แจ้งเตือนริมฝั่งน้ำยม-คลองบางแก้ว พร้อมรับมือน้ำล้นตลิ่ง

แจ้งเตือนริมฝั่งน้ำยม-คลองบางแก้ว พร้อมรับมือน้ำล้นตลิ่ง

แจ้งเตือนผู้นำท้องถิ่น ประชาชน ในพื้นที่ลุ่มต่ำติดกับแม่น้ำยม คลองเมม คลองบางแก้ว รับมือสถานการณ์น้ำหลากที่อาจจะได้รับผลกระทบ 26-28 พ.ค.นี้

วันที่ 24 พ.ค.นายชำนาญ ชูเที่ยง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายม-น่าน ได้ประกาศแจ้งเตือนผ่านทางไลน์กลุ่มบริการน้ำคลองบางแก้ว แจ้งไปยังนายอำเภอ,ผู้นำท้องถิ่น และ กลุ่มผู้ใช้น้ำ และเกษตรกร ระบุว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศจะมีปริมาณฝนตกชุก โดยทั่วไป ระหว่างวันที่ 24-29 พ.ค.2560 โดยในภาคเหนือตอนล่าง ร้อยละ 70% ของพื้นที่ ซึ่งในพื้นที่ อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย อ.พรหมพิราม อ.เมือง อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก จะเกิดฝนตกหนักปริมาณมากในวันที่ 26-28 พ.ค 60 

ดังนั้นขอให้เตรียมการป้องกันพื้นที่ที่มีภาวะเสียง ต่อการเกิดน้ำท่วมขัง เช่น พื้นที่ลุ่มต่ำต่างๆ ที่ไม่มีทางระบายน้ำ และไม่สามารถระบายน้ำลงคลองต่างๆ ได้ และพื้นที่อาจจะเกิดภาวะน้ำเอ่อล้นตลิ่งในจุดที่มีตลิ่งต่ำ ในคลองเมม-คลองบางแก้ว และ ในแม่น้ำยมสายหลัก ขอให้มีการเสริมคันดินสร้างแนวป้องกัน และขอให้ประชาชน ทีมีบ้านเรือนอยู่ติดกับคลอง ขอให้เตรียมการขนของขึ้นที่สูง และขอให้คอยติดตามสถานการณ์น้ำ และการแจ้งเตือนจากหน่วยงานราชการต่างๆ ในพื้นที่

นายชำนาญ กล่าวว่า ฝนที่ตกหนักสัปดาห์ที่ผ่านมา 16-18 พ.ค.2560 แทบทุกอำเภอในเขตจ.สุโขทัย และ จ.พิษณุโลก ค่าปริมาณน้ำฝนตกในพื้นที่ประมาณ 170-200 มม. สูงเท่ากับค่าเฉลี่ยของฝนตกในเดือนพ.ค.ทั้งเดือน ส่งผลให้น้ำท่วมขังในเขตพื้นที่นาข้าวในเขตชลประทานยมน่าน 14,000 ไร่ สัปดาห์ที่ผ่านมา ชลประทานได้ระดมเครื่องสูบน้ำ 21 เครื่อง เครื่องจักรกลหนัก ระดมสูงน้ำจากนาข้าวอายุ 1 เดือนของเกษตรกร ขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำยมสายหลัก แม่น้ำยมสายเก่า คลองบางแก้ว คลองเมม อยู่ในระดับสูงมาก ประกอบกับมีน้ำจากกำแพงเพชร และสุโขทัย ไหลลงมาสู่อำเภอบางระกำ ดังนั้น ในช่วงวันที่ 26-28 พ.ค.2560 ที่คาดการณ์ว่าฝนตกหนักมากในเขตภาคเหนือตอนล่าง อาจจะส่งผลกระทบกับน้ำลมตลิ่ง จึงแจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่เตรียมรับมมือน้ำเอ่อล้นตลิ่ง

 ขณะนี้ ได้เร่งระบายน้ำออกสู่แม่น้ำยมสายหลัก ที่ประตูระบายน้ำคลองบางแก้ว ต.บางระกำ อ.บางระกำ ได้ยกบานประตูลอยออกทั้งหมด เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่แม่น้ำยม ขณะที่คลองDR2.8 อ.บางระกำ ได้เร่งผันน้ำจากแม่น้ำยมออกสู่แม่น้ำน่าน ในอัตรา 90 ลบ.ม.ต่อวินาที

สำหรับพื้นที่ปลูกข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำของลุ่มน้ำยมของจ.สุโขทัยและจ.พิษณุโลกนั้น ในปี 2560 นี้ ได้ดำเนินการปรับแผนปลูกข้าวให้เร็วขึ้น ตามแผนบางระกำโมเดล 60 เริ่มทำการเพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 เป็นต้นมา เพื่อจะเก็บเกี่ยวข้าวได้ทันก่อนฤดูน้ำหลากในวันที่ 1 สิงหาคม 2560 ขณะนี้เกษตรในพื้นที่ปลูกข้าวไปแล้ว 215,000 ไร่ หรือ คิดเป็น 95 % ของพื้นที่

ขณะที่นายวิบูลย์ ตั้งเกษมวิบูลย์ นายกเทศบาลตำบลบางระกำเมืองใหม่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก กล่าวว่า หากมีน้ำหลากจากจังหวัดสุโขทัย เข้าพื้นที่ อ.บางระกำ ยังถือว่าไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เนื่องจากยังมีแก้มลิงตามโครงการบางระกำโมเดล ไม่ว่าจะเป็นบึงระมาณ บึงตะเคร็ง และบึงขี้แร้ง ที่ยังสามารถกักเก็บน้ำได้อีกกว่า20ล้าน ลบ.ม. ถึงแม้ว่าจะอยู่คนละฝั่งของแม่น้ำยมสายเก่า แต่ถ้าหลากมาก ก็ยังมีแนวทางในการผันน้ำเข้าสู่ทั้ง3บึงได้ หรือ ถ้าหากน้ำมาจาก อ.พรานกระต่าย จ.กำแพงเพชร และ อ.คีรีมาส จ.สุโขทัย น้ำก็จะไหลตามคูคลอง เข้าสู่บึงทั้ง 3 แห่งได้เช่นกัน