช้แอพ ทั้งที่คอนโดมีคนเป็นร้อยคนแต่เขายังไม่รู้จัก เราอยากเข้าถึงกลุ่มคนให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มเส้นทางและผู้ใช้"


ยอมรับว่าเรื่องที่ทำเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าทำได้สำเร็จ ลิลูน่าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องรถติดได้อย่างแน่นอน เพราะถ้ามีรถมาใช้แอพ 2 ล้านคัน ก็หมายถึงมีเส้นทางที่เพิ่มขึ้นราว 200 เส้นทาง เขามองว่ามันหมายถึงรัฐบาลเองก็ไม่ต้องลงทุนซื้อรถเมล์เพิ่มไม่ต้องสร้างรถไฟฟ้าที่ต้องใช้เงินมหาศาล


“ที่อยากจะสื่อก็คือ สู้รัฐบาลมาช่วยสนับสนุนผมจะดีกว่า ”

สูงสุดคือความภูมิใจ


นัฐพงษ์ บอกว่า เรื่องเงินยังไม่ใช่เรื่องหลัก เป้าหมายลิลูน่าสำหรับตัวเขาไม่ใช่เรื่องเงิน แต่เป็นความสำเร็จ ซึ่งเป็นเรื่องของความภาคภูมิใจ เป็นการทำให้คนจดจำว่าตัวเขาได้ทำเรื่องดีๆให้กับสังคม


แรงผลักดันดังกล่าว เกิดจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพราะตัวเองเรียนไม่เก่ง เขาเป็นคนชลบุรีเติบโตมาจากครอบครัวธรรมดาๆ มิหนำซ้ำพ่อแม่ก็เลิกทางกันตั้งแต่เด็ก เรียกว่าต้องอยู่และใช้ชีวิตคนเดียวเป็นส่วนใหญ่ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เมื่อเรียนจบช่างกล ระดับปวช. ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ก็บินตามแม่ซึ่งไปแต่งงานใหม่ที่ประเทศเยอรมัน การไปอยู่ในประเทศที่พัฒนาทำให้เขาต้องปรับตัวและพยายามพัฒนาตัวเองเพื่อไม่ให้กลายเป็นคนแพ้


เขาใช้ชีวิตที่เยอรมันมานานถึง 10 ปี ก็ตัดสินกลับมาหาลู่ทางที่ประเทศไทย เพราะฝันตั้งแต่เด็กแล้วว่าโตขึ้นจะเป็นผู้ประกอบการ


"เมื่อสองสามปีที่ผ่านมาผมทำงานในบริษัทซอฟแวร์ที่ประเทศเยอรมัน ได้เงินเดือนแสนกว่าบาท แต่ที่ทำให้ตัดสินใจว่าจะกลับมาสร้างธุรกิจที่เมืองไทยเพราะผมคิดว่ายิ่งมีเงินเดือนสูงการลาออกจากงานก็ยิ่งลำบาก"


และการเป็นผู้ประกอบการของเขาก็อาจต่างไปจากคนอื่น เพียงแค่ต้องการความมีอิสระในชีวิต การได้ทำอะไรที่มีประโยชน์ต่อคนอื่น ..ซึ่งคนทั่วไปอาจจัดเขาให้อยู่ในกลุ่ม “โลกสวย”