เร่งโครงการยักษ์แข่งเวลา ถนนทุกสายมุ่งสู่ 'อีอีซี'

เร่งโครงการยักษ์แข่งเวลา ถนนทุกสายมุ่งสู่ 'อีอีซี'

เร่งโครงการยักษ์แข่งเวลา ถนนทุกสายมุ่งสู่เขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

การประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 เร่งรัดให้เกิดการลงทุนในเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

รัฐบาลและคสช.ตั้งความหวังค่อนข้างมากต่ออีอีซี นอกจากจะช่วยเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมของประเทศเข้าสู่การใช้เทคโนโลยีชั้นสูงแล้ว ยังหนุนให้ประเทศไทยก้าวพ้นกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และจะช่วยเกิดการปฏิรูปเศรษฐกิจโดยรวม

หากย้อนกลับไปตั้งแต่ต้นปี จะเห็นได้ว่ารัฐบาลและคสช.เริ่มผลักดันโครงการ เมื่อมีคำสั่งคสช.แต่งตั้งคณะกรรมการและสำนักงานชั่วคราวอีอีซี จากนั้นอีกไม่กี่เดือนต่อมา คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติร่างกฎหมายเพื่อรองรับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา

ในขณะที่รัฐบาลและคสช.ผลักดันเชิงโครงสร้างของอีอีซี ทางด้านหน่วยงานปฏิบัติอย่างสำนักงานส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)และกระทรวงคมนาคม ได้ผลักดันมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายออกมาอย่างต่อเนื่องและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับ

สัญญาณจากรัฐบาลเริ่มชัดเจนขึ้นว่าจะเร่งโครงการนี้ให้เกิดในเร็ววัน เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.จัดประชุมคณะกรรมการนโยบายอีอีซี ที่สนามบินอู่ตะเภาและได้อนุมัติหลายมาตรการเพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนในพื้นที่

แต่จากคำสั่งคสช.ฉบับล่าสุดที่แก้ปัญหาความล่าช้าในเรื่องขั้นตอนต่างๆ ได้ย้ำให้เห็นว่ารัฐบาลต้องการให้อีอีซีเดินหน้าให้ได้ภายใต้รัฐบาลนี้ หรืออย่างน้อยให้เริ่มต้นเกิดการลงทุนในพื้นที่ตามเป้าหมายที่วางไว้

ในเรื่องแรก คือ การพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมแบบเร่งรัด(Fast Track) เนื่องจากกระบวนการที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ออกแบบไว้ใช้กับโครงการทั่วไป จึงใช้เวลานานและเนื่องจากผู้ได้รับใบอนุญาตมีน้อย รวมทั้งการให้ผลตอบแทนกับคณะกรรมการผู้ชำนาญการค่อนข้างต่ำ จึงทำให้ใช้เวลาค่อนข้างมากในการพิจารณา จึงเป็นกระบวนการที่ไม่เหมาะสมสำหรับโครงการเร่งด่วนในอีอีซี

ทั้งนี้ กำหนดให้เวลาพิจารณาดำเนินการให้แล้วเสร็จในเวลาไม่เกิน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับรายงาน

ในเรื่องที่สอง กระบวนการพิจารณาการร่วมทุนกับเอกชน หรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน ซึ่งกระบวนการร่วมทุนกับเอกชนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ใช้เวลานานมาก เพราะใช้กับโครงการทั่วไป ซึ่งแตกต่างจากโครงการสำคัญในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ที่เป็นประโยชน์สูงกับประเทศอยู่แล้ว เช่น โครงการเมืองการบินตะวันออก รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินและท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือสัตหีบ และท่าเรือมาบตาพุด เป็นต้น

ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงจำเป็นต้องกำหนดให้มี“กระบวนการทำงานการร่วมทุนกับเอกชน หรือ ให้เอกชนลงทุนในเขตส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก”โดยใช้เฉพาะกับโครงการเร่งด่วนสำคัญในอีอีซี ที่คณะกรรมการนโยบายอนุมัติ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วขึ้นโดยรักษาเจตนารมณ์ตามพระราชบัญญัติร่วมทุนกับภาคเอกชน

ในเรื่องที่สาม การเพิ่มสัดส่วนต่างชาติถือหุ้นเกินกว่ากฎหมายที่กำหนดในอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศกำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตหน่วยซ่อมต้องมีสัญชาติไทยคือ ต้องมีคนไทยถือหุ้นเกินกว่า 50%

แต่ปรากฏว่า กิจการหลายประการที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมเครื่องบิน อะไหล่และชิ้นส่วนอากาศยาน ส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่มีเทคโนโลยีสูงและมีสิทธิบัตรสำหรับผลิตภัณฑ์นั้นๆ จึงจะไม่ยอมลงทุนโดยมีผู้ถือหุ้นอื่นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

ด้วยเหตุดังกล่าว การจัดการให้มีคลัสเตอร์การลงทุนซ่อม อะไหล่ และชิ้นส่วนอากาศยานจึงจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงลักษณะของผู้รับใบรับรองซ่อมในอีอีซี ให้มีความคล่องตัวและสอดคล้องกับลักษณะธุรกิจการลงทุนนั้นๆ เป็นสำคัญ จึงขอเพิ่มเติมเรื่องผู้ขอใบรับรองหน่วยซ่อม

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (ครศ.) บอกว่ามาตรการที่ออกมาล่าสุดจะทำให้นักลงทุนรายใหญ่มีความเชื่อมั่นมากขึ้น คาดว่าจะมีธุรกิจรายใหญ่เข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ไม่ต่ำกว่า 30 ราย ภายในไตรมาส 1 ของปี 2561

นายคณิศ เชื่อว่าอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะมาลงทุน เช่น แอร์บัส ที่ได้ลงนามความร่วมมือตั้งศูนย์ซ่อมอากาศยานกับการบินไทยไปแล้วและมีแผนจะขยายไปซ่อมเฮลิคอปเตอร์อีกด้วย และอาลีบาบา ลงทุนในอีคอมเมิร์ซ คาดว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องพื้นที่เร็วๆนี้

"หากแอร์บัสตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทยแล้ว คาดว่าจะมีบริษัทลูกทั้งที่แอร์บัสถือหุ้น และผู้ผลิตชิ้นส่วนรายอื่นๆเข้ามาตั้งฐานการผลิตชิ้นส่วนในไทยด้วย เพราะจะต้องมีการประสานการทำงานอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะชิ้นส่วนที่ติดสิทธิบัตรใช้เทคโนโลยีขั้นสูง หากไม่เปิดให้ถือหุ้นเกิน 50%ก็จะดึงเข้ามาลงทุนได้ยาก เพราะติดเรื่องสิทธิความเป็นเจ้าของสิทธิบัตร ซึ่งการใช้ ม.44 แก้ไขปัญหาเหล่านี้ ก็จะทำให้ต่างชาติตัดสินใจเข้ามาลงทุนได้เร็วขึ้น" 

นายคณิศ กล่าวว่าการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมเครื่องบิน อะไหล่ และชิ้นส่วน อากาศยาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่มีเทคโนโลยีสูงและมีสิทธิบัตรสำหรับผลิตภัณฑ์นั้นๆ ดังนั้นเพื่อให้เกิดการลงทุนได้ตามเป้าหมาย จึงไม่จำเป็นต้องให้คนไทยถือหุ้นเกิน 50%เสมอไป

ส่วนอีกสองมาตรการ นายคณิศบอกว่าแนวทางการจัดทำ อีไอเอ และพีพีพี แบบใหม่นี้ หากประสบความสำเร็จก็จะใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย เพื่อให้การทำ อีไอเอ และ พีพีพี ในโครงการอื่นๆมีความรวดเร็วต่อไป

นอกจากนี้ ในวันที่ 26 พ.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน จะมีการนำเสนอโครงการพัฒนาท่าเรือ 3 แห่ง ในพื้นที่ อีอีซี ได้แก่ ท่าเรือมาบตาพุด แหลมฉบัง และสัตหีบ ซึ่งอาจจะมีการตั้งเขตส่งเสริมพิเศษเพิ่มขึ้นในท่าเรือเหล่านี้ รวมทั้งการขยายเส้นทางรถไฟรางคู่เชื่อมโยงทั้ง 3 ท่าเรือไปยังพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานด้านการลงทุน จึงเป็นโครงการที่ต้องเร่งรัด

“จากนั้นจะนำข้อสรุปที่ได้เข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ในวันที่ 16 มิ.ย.2560 ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณา”

หากติดตามการผลักดันอีอีซีตั้งแต่ต้น จะเห็นว่ารัฐบาล "เอาจริง" กับนโยบายนี้ ซึ่งจากนี้ไปอาจได้เห็นการเร่งผลักดันทุกมาตรการเท่าที่ทำได้ เรียกว่า "ถนนทุกสายมุ่งสู่อีอีซี" ในช่วงเวลาที่เหลือของการบริหารงานของรัฐบาลก่อนจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้า