'หมอ-พยาบาล'ใครคิดว่าสบาย...งานหนักจนตายไร้ทางออก

'หมอ-พยาบาล'ใครคิดว่าสบาย...งานหนักจนตายไร้ทางออก

"หมอ-พยาบาล" ใครคิดว่าสบาย...งานหนักจนตายไร้ทางออก

เรื่องราวเศร้าๆ ของหมอจบใหม่ที่เสียชีวิตจากอาการป่วยเพราะทำงานหนักเกินไป ชีวิตประจำวันของพยาบาลสาว 1 คนที่ต้องง่วนอยู่กับการดูแลคนไข้ยาวนานเกิน 10 ชั่วโมง และข่าวพยาบาลที่ต้องสังเวยชีวิตเพราะประสบอุบัติเหตุขณะปฏิบัติหน้าที่ เหล่านี้คือแง่มุมชีวิตที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงนักของบุคลากรทางสาธารณสุขบ้านเรา และเมื่อชีวิตงานของพวกเขาถูกซ้ำเติมจากการไม่ได้รับบรรจุเป็นข้าราชการ ยิ่งทำให้ภาพชีวิตที่เป็นดั่งโศกนาฏกรรมเหล่านี้ถูกตีแผ่ให้สังคมได้รับรู้มากยิ่งขึ้น 

ตัวแทนจากสมาคมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ร่วมกับสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย และสมาคมพลังแพทย์ ได้จัดการประชุมเพื่อระดมสมองหาทางออกในปัญหาเหล่านี้ โดยมีผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ พยาบาล และบุคลากรในแวดวงสาธารณสุขเข้าร่วมพูดคุย 

ข้อมูลจากวงเสวนาพบว่า สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้บุคลากรทางการแพทย์เสียชีวิตระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ คือการทำงานอย่างหนักและต่อเนื่องยาวนานเกินไปโดยไม่ได้พักผ่อน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากจำนวนแพทย์และพยาบาลไม่เพียงพอ 

การศึกษาของสมาคมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมฯ เคยพบว่ามีแพทย์ที่ทำงานติดต่อกันสูงสุดถึง 120 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ขณะที่โดยเฉลี่ยแพทย์ทั่วไปก็ต้องทำงานถึง 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์อยู่แล้ว มากกว่าข้าราชการทั่วไปถึงเท่าตัว หากเทียบกับตำแหน่งงานอื่นๆ แพทย์ต้องทำงานตั้งแต่ 8 โมงเช้าไปถึงเที่ยงคืน แต่งานด้านสาธารณสุขยังมีความไม่แน่นอนของเวลาเพิ่มเข้าไปอีก 

เมื่อแพทย์และพยาบาลพักผ่อนไม่เพียงพอ ย่อมส่งผลให้มีภูมิคุ้มกันต่ำ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อจากคนไข้ โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อในระบบทางเดินหายใจ 

สำหรับโรคที่เป็นมากที่สุด ได้แก่ โรคปอดอักเสบล้มเหลวเฉียบพลันจากการได้รับสารพิษ และวัณโรค ที่อาจเรื้อรังจนถึงขั้นเสียชีวิต ขณะที่เชื้อโรคบางชนิดมีความซับซ้อน ทำให้ผู้ที่ติดเชื้อไม่รู้ตัวในทันที หรือกว่าจะรู้ก็สายเกินไปเสียแล้ว 

การที่แพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ เช่น พยาบาลบางส่วนไม่ได้รับโอกาสในการบรรจุเป็นข้าราชการ เมื่อพลั้งพลาดจากการทำงานจนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ยิ่งเท่ากับเป็นการซ้ำเติมพวกเขา เพราะไม่มีสวัสดิการของราชการรองรับเลย 

สำหรับทางออกของปัญหานี้ วงประชุมเห็นว่าควรแก้ไขเรื่องกฎหมายเพื่อกำหนดชั่วโมงการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งภาระงานของคนทำงานแต่ละตำแหน่ง ส่วนเรื่องเร่งด่วนที่สุดคือต้องดูแลสวัสดิการ ตลอดจนการปรับปรุงอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมในการทำงานให้ดีกว่าปัจจุบัน 

สำหรับปัญหาที่ยังค้างคาอยู่ในขณะนี้ คือการบรรจุเข้าเป็นข้าราชการ มีข้อเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการข้าราชการและบุคลากรสาธารณสุข แยกออกจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. เพื่อให้งานบริหารบุคคลของบุคลากรทางการแพทย์มีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดความสูญเสียของหมอ พยาบาลจบใหม่ เพื่อให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนางานด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนสืบไป