เจดับเบิ้ลยูดี เดินเกม ‘เฟิร์สมูฟเวอร์’ เพิ่มช ‘กำไร'

เจดับเบิ้ลยูดี เดินเกม ‘เฟิร์สมูฟเวอร์’ เพิ่มช ‘กำไร'

"เจดับเบิ้ลยูดี" เดินเกม "เฟิร์สมูฟเวอร์" เพิ่มความสามารถทำกำไร

กลุ่มธุรกิจคลังสินค้าและโลจิสติกส์ เป็นกลุ่มที่ได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และผู้ลงทุนโดยตรง (FDI) สาเหตุหลักเพราะประเทศได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางของเอเซียน โดยปัจจัยทางภูมิศาสตร์เป็นส่วนประกอบหลักที่ทำให้ประเทศไทยสามารถรักษาจุดยืนของการเป็น ‘ฮับ’ ของอาเซียน

และเมื่อไม่นานมานี้ สิ่งที่ได้ยินกันบ่อย ก็คือ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างสุดความสามารถ อีอีซี จึงได้กลายเป็นปัจจัยบวกอีกปัจจัยหนึ่งสำหรับกลุ่มธุรกิจคลังสินค้าและโลจิสติกส์

ชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) JWD กล่าวว่า อีอีซี เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการกลุ่มคลังสินค้าและโลจิสติกส์ ซึ่งเจดับเบิ้ลยูดีก็ได้รับอานิสงส์ด้วยเช่นกัน โดยบริษัทมีพื้นที่คลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้าอยู่ในพื้นที่ที่จะได้รับอานิสงส์ จากการลงทุนและการประกอบธุรกิจที่จะเพิ่มมากขึ้นในอีอีซี

อย่างไรก็ตาม การจะเป็นองค์กรที่มีมูลค่าเพิ่ม หรือสามารถสร้างการเติบโตให้กับผลประกอบการได้อย่างโดดเด่น ไม่สามารถพึ่งพาเพียงสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยเท่านั้น แต่ผู้ประกอบควรจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจเองด้วย ทั้งนี้ ก็เพื่อความอยู่รอด และสามารถรักษาการเติบโตอย่างยั่งยืนเอาไว้ได้

สำหรับเจดับเบิ้ลยูดี ล่าสุด ได้เปิด ‘ศูนย์รวมการเก็บและกระจายสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์’ (LCL) แห่งแรก ในท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี พื้นที่ 6,000 ตร.ม. ซึ่งตั้งอยู่ในเขตปลอดอากร (Free Zone) เพื่อให้บริการรวมสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ก่อนขนย้ายขึ้นเรือให้แก่ผู้ส่งออกรายเล็กที่ส่งสินค้าไม่เต็มตู้

กลุ่มเป้าหมายหลักของผู้ใช้บริการ LCL คือ ตัวแทนนำเข้าส่งออกรายใหญ่ที่เป็นผู้รวบรวมสินค้า (Consolidator) จากหลากหลายผู้ผลิตในประเทศ กลุ่มเป้าหมายรอง ได้แก่ ตัวแทนนำเข้าส่งออกสินค้ารายเล็กที่ส่งออกสินค้าจำนวนน้อยและต้องการใช้บริการรวมสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ก่อนขนย้ายขึ้นเรือขนส่งสินค้าที่ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งภาพรวมยอดการส่งออกสินค้าแบบ LCL สูงถึง 200,000 ตู้ต่อปี และรายได้ค่าบริการต่อตู้ค่อนข้างสูงประมาณ 5,500-6,000 บาทต่อตู้ เนื่องจากเป็นงานที่ต้องอาศัยการบริหารและจัดการที่ดี เพื่อความถูกต้องและแม่นยำในการรวมรวมสินค้าจากผู้ส่งออกหลายราย

ศูนย์ LCL ท่าเรือแหลมฉบัง จะเพิ่มทางเลือกและความสะดวกให้กับผู้ส่งออกเป็นอย่างมาก ช่วยประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับกิจกรรมโลจิสติกส์ เนื่องจากศูนย์รวมตู้ตั้งอยู่ภายในเขตพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นท่าเรือปลายทางที่ผู้ส่งออกส่วนใหญ่ใช้บริการ ปัจจุบันมีพื้นที่เปิดบริการศูนย์ LCL เพียง 2 แห่งคือ ที่ท่าเรือกรุงเทพ (ท่าเรือคลองเตย) และที่ Inland Container Depot หรือ ICD ที่ลาดกระบัง ซึ่งตู้ LCL ส่วนใหญ่ก็จะถูกลากมาเพื่อรอขึ้นเรือขนส่งสินค้าที่ท่าเรือแหลมฉบัง

“เรามีนโยบายเป็น First Mover ที่ต้องการบุกเบิกธุรกิจหรือเข้าไปรุกธุรกิจในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นรายแรก เช่น การเปิดศูนย์ LCL ซึ่ง JWD เป็นรายแรกที่เปิดให้บริการในท่าเรือแหลมฉบัง “ ชวนินทร์กล่าวย้ำ

ทั้งนี้ ศูนย์ LCL เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการเป็น First Mover ของเจดับเบิ้ลยูดี โดยศูนย์ LCL นั้น แม้ในแง่ของรายได้รวมจะยังไม่ถึงหลัก 100 ล้าน (ปี2560 ตั้งเป้ารายได้จาก LCL จำนวน 60 ล้านบาท) แต่ในแง่ของการเพิ่มมูลค่าให้องค์กรนั้น เจดับเบิ้ลยูดี มั่นใจว่าผลตอบแทนจะได้คืนกลับมาอย่างคุ้มค่า เนื่องจากการให้บริการ LCL ทำให้กลุ่มลูกค้าของบริษัทขยายฐานขึ้น และยังเป็นขยายขอบเขตของหลักคิดการเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ด้วยเช่นกัน

ชวนินทร์ กล่าวเพิ่มว่า หลักคิดในการเพิ่มบริการให้ลูกค้า ก็คือการมองมุมกลับว่า นอกจากได้ลูกค้าแล้ว องค์กรจะสามารถได้อะไรอีกบ้างจากห่วงโซ่ธุรกิจ โดยอาจต้องคิดจากในมุมของลูกค้า, มุมผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่ถัดไป หรือกระทั่งมุมของผู้บริโภค เหตุที่คิดให้รอบด้าน หลายตลบ ก็เพื่อสร้างบริการใหม่ หรือรูปแบบธุรกิจใหม่ที่คุ้มค่าพอจะเข้าไปเป็นผู้เล่นในตลาด ขณะเดียวกัน ก็จำเป็นต้องเป็นผู้เล่นรายแรกๆ ด้วย เพราะชวนินทร์ เชื่อว่า ผู้เล่นรายแรกก็คือผู้กำหนดกติกา

อีกบริการที่ตอกย้ำการคิดหลายแง่มุม และพร้อมกระโดดเข้าเป็นผู้เล่นลำดับแรกๆ ของเจดับเบิ้ลยูดี ก็คือการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับกลุ่มสยามกลการ โดยเจดับเบิ้ลยูดี ส่งบริษัทย่อย คือ ออโต้ลอจิค จำกัด จัดตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อ สยาม เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ เพื่อให้บริการโลจิสติกส์ชิ้นส่วนยานยนต์แบบรบวงจรแก่บริษัทในเครือสยามกลการและอุตสาหกรรมชิ ้นส่วนยานยนต์ โดยมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ นายประธานวงศฺ พรประภา ถือหุ้น 52.50%, ออโต้ลอจิค ถือหุ้น 42.49%

ชวนินทร์กล่าวทิ้งท้ายว่า รูปแบบการเติบโตของเจดับเบิ้ลยูดี จะไม่อยู่ในกรอบของการโตด้วยการซื้อกิจการ, การควบรวมกิจการ หรือโตจากแกนธุรกิจหลักเพียงอย่างเดียว แต่จะมุ่งเน้นการขยายบริการที่หลากหลาย ตอบโจทย์ลูกค้าได้ครบ ขณะเดียวกันก็ยังต้องสามารถรักษาบทบาทการเป็นผู้เล่นรายแรกๆ หรือเป็นผู้กำหนดกติกาของการทำธุรกิจ ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน และรักษาความสามารถในการทำกำไรของบริษัท