DTAC - ซื้อ

DTAC - ซื้อ

ได้รับเลือกเป็นพันธมิตรดีล 2.3 กิกะเฮิร์ซกับทีโอที

ประเด็นการลงทุน

เราประเมินว่าการที่ DTAC ประสบผลสำเร็จในการได้รับเลือกเป็นพันธมิตรทางธุรกิจสำหรับคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซของทีโอทีถือว่าส่งผลบวกอย่างมีนัยสำคัญต่อ DTAC เนื่องจากถือว่าเป็นการผ่อนคลายความกังวล สำหรับประเด็นการขาดแคลนคลื่นความถี่ และเป็นการลดความเสี่ยงด้านการดำเนินธุรกิจระยะยาวหลังจากสัมปทานคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิร์ซและ
1.8 กิกะเฮิร์ซสิ้นสุดลงในเดือนก.ย. 2561 ถ้าอ้างอิงต้นทุนค่าคลื่นความถี่ต่อเมกะเฮิร์ซ เราประเมินว่าต้นทุนค่าคลื่นความถี่สำหรับดีลนี้ถือว่าต่ำกว่า ดีลพันธมิตรคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ซของ ADVANC กับทีโอที ในระยะยาว DTAC จะได้รับผลบวกจากส่วนแบ่งตลาดของรายได้บริการที่จะเพิ่มขึ้นจากคลื่นความถี่ในมือที่เพิ่มมากขึ้น และต้นทุนด้านกฎระเบียบที่มี
แนวโน้มลดลงจากการเปลี่ยนไปโรมมิ่งบนโครงข่ายของคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซแทน (จากปัจจุบันที่โรมมิ่งบนโครงข่ายของคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิร์ซ/หรือ 1.8 กิกะเฮิร์ซซึ่งเสียส่วนแบ่งรายได้ 30% ให้กับกสท.) ซึ่งจะกลบผลกระทบทางลบจากผลขาดทุนสุทธิระยะสั้นซึ่งจะเกิดขึ้นจากค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นจากดีลคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซ เราจะทำการรวม
มูลค่าเพิ่มจากดีลพันธมิตรคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซกับทีโอทีเข้าไปในประมาณการของเราในอนาคต DTAC ถือว่าเป็นหนึ่งในหุ้นกลุ่มไอซีทีที่เราชอบมากที่สุด ราคาหุ้น ณ ปัจจุบันถือว่าถูกมากโดยซื้อขายที่อัตราส่วน EV/EBITDA ในปี 2560 เพียงแค่ 4.9 เท่า

DTAC ได้รับการคัดเลือกเป็นพันธมิตรทางธุรกิจสำหรับคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซของทีโอที

เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ที่ผ่านมา บอร์ดทีโอทีได้อนุมัติเห็นชอบให้ทีโอที ดำเนินการเข้าสู่ขบวนการทำสัญญากับบริษัทย่อยของ DTAC (ซึ่งได้แก่ บริษัทดีแทค ไตรเน็ต จำกัด และบริษัทเทเลแอสเสท จำกัด) ในการเป็นคู่ค้าสำหรั้บการให้บริการไร้สายคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซ โดยบริษัทเทเล แอสเสท จำกัด จะให้เช่าเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคมและรับจ้าง บำรุงรักษาโครงข่ายให้กับทีโอที ส่วนบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัดจะทำการรับซื้อความจุโครงข่ายในสัดส่วน 60% ของความจุโครงข่ายทั้งหมดจากทีโอทีโดยเสนอผลตอบแทนคงที่ให้กับทีโอทีคิดเป็น 4.51 พันล้านบาทต่อปี คาดว่าการเข้าทำสัญญาสุดท้ายจะเกิดขึ้นภายในไตรมาส 4/60 ส่วนการลงโครงข่ายและการเริ่มเปิดให้บริการจะเกิดขึ้นภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2561


ต้นทุนต่อเมกะเฮิร์ซของคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซถือว่าต่ำกว่าคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ซของทีโอทีที่เป็นพันธมิตรกับ ADVANC

เนื่องจากคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซใช้เทคโนโลยีไทม์ ดิวิชั่น ดูเพล็กซ์ (TDD) ซึ่งต้องการใช้เพียงแค่คลื่นความถี่ช่องเดียวเพื่อทำการส่งและรับ สัญญาณ รวมถึงไม่จำเป็นต้องแบ่งคลื่นความถี่สัดส่วน 50/50 ในหนึ่งช่อง สำหรับการอัพลิ้งค์/ดาวน์ลิ้งค์ ดังนั้นการจัดสรรช่องสัญญาณบนคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซจึงมีประสิทธิภาพมากกว่าคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ซึ่ง
ใช้เทคโนโลยีฟรีเควนซี่ ดิวิชั่น ดูเพล็กซ์ (FDD) ซึ่งจะต้องจัดสรรและแบ่งช่องคลื่นความถี่ออกเป็นสองส่วนเท่าๆ กันและแยกออกจากกันสำหรับการอัพลิ้งค์/ดาวน์ลิ้งค์ ดังนั้นคลื่นความถี่จำนวน 60 เมกะเฮิร์ซของคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซจึงถูกใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเนื่องจากจำนวน 2 ใน 3 ของคลื่นความถี่ทั้งหมด (หรือคิดเป็นจำนวน 40 เมกะเฮิร์ซ) จะสามารถแบ่งไปเป็นช่องสัญญาณสำหรับการดาวน์ลิ้งค์ได้ ภายใต้สมมติฐานว่าบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัดมีสิทธิที่จะใช้คลื่นความถี่คิดเป็น 60% ของความจุโครงข่ายทั้งหมด (หรือจำนวน 24 เมกะเฮิร์ซสำหรับการดาวน์ลิ้งค์) เราประเมินว่าต้นทุนต่อเมกะเฮิร์ซของคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซข้างต้นจะอยู่ที่ 188 ล้านบาท ซึ่งถือว่าต่ำกว่าต้นทุนต่อเมกะเฮิร์ซของคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ซของ ADVANC ซึ่งอยู่ที่ 260 ล้านบาท หรือคิดเป็นต่ำกว่า 28%


จำนวนคลื่นความถี่ในมือที่ใช้งานได้จริงปรับเพิ่มขึ้นมาใกล้เคียงกับคู่แข่ง

นอกเหนือจากค่าเข้าใช้คลื่นความถี่รายปีที่ 4.51 พันล้านบาทแล้ว เราคาดว่าจะมีเพียงแค่เงินลงทุนเพิ่มเติมเพียงเล็กน้อยเท่านั้นสำหรับการลงทุนในอุปกรณ์และโครงข่ายวิทยุ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 2-3 พันล้านบาท/ปี (หรือคิดเป็นค่าเสื่อมราคาต่อปีเท่ากับ 256-375 ล้านบาท/ปีภายใต้สมมติฐานของการตัดค่าเสื่อมราคาตามอายุของใบอนุญาตของทีโอทีที่เหลืออีก 8 ปีจนถึงปี 2568) งบลงทุนคาดว่าจะประหยัดไปได้อย่างมีนัยสำคัญจากการเข้าใช้เสาสัญญาณของคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ซที่มีอยู่ ณ ปัจจุบันและเสาสัญญาณของคลื่นความถี่สัมปทานปัจจุบัน งบลงทุนรวมสำหรับปี 2560 ยังคงเท่าเดิมไม่เปลี่ยนแปลงที่ 1.7-2 หมื่นล้านบาท จำนวนคลื่นความถี่ในมือทั้งหมดที่ใช้งานได้จริงของ DTAC จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 51 เมกะเฮิร์ซ (ถ้าไม่รวมคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิร์ซและ 1.8 กิกะเฮิร์ซที่อยู่ภายใต้สัมปทานซึ่งจะหมดอายุลงในเดือนก.ย. 2561) ซึ่งถือว่าขึ้นมาใกล้เคียงกับคลื่นความถี่ จำนวน 55 เมกะเฮิร์ซของ ADVANC และ TRUE (สำหรับแต่ละราย) และเนื่องจากจำนวนผู้ใช้บริการ 4 จีของ DTAC มากกว่า 50% ที่มีเครื่องโทรศัพท์ที่สามารถรองรับคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซได้อยู่แล้ว เราจึงมองว่าไม่ใช่ปัญหาสำหรับจำนวนรุ่นของเครื่องโทรศัพท์ที่จะสามารถรองรับคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซได้ อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA ของ DTAC อยู่ที่ 1.14 เท่า ณ ปลายไตรมาส 1/60 ในขณะที่ข้อจำกัดของการดำรงอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA ของหุ้นกู้ของ DTAC อยู่ที่เกิน 2 เท่า ส่งผลให้เรายังคงไม่มีความกังวลแต่อย่างใด ณ ปัจจุบันเกี่ยวกับภาระหนี้สินที่อาจจะเพิ่มขึ้นตามมาในอนาคต