ขาใหญ่เครื่องดื่มหืดขึ้นคอ วิ่งแก้เกมฐานะทรุด

ขาใหญ่เครื่องดื่มหืดขึ้นคอ วิ่งแก้เกมฐานะทรุด

ฐานะการเงิน 3 เดือนแรก “กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม”ทรุด เหล่าขาใหญ่วิ่งแก้เกมพัลวัน“ตัน ภาสกรนที"หันซบ ตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง เดิมพันยอดขาย 700 ล้านปีนี้

การบริโภคในประเทศอ่อนแอหนัก โปรโมชั่นไม่โดนใจผู้บริโภค การแข่งขันรุนแรง การแข็งค่าของอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบเงินดอลลาร์ และต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการขยายกิจการ เป็นต้น

สารพัดเหตุผล ที่กดดันให้ “ฐานะการเงิน” ในช่วง 3 เดือนแรก (ม.ค.-มี.ค.) ของปี 2560 ของ หุ้นกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร หมวดอาหารและเครื่องดื่ม ปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างมีนัยยะ

สะท้อนผ่าน “ตัวเลขกำไรสุทธิ” ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2560 ที่อยู่ระดับ 12,386 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 ที่อยู่ 13,571 ล้านบาท กำไรลดลง 1,185 ล้านบาท

นอกจากนั้น อัตรากำไรสุทธิ” ยังขยับตัวลดลง จาก 6.07% เหลือ 5.17% ขณะที่ “ผลตอบแทนจากสินทรัพย์” ก็ปรับตัวลดลง จาก 8.13% เหลือ 7.58% เช่นเดียวกัน

ยิ่งพิจารณาในแง่ของ มูลค่าการซื้อขาย” ตั้งแต่ต้นปี 2560 จนถึงปัจจุบันยิ่งเห็นเด่นชัดว่า ดัชนีกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ปรับตัวลดลงจาก “จุดสูงสุด 14,304.49 จุด ลงมาปิดที่ระดับ 13,348.58 จุด ปรับตัวลดลงเฉลี่ย 4.87%

ขณะที่ ตัวเลขมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือ มาร์เก็ตแคป ก็ปรับตัวลดลงเหลือ 969,895 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ 3 เดือนสุดท้ายของปี 2559 ที่มีมาร์เก็ตแคป 1,021,731 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 51,836 ล้านบาท

สำหรับบริษัทจดทะเบียนที่สร้างความผิดหวัง ในแง่ของผลประกอบการไตรมาสแรกของปีนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าของปี 2559 และช่วงเดียวกันของปีก่อน คงต้องยกให้ บมจ.อิชิตัน กรุ๊ป หรือ ICHI ,บมจ.เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง หรือ TKN ของเถ้าแก่ต๊อบ อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์

นอกจากนั้นยังมี บมจ.อาฟเตอร์ ยู หรือ AU ของ กุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ,บมจ.เซ็ปเป้ หรือ SAPPE ของ ตระกูลรักอริยะพงศ์ และบมจ.คาราบาวกรุ๊ป หรือ CBG ของ เสถียร เศรษฐสิทธิ์ เป็นต้น ประเมินจากผลกำไรสุทธิที่อยู่ในช่วงขาลง

ทว่า ผลงานที่เริ่มต้นไม่สวยได้กดดันให้ราคาหุ้น ICHI หุ้น TKN หุ้น AU หุ้น SAPPE และหุ้น CBG ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันปรับลงค่อนข้างมาก สะท้อนผ่านราคาหุ้นที่ขยับตัวลดลงเฉลี่ย 12.25% 26.79% 26.42% 24.09% และ 11.48% ตามลำดับ

สอดคล้องกับความเห็นของ “ตัน ภาสกรนที ประธานกรรมการบริหาร บมจ.อิชิตัน กรุ๊ป หรือ ICHI ที่ระบุว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558-2559) ตลาดชาเขียวตกอยู่ในอาการเมาหมัด จากตัวเลขการเติบโตที่ทรงตัวในปี 2558 และติดลบ 7% ในปี 2559 ขณะที่ไตรมาส 1 ปี 2560 ติดลบ 12%

เมื่อสถานการณ์ตลาดชาเขียวตกอยู่ในโซนสีแดง บวกกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว กำลังซื้อหดตัว และการแข่งขันรุนแรง แม้เจ้าตลาดจะไม่ได้อัดแคมเปญมากเท่าหลายปีก่อน ก็มีความเป็นไปได้ว่า ภาพรวมตลาดเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ในปี 2560 อาจ “ติดลบ ยกเว้นกลุ่มสินค้าประเภทน้ำดื่ม

มีโอกาสจะเห็นตลาดกลับมาเป็นบวกภายในปีนี้หรือไม่? 

ตัน ตอบคำถามนี้ว่า คงต้องรอประเมินสถานการณ์รอบด้านอีกครั้ง โดยเฉพาะการทำโปรโมชั่นของเบอร์ใหญ่ (ค่ายช้าง-ไทยเบฟเวอเรจ ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี) รวมถึงการทำประชาสัมพันธ์และการตลาด เพราะหากกลยุทธ์เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคมากกว่าเดิมอาจช่วยกระตุ้นตลาดได้บ้าง แต่น่าจะไม่มีโอกาสเห็นตลาดชาเขียวเติบโตด้วยตัวเลขสองหลักอีกต่อไป “ตัน” เผย

หลากหลายแคมเปญที่ค่ายอิชิตันอัดเข้าไปในช่วงที่ผ่านมายังไม่ค่อยโดนใจผู้บริโภคมากนัก ขณะที่ผู้บริโภคบางกลุ่มเริ่มสนใจน้ำเพื่อสุขภาพมากขึ้น ฉะนั้นเราต้องตีโจทย์นี้ให้แตก

อย่างไรก็ตาม ทิศทางธุรกิจในช่วงที่เหลือของปี 2560 ตันวิเคราะห์ว่า มีความเป็นไปได้ว่า สถานการณ์ของอิชิตันจะ “ดีขึ้น” กว่าปีก่อนที่มีรายได้และกำไรสุทธิที่ระดับ 5,300 ล้านบาท และ 368 ล้านบาท ตามลำดับ 

หลังบริษัทอยู่ระหว่างปรับปรุงขนาดบรรจุภัณฑ์สินค้าใหม่ เพื่อผลักดันอัตรากำไรให้ดีขึ้น โดยจะยกเลิกสินค้าขนาด 290 มิลลิลิตร (มล.) รวมถึงลดการขายสินค้าขนาด 420 มล. เพราะสินค้าดังกล่าวมีมาร์จิ้นค่อนข้างต่ำ

ขณะเดียวกัน บริษัทจะเน้นกลยุทธ์ออกผลิตภัณฑ์ใหม่เฉลี่ย 2-3 ตัวต่อปี เพื่อกระตุ้นยอดขายในประเทศอย่างต่อเนื่อง

ในฝั่งของตลาดส่งออก จากนี้คงค่อยๆฟื้นตัว สะท้อนผ่านยอดขายที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา อย่างในปี 2560 ตั้งเป้ายอดขายต่างประเทศระดับ 500 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่ทำได้ 9 ล้านบาท โดยในช่วงไตรมาส 1 ปี 2560 สร้างยอดขายได้แล้วประมาณ 250 ล้านบาท 

สำหรับแผนการขยายตลาดต่างประเทศ วันนี้ยังคงเน้นทำตลาดในโซน CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ที่ผ่านมาเข้าไปทำตลาดในประเทศลาว กัมพูชา และเวียดนามเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงประเทศเมียนมา ล่าสุดอยู่ระหว่างเจรจาคาดว่าจะสามารถขายสินค้าได้เร็วๆ นี้

ส่วนแผนการขายในประเทศอินโดนีเซีย หลังกลางปี 2557 อิชิตันได้เข้าลงทุนในกิจการร่วมค้าสัดส่วน 50% ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ในประเทศอินโดนีเซีย โดยได้ร่วมกับบริษัท PT Atri Pasifik (AP) ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย เพื่อวางจำหน่ายสมุนไพรเย็นเย็น และเก๊กฮวยผสมน้ำผึ้ง ขนาดบรรจุ 400 มล.

หากไม่มีอะไรผิดพลาด ปีนี้จะสามารถสร้างรายได้เฉลี่ย 370 ล้านบาท คิดเป็นปริมาณ 3 ล้านลัง จากนั้นในปี 2561 รายได้จะเพิ่มเป็น 1,000 ล้านบาท เมื่อเป็นเช่นนั้นอาจเห็นบริษัทเข้าไปตั้งโรงงานผลิตในอินโดนีเซีย ฉะนั้นผลประกอบการบริษัทร่วมทุนคงพลิกจากขาดทุนเป็นกำไรได้ไม่ยาก

“ตัน” แจกแจงต่อว่า วันนี้อิชิตันมองเห็นโอกาสในตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง แม้การแข่งขันจะสูงมาก แต่มูลค่าตลาดที่ค่อนข้างใหญ่ บวกกับผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่างของบริษัท

ทำให้เชื่อมั่นว่า เครื่องดื่มชูกำลังแบรนด์ T247 ในรูปแบบไฮบริดเอนเนอร์จี้ดริ้งค์พร้อมดื่ม สูตรโสมและน้ำผึ้ง และสูตรคอลลาเจนและซิงค์ ขนาดบรรจุ 280 มล.ราคา 15 บาท จะได้รับการตอบรับที่ดี จากกลุ่มเป้าหมายที่มีอายุ 20-30 ปี อย่างไรก็ดีผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะดำเนินการภายใต้บริษัทย่อย อิชิตัน พาวเวอร์

เบื้องต้นตั้งเป้าหมายจะมีรายได้จากผลิตภัณฑ์ใหม่ไม่ต่ำกว่า 700 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 10% ของรายได้รวม ขณะเดียวกันยังคาดหวังจะมีส่วนแบ่งการตลาดในปี 2560 ประมาณ 2% ก่อนจะขยับเป็น 5% ในปี 2561 และไม่ต่ำกว่า 10% ภายในปี 2564

ปีนี้ตั้งใจจะใช้งบการตลาดเฉลี่ย 200 ล้านบาท โดยจะเริ่มออนแอร์โฆษณาและวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลางเดือนมิ.ย.นี้

ปลายปีนี้เตรียมออกผลิตภัณฑ์ใหม่อีก 1 ตัว คือ ชาเขียวเพื่อสุขภาพ

เจ้าพ่อชาเขียว ทิ้งท้ายว่า ผลประกอบการในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ถือว่าเป็นจุดต่ำสุดของฐานะการเงินแล้ว และในช่วงไตรมาส 2 เป็นต้นไป ผลงานจะค่อยๆดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป

หลายคนอาจสงสัย ทำไมผมตั้งชื่อเครื่องดื่มชูกำลังว่า T247 T ย่อมาจาก ตัน ชายผู้ล้มแล้วต้องลุก ห้ามท้อ สู้ใหม่ ส่วน 247 คือ ดื่มง่ายตลอด 24 ชั่วโมง ทั้ง 7 วัน

ด้าน “นาดิม ซาเวียร์ ซาลฮานี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.มัดแมน หรือ MM เล่าให้ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ฟังว่า ตลอดปี 2560 ผู้ประกอบการหมวดอาหารและเครื่องดื่มยังคง “ทำงานเหนื่อยมาก” ตราบใดที่ตลาดยังไม่ฟื้นตัว หลังบรรยากาศการใช้จ่ายภายในประเทศยังไม่กลับคืนมาก

ที่ผ่านมาบริษัทมีความพยายามอัดโปรโมชั่น เพื่อกระตุ้นกำลังซื้ออย่างต่อเนื่อง แต่จะให้ทำบ่อยๆคงไม่ได้ เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนแปลงไป บางคนจะไม่ซื้อสินค้า หากไม่มีโปรโมชั่น ฉะนั้นช่วงนี้เลยหันมาใช้กลยุทธ์ออกสินค้าตัวใหม่ เพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าแทน

ปัจจุบันคู่แข่งหลากหลายค่าย เริ่มหันมาทำโปรโมชั่น เรียกว่า แข่งดุก็ว่าได้ เป้าหมายสำคัญ คือ แย่งชิงฐานลูกค้า ตราบใดที่ลูกค้ายังมีจำนวนน้อย แต่ผู้ประกอบการมีจำนวนเท่าเดิม

สำหรับทิศทางตลาดอาหารและเครื่องดื่ม น่าจะเริ่มดีขึ้นในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2560 หลังภาวะเศรษฐกิจค่อยๆฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อกลับมา ยิ่งมีข่าวการเลือกตั้งออกมา คงน่าจะช่วยสร้างความเชื่อมันให้กับภาคเอกชนมากขึ้น ฉะนั้นอาจเริ่มเห็นเอกชนทยอยลงทุนมากขึ้น 

ปีนี้ตลาดอาหารและเครื่องดื่มแย่กว่าปีก่อน หลังตลาดไม่มีการเติบโต เพราะผู้บริโภคยังไม่กล้าใช้จ่าย จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว” 

เมื่อถามถึงภาพรวมธุรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เล่าว่า ธุรกิจเกรฮาวด์ คาเฟ่ ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร คงจะเป็น “พระเอก” ประจำปีนี้ และในอนาคตจะเป็น แบรนด์ที่สร้างรายได้ประจำให้กับองค์กรแห่งนี้ จากการขายแฟรนไซส์ให้กับผู้ที่ได้รับสิทธ์ในการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ

ปัจจุบันบริษัทมีรายได้จากค่าลิขสิทธิแฟรนไซส์ประมาณ 50-60 ล้านบาท หลังมีการขายแฟรนไซส์ให้กับตลาดเอเชียจำนวน 11 สาขา เช่น ฮ่องกง ,ปักกิ่ง,เซียงไฮ้,มาเลเซีย,สิงคโปร์ และในประเทศ 13 สาขา รวมทั้งหมด 24 สาขา

สำหรับแผนธุรกิจของ “เกรฮาวด์ คาเฟ่” ปีนี้มีตั้งใจจะขยายธุรกิจผ่านการขายแฟรนไซส์ออกไปในต่างประเทศใหม่ๆ ล่าสุดกำลังเจรจากับลูกค้าในประเทศไต้หวัน,ฟิลิปินส์ และอินโดนีเซีย ตามแผนบริษัทต้องขายแฟรนไซส์ให้ได้ปีละ 1-2 ตลาด โดยจะลงทุนต่อสาขาเฉลี่ย 15-20 ล้านบาท

ปลายปีนี้จะเปิดสาขา เกรฮาวด์ คาเฟ่ แห่งแรก ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยจะเป็นการลงทุนเอง มูลค่าประมาณ 80-90 ล้านบาท ถือเป็นการปูทาง เพื่อขยายตัวไปในตลาดยุโรปในอนาคต หลังใช้เวลาศึกษาตลาดมานาน 2 ปี

บริษัทต้องการสร้างแบรนด์เกรฮาวด์ให้เป็นที่รู้จักก่อน เมื่อประสบความสำเร็จก็จะขยายสาขาต่อไปเรื่อยๆ เช่น ฝรั่งเศส ,เยอรมัน และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

“ในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ปีนี้ คงจะเห็นตัวเลขผลประการของ MM ปรับตัวดีขึ้นจากครึ่งปีแรกที่ยังมีผลประกอบการขาดทุน”

ซีอีโอ MM ทิ้งท้ายว่า ในช่วง 5 ปีข้างหน้า วางเป้าหมายจะขยายตลาดเพิ่มเติมอีก 5-6 ประเทศ และจะนำแบรนด์เกรฮาวด์ขึ้นแท่นสู่ระดับโลก

--------------------------

อาหารเครื่องดื่ม” ส่อฟื้นครึ่งปีหลัง

บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) หรือ KGI วิเคราะห์ว่า แนวโน้มกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มคงเริ่ม “ฟื้นตัว” ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2560 เป็นต้นไป หลังจากประกาศผลประกอบการไตรมาส 1 ออกมาอ่อนแอ

เบื้องต้นคาดว่า “กำไรสุทธิ” ของ บมจ.คาราบาวกรุ๊ป หรือ CBG และบมจ.มาลีกรุ๊ป หรือ MALEE จะฟื้นตัวได้ดีในไตรมาส 2 นี้ แต่กำไรสุทธิของบมจ.เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง หรือTKN จะฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากค่าใช้จ่ายทางภาษีที่ลดลง ขณะที่กำไรของบมจ.เซ็ปเป้ หรือ SAPPE ยังมีแนวโน้มหดตัวอย่างต่อเนื่อง

สาเหตุหลักที่ทำให้ผลประกอบการกลุ่มอาหารเครื่องดื่มชะลอตัวในช่วงไตรมาส 1 ปี 2560 “ข้อแรก การบริโภคภายในประเทศที่อ่อนแอ ส่งผลกระทบกับการเติบโตของรายได้ และไม่มีอุปสงค์ แม้ว่าฐานจะต่ำในไช่วงตรมาส 4 ปี 2559

ข้อสอง กำไรต่อหน่วย (margin) หดตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และ ข้อสาม อัดงบทางการตลาดเพิ่มขึ้น เพื่อกระตุ้นยอดขาย โดยเฉพาะ TKN และ SAPPE ขณะที่ MALEE ไม่ได้มีกิจกรรมทางการตลาดใหญ่ๆ

นักวิเคราะห์ กล่าวต่อว่า “หุ้นเด่น” น่าลงทุนยกให้ “หุ้น MALEE” หลังมองประสิทธิภาพบริษัทดีขึ้น สะท้อนผ่านรายได้รวมที่ทรงตัว แม้รายได้ภายในประเทศ สัดส่วน 57% ของรายได้รวม อาจลดลง 13% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่รายได้จากการส่งออกอาจเติบโตมากถึง 22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

รายได้ในประเทศที่ลดลง ไม่ได้สะท้อนว่า อุปสงค์หดตัวลง ตรงข้ามกับบ่งบอกถึงปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบผลไม้เมืองร้อน และการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดกาแฟพร้อมดื่ม (หนึ่งในลูกค้าหลักของ MALEE) ถึงแม้ว่า ยอดขายจะไม่น่าตื่นเต้น แต่บริษัทได้แสดงให้เห็นว่าประสิทธิภาพและความสามารถในการทำกำไรดีขึ้น แม้ว่าจะมีอัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง ก็ตาม

กูรูหุ้นอาหารและเครื่องดื่ม” แจกแจงสถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมาของ CBG TKN และ SAPPE ว่า ในส่วนของ CBG แม้อุปสงค์ของเครื่องดื่มชูกำลังหดตัวลงในไตรมาส 1 ปี 2560 แต่การเดินหน้าสร้างเครือข่าย ด้วยการจัดจำหน่ายผ่าน cash van ก็ทำให้ CBG ชิงส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 25.1% ในไตรมาส 1 ปี 2560 จาก 23.9% ในปี 2559

ส่วน TKN ในช่วง 3 เดือนแรกที่ผ่านมา มีส่วนแบ่งทางการตลาดลดลงเหลือ 63% จาก 66% ในปี 2559 เนื่องจากคู่แข่งอัดแคมเปญการตลาด เพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดคืน ซึ่งสถานการณ์นี้ทำให้ TKN ต้องป้องกันส่วนแบ่งตลาด ด้วยการจ้างนักร้องเกาหลีมาเป็น brand ambassador

สำหรับ SAPPE สถานการณ์ในช่วงที่เหลือ ยอมรับว่า ยังคง “เหนื่อย” จากการส่งออกที่ลดลงอย่างมาก หลังจากที่บริษัทขายหุ้น JV ในอินโดนีเซียออกไปในไตรมาส 4 ปี 2559 ทำให้ platform ธุรกิจหลักของ SAPPE รวมถึงโครงสร้างรายได้เปลี่ยนแปลงไป และทำให้แนวโน้มมาร์จิ้นลดลงอย่างมาก โดยรายได้ลดลง 16% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ขณะที่ธุรกิจส่งออกก็ลดลงประมาณ 35-40% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน รวมทั้งอัตรากำไรขั้นต้นก็ลดลง ฉะนั้น SAPPE จำเป็นต้องสร้างการเจริญเติบโตในตลาดใหม่ขึ้นมาแทนธุรกิจในประเทศอินโดนีเซียที่หายไปให้ได้ 

ด้าน บล.กสิกรไทย ยังคงมีมุมมองต่อหุ้น TKN ในลักษณะ “บวก” สะท้อนผ่านแนะนำ “ซื้อ แม้จะปรับราคาเป้าหมายลงจาก 33 บาทต่อหุ้น เป็น 28 บาทต่อหุ้น

หลังได้ปรับประมาณการกำไรสุทธิในปี 2560-2562 ลดลง 10.6% ,4.8% และ 5.8% ตามลำดับ

ขณะเดียวกัน ยังได้ปรับประมาณการลดลง 6.6% ,6.1% และ 6.8% ตามลำดับ หลังยอดขายภายในประเทศปรับตัวลดลง และการปรับเพิ่มอัตราการใช้งานโรงงานโรจนะที่ล่าช้ากว่าคาด

นักวิเคราะห์ เชื่อมั่นว่า ตลาดจีนยังคงเป็นกลุ่มที่หนุนรายได้จากต่างประเทศเป็นหลัก เพราะมีสัดส่นวมากถึง 40% ต่อยอดขายทั้งหมดในไตรมาส 1 ปี 2560 ขณะเดียวกันบริษัทยังมีแผนการเพิ่มตัวแทนจัดจำหน่ายจาก 2 ราย ในปัจจุบัน เพื่อขยายขอบเขตจากปัจจุบันที่ 20% ของโมเดิร์นเทรด

นอกจากนั้น บริษัทยังมีแผนการด้านการขายบนระบบออนไลน์ในประเทศจีนด้วยตัวเอง เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคากับตัวแทนจำหน่าย ทั้งนี้คาดว่ายอดขายจากจีนจะพุ่งขึ้นใน 6 เดือนหลังของปี 2560 หลังจากโรงงานเฟส 2 ในโรจนะเริ่มดำเนินงาน ซึ่งจะเป็นส่วนที่รองรับอุปสงค์ต่อสินค้าประเภทย่างและอบ ซึ่งเป็นสินค้าหลักในตลาดจีน