ชาวตรังร้องรัฐโค่นยาง แต่ยังไม่ได้รับค่าเวนคืนจากรัฐบาล

ชาวตรังร้องรัฐโค่นยาง แต่ยังไม่ได้รับค่าเวนคืนจากรัฐบาล

ชาวหนองตรุด ร้องโครงการขุดคลอง ปันน้ำแม่น้ำตรังทำชาวบ้านเดือดร้อน เหตุขอเวนคืนที่ดินชาวบ้านกว่า 700 ไร่พร้อมโค่นต้นยางทิ้งแต่กลับไม่จ่ายเงิน สุดช้ำใจทนเก็บเห็ดแครง บนขอนยางไปขายหารายได้ประทังชีวิต

เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 25 พฤษภาคม 2560 ตัวแทนชาวบ้านพื้นที่ 3 ตำบล คือ ต.หนองตรุด ,ต.บางรัก และต.นาโต๊ะหมิง อ.เมือง จ.ตรัง ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก จากโครงการขุดปันน้ำของชลประทานตรัง เนื่องจากเกือบทั้งหมดยังไม่ได้รับค่าเวนคืนที่ดิน และบางส่วนที่ได้รับแล้วก็น้อยกว่าราคาซื้อขายจริงในตลาด

 โดยเฉพาะชาวบ้านรวม 5 หมู่บ้าน ในตำบลหนองตรุด อ.เมือง จ.ตรัง ก็กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักเช่นเดียวกัน จากโครงการขุดลอกแม่น้ำตรังระยะทางยาว 7.55 กิโลเมตร และกว้าง 102 เมตร ใช้งบประมาณจำนวน 601 ล้านบาท ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 ถึงวันที่ 16 สิงหาคม 2561 แต่ผ่านมาปีกว่าแล้ว ชาวบ้านที่ต้องเวนคืนที่ดินบางส่วนให้กับสำนักงานชลประทานจังหวัดตรัง มีทั้งหมดจำนวน 233 แปลง หรือกว่า 200 ราย เนื้อที่ 747 ไร่ ได้รับค่าเวนคืนแล้วเพียง 107 แปลง เป็นเงิน 142 ล้านบาท ส่วนที่เหลือยังไม่ได้เงินเวนคืน ทั้งที่ ได้ตัดโค่นสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมัน เนื้อที่แต่ละคน 5 – 10 ไร่ เพื่อให้ผู้รับเหมาก่อสร้าง เข้าดำเนินการขุดลอกได้อย่างสะดวกแล้ว ทำให้ขาดรายได้วันละตั้งแต่ 500 – 1,000 บาท

 อีกทั้งการก่อสร้างก็เป็นไปอย่างล่าช้า น้ำเปลี่ยนทิศทาง ทำให้ชาวบ้านหวั่นว่าหากเกิดฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันจะมีน้ำท่วมซ้ำในพื้นที่ และจะทำให้พนังกั้นแม่น้ำตรังที่กำลังก่อสร้างพังทลายลงมา จนน้ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหายอีกครั้ง ซึ่งการขุดลอกคลองปันน้ำลงสู่แม่น้ำตรังในครั้งนี้ มีการสูบน้ำจากพื้นที่ขุดคลองทิ้งลงในสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมันของชาวบ้าน ส่งผลให้สวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมันมีน้ำท่วมสูงตั้งแต่ 10 - 20 เซนติเมตร ชาวบ้านจึงไม่สามารถกรีดยางพาราได้ ส่วนที่ตัดโค่นสวนยางไปแล้ว ต้องหารายได้จากการออกไปเก็บเห็ดแครงที่ขึ้นบนขอนต้นยางขายแทน ทำให้เกิดผลกระทบได้รับความเดือดร้อนตามมามากมาย ชาวบ้านจึงรวมตัวกันเรียกร้องให้ ครม. กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งอนุมัติเงินและจ่ายเงินค่าเวนคืนที่ดินให้กับชาวบ้าน และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ฯ ส่งตัวแทนมาพูดคุยทำความเข้าใจกับชาวบ้าน อ ย่าทิ้งให้ต้องเผชิญปัญหาอยู่ตามลำพัง

 ชาวบ้าน 2 ราย ที่ยังไม่ได้รับค่าเวนคืนที่ดิน กล่าวว่า เดิมได้รับแจ้งว่าจะได้รับเงินมาตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้ สวนยางก็ตัดโค่นไปแล้ว คนละ 5 ไร่ ๆละ 1.8 แสนบาท ไม่มีสวนยางให้กรีดอีกต่อไป และไม่มีเงินไว้ใช้จ่าย ทำให้ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ต้องออกไปเก็บเห็ดแครงที่ขึ้นตามขอนไม้ยางมาขาย หารายได้เลี้ยงครอบครัว

นายวิศาล เพชรคง ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า ชาวบ้านเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ชลประทาน เจ้าของโครงการมาพบ เพื่อขอคำตอบหลายครั้งแล้ว ก็ไม่ยอมมาพบ ทั้งนี้ ก่อนเริ่มโครงการเจ้าหน้าที่ชลประทานตรังเข้าไปพบชาวบ้านในพื้นที่ตลอดเวลา รวมทั้งพาชาวบ้านไปพูดคุยที่ศาลากลาง และอีกหลายพื้นที่ แต่หลังจากชาวบ้านได้เซนต์อนุมัติให้โครงการเริ่มดำเนินการขุดไปก่อนได้ กลับไม่เคยลงมาพบกับชาวบ้าน ที่ผ่านมาได้ไปพบและยื่นหนังสือร้องเรียนกับผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว โดยผู้ว่าเรียกชลประทานตรังมาสอบถามและตอบแก่ชาวบ้านว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับการอนุมัติงบประมาณจาก ครม. คาดว่า ครม.จะสามารถอนุมัติได้ภายในงบประมาณ 2560 นี้ ซึ่งเป็นคำตอบที่ทำให้ชาวบ้านไม่แน่ใจว่า ครม.จะอนุมัติหรือไม่ และหากไม่อนุมัติจะทำอย่างไร 

นอกจากนั้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาชาวบ้านได้ร่วมลงบัญชีหางว่าว ทำหนังสือร้องเรียนไปที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ก็ยังไม่ได้คำตอบเช่นกัน ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ส่วนชาวบ้านบางส่วนที่ได้รับค่าเวนคืนแล้ว แต่เห็นว่าราคาค่าเวนคืนดังกล่าวเพียงไร่ละ 1. 8 แสนบาท นั้น น้อยเกินไป เมื่อเปรียบเทียบกับราคาซื้อขายจริงในปัจจุบัน และมีการคิดอัตราค่าเวนคืนแบบเหมารวม ไม่คิดตามสภาพจริง ชาวบ้านที่มีที่ดินอยู่ในที่ราบ ไม่ใช่ที่ราบลุ่ม น้ำท่วมขังก็ได้ราคาเดียวกันหมด จึงมองว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงได้ดำเนินการร้องอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปภายใน 60 วัน นับจากวันที่ได้รับเงิน แต่ยังไม่ทราบผลอุทธรณ์เช่นเดียวกัน นอกจากนั้นขณะนี้เมื่อเริ่มโครงการและทางชลประทาน ได้เริ่มโครงการมีการสูบน้ำถ่ายเทไปอีกด้านหนึ่ง ผลปรากฏว่า น้ำทั้งหมดดังกล่าว เข้าไปท่วมขังพื้นที่สวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมันของชาวบ้าน

นางสาวเบญจวรรณ ด้วงนุ้ย อายุ 33 ปีชาวบ้านหมู่ 1 ต.หนองตรุดชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมสวนยางพารากล่าวว่า ของตนเองเนื้อที่ 5 ไร่ แต่ถูกน้ำที่ชลประทานสูบถ่ายเทลงไปเข้าท่วมขังพื้นที่ไม่สามารถกรีดยางพาราได้ มาตั้งแต่เดือนธันวาคมของปีที่ผ่านมา ทำให้ขาดรายได้วันละประมาณ 400 – 500 บาท หรือหากเดินลุยน้ำออกไปกรีดก็กลายเป็นโรคน้ำกัดเท่า ทำให้ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก

      ด้านนายพิณ ปานแดง หัวหน้าฝ่ายก่อสร้างที่ 3 สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 11 กรมชลประทานกล่าวว่า งบการจัดซื้อที่ดินของชาวบ้านที่จ่ายไปแล้วจำนวน 142 ล้านบาทและกำลังจะจัดสรรมาอีก 99 ล้านบาทแต่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่ง อบต.หนองตรุดได้ทำหนังสือให้เข้าชี้แจงกับชาวบ้านที่ยังไม่ได้รับเงินเวนคืนแล้ว โดยตนจะเข้าไปพูดคุยในเร็ว ๆ นี้ ส่วนสาเหตุที่งานล่าช้าจากที่ตั้งเป้าไว้ 38% เหลือเพียง 6% เนื่องจากติดขัดปัญหาน้ำท่วมที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 59 - มกราคม 60 และส่วนหนึ่งมาจากปัญหาชาวบ้านยังไม่ได้ค่าเวนคืนจึงยังไม่มีการส่งมอบพื้นที่ ส่งผลให้การทำงานเป็นไปอย่างล่าช้า