“ดิจิทัล ทัวริสซึ่ม”ดันรายได้ท่องเที่ยว

“ดิจิทัล ทัวริสซึ่ม”ดันรายได้ท่องเที่ยว

นับตั้งแต่การจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ถูกขับเคลื่อนโดยเจ้ากระทรวงหญิงแกร่ง ที่ชื่อ “กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร” 

ในโอกาสที่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารประเทศครบ 3 ปี “กอบกาญจน์” เผยถึงผลงาน 5 เรื่องหลักที่ประเมินว่าเป็นผลงานเด่นว่า ผลงานเรื่องที่ 1 คือ การปรับฐานตลาดนักท่องเที่ยวสู่กลุ่ม “คุณภาพ” 

ผลงานที่ 2 ได้แก่ การใช้กลไกในเชิงกฎหมายบังคับใช้และควบคุมบริการธุรกิจท่องเที่ยว, โรงแรม และมัคคุเทศก์ ให้มีคุณภาพมากขึ้น เน้นการส่งเสริมให้ “เข้าสู่ระบบ”ปรับปรุงกฎหมายเปิดช่องให้โรงแรมที่ไม่เข้าเกณฑ์สามารถมาจดทะเบียนให้ถูกต้องตามระยะเวลาที่กำหนดเป็นต้น

ผลงานที่ 3 การกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ผ่านโครงการ 12 เมืองต้องห้ามพลาด และ 12 เมืองต้องห้ามพลาด...พลัส ที่ดำเนินการโดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กระตุ้นให้เกิดการเดินทางใน 24 เมืองรายรอบแหล่งท่องเที่ยวหลัก ในการดำเนินงานปีแรกนำร่อง 12 จังหวัดมีการเติบโตรายได้ท่องเที่ยวกว่า 14% และ 8% ตามลำดับในปี 2558 และ 2559 ส่วนอีก 12 เมืองในระยะต่อมา ในปี 2559 ทำรายได้เติบโตราว 9%

ผลงานที่ 4 การชูภาพลักษณ์การเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวเชิงกีฬา (สปอร์ต ทัวริสซึ่ม) โดยมีเป้าหมายระยะยาวเพื่อเป็นฮับที่มีชื่อเสียงระดับโลก

และผลงานที่ 5 การร่วมมือกับสมาชิกอาเซียนทำโครงการ “อาเซียน คอนเน็ค” ซึ่งเป็นประเทศแรกในกลุ่มสมาชิกที่ริเริ่มความร่วมมือเป็นรูปธรรม ภายใต้แนวคิด 2 ประเทศ 1 จุดหมาย (2 Countries 1 Destination) ด้วยการจับคู่ระดับทวิภาคีกับ เมียนมา, กัมพูชา, ลาว, เวียดนาม เพื่อทำแพ็คเกจทัวร์ร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้มีนโยบายที่ต้องเร่งขับเคลื่อนคือ "ดิจิทัล ทัวริสซึ่มด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ส่งเสริมการตลาดทำให้เกิดการกระจายตัวไปยังแหล่งท่องเที่ยวรองมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันต้องรักษาอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ และวัฒนธรรมดั้งเดิมของตัวเองไว้

ด้านมุมมองของ “อิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ในฐานะตัวแทนภาคเอกชนท่องเที่ยว เห็นว่า ทิศทางของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว นับว่ามีความชัดเจน โดยแบ่งเป็น 8 คลัสเตอร์ มีการใช้กลไกการขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการนโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) ถือว่าเป็นไปด้วยดี เช่นเดียวกับการกำหนดยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวคุณภาพ มากกว่าเน้นเชิงปริมาณ 

อย่างไรก็ตาม ยังเห็นว่ามีอีก 4 ประเด็นหลัก ที่ภาคการท่องเที่ยวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องปรับปรุง ได้แก่ 1.การพัฒนาบุคลากร เพื่อรองรับการท่องเที่ยวคุณภาพ ซึ่งยังไม่เพียงพอ และควรจะให้ความสำคัญต่อการผลิตบุคลากรด้านบริการทั้งในระบบ หมายถึงผ่านสถาบันการศึกษา และนอกระบบ ได้แก่ แรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมอยู่แล้วให้มีทักษะฝีมือและคุณภาพมากขึ้น 

2.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ให้สอดรับการการส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ผ่านโครงการ 12 เมืองต้องห้ามพลาด และ 12 เมืองต้องห้ามพลาด..พลัส เพราะหลายพื้นที่ พบว่ามีความต้องการเดินทางไป หลังการโปรโมท แต่ยังมีปัญหาการเข้าถึง ระบบขนส่งไม่พร้อม ไม่มีระบบป้ายบอกทางที่ชัดเจน เช่นเดียวกับการบริหารงานขององค์กรส่วนท้องถิ่น ที่ยังไม่เข้มแข็งพร้อมรองรับตลาดเพียงพอ ดังนั้น จึงต้องเข้าไปเตรียมความพร้อมให้กับท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวยั่งยืนมากขึ้น

3.ควรช่วยเร่งปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานบริการของผู้ประกอบการ ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเอสเอ็มอี ปัญหาหลักคือ ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาพัฒนายกระดับบริการหรือขยายตลาด เพราะธนาคารพาณิชย์มักมองว่าเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงจากปัจจัยภายในและภายนอก ทั้งๆ ที่มีส่วนสร้างรายได้ในสัดส่วนถึง 17% ของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี)

และสุดท้าย 4. การบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งหลายกรณีมีความย่อหย่อน เช่น ปล่อยให้สร้างโรงแรมผิดกฎหมาย หรือปล่อยให้เปิดดำเนินการ ปัจจุบันยอดโรงแรมที่ไม่ถูกต้องสูงกว่า 70% เทียบกับโรงแรมที่ถูกกฎหมายอีกไม่ถึง 30% ทำให้เกิดการแข่งขันไม่เป็นธรรม มองว่าเรื่องนี้ยังไม่เห็นการจัดการที่ชัดเจน