‘อัษฎา หะรินสุต’เคลื่อนคนดันองค์กรร้อยปี

‘อัษฎา หะรินสุต’เคลื่อนคนดันองค์กรร้อยปี

มองคนไม่ใช่เครื่องจักร สูตรบริหาร'อัษฎา หะรินสุต'เคลื่อนองค์กร 125 ปี เชลล์แห่งประเทศไทย ด้วยความสนุก แปลงความท้าทายเป็นโอกาสของการเรียนรู้ ปูทางไปสู่การสร้างสังคมที่ดี

หลากธุรกิจกำลังพลิกโฉม จากสิ่งแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนไป อาทิ การเดินเข้าสู่ยุคดิจิทัล และเทรนด์ธุรกิจรักษ์โลกที่กำลังมาแรง เป็นต้น  

เช่นเดียวกับธุรกิจพลังงาน ที่ต้องเปลี่ยนตัวเองหันมาให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทน(Renewable Energy) มากขึ้น เป็นไปเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่ฟากหนึ่งเป็นการพลิกธุรกิจรอด ในห้วงที่ทรัพยากรธรรมชาติจากเชื้อเพลิงฟอสซิล อย่าง น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ กำลังจะหมดโลกในไม่ช้า พร้อมไปกับการรุกธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน (Non Oil) เพื่อเพิ่มกำไรต่อหน่วย (มาร์จิ้น) บริหารความเสี่ยงธุรกิจปิโตรเลียมที่มีราคาผันผวน

หนึ่งในนั้นคือ องค์กรร้อยปี อย่าง “เชลล์ แห่งประเทศไทย” บริษัทน้ำมันข้ามชาติแห่งแรกที่รุกธุรกิจจำหน่ายน้ำมันในไทยเมื่อ 125 ปีก่อน 

ผ่านคำบอกเล่าของ “อัษฎา หะรินสุต” ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด และกรรมการบริหารธุรกิจการตลาดค้าปลีก ภูมิภาคตะวันออก ผ่านไป 5 ปีของการนั่งเก้าอี้ประธานกรรมการ เชลล์ในไทย ทำให้เห็นถึงปฏิบัติการเชิงรุกในเรื่องเหล่านี้  

โดยเจ้าตัว เล่าว่า วันนี้การทำธุรกิจของเชลล์เปลี่ยนไป ไม่เฉพาะในไทยแต่เป็นทั่วโลก โดยมองไปที่พลังงานสะอาดมากขึ้น เห็นได้จากการที่ผ่านมาบริษัทแม่ “รอยัล ดัชเชลล์”  (Royal Dutch Shell) บริษัทพลังงานข้ามชาติ สัญชาติดัตช์และอังกฤษ เข้าร่วมทุนกับบริษัท โคซาน ผู้ผลิตไบโอดีเซล และเอทานอล รายใหญ่ในบราซิล หรือการเป็นต้นแบบในการให้บริการสถานีพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์(ปั๊มโซล่าร์เซลล์)ในรัฐแคลิฟอร์เนียร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา และการให้บริการสถานีพลังงานไฮโดรเจน บางประเทศในยุโรป เป็นต้น 

ในส่วนของธุรกิจนอนออยล์ บริษัทแม่ได้ให้นโยบายแก่บริษัทลูกทั่วโลก ให้มุ่งสร้างกำไรจากธุรกิจนี้ ให้เป็น 50% ให้ได้ในอนาคต ไม่เว้นในไทย ที่ขานรับนโยบายดังกล่าว ทำให้เชลล์ แห่งประเทศไทย กลับมาเดินเกมเชิงรุก ทั้งการขยายสถานีบริการน้ำมัน(ปั๊ม) ให้ครบเครื่องทั้งจำหน่ายน้ำมัน และธุรกิจค้าปลีก ผ่านร้านสะดวกซื้อ “เชลล์ ซีเล็ค” รูปแบบใหม่ๆ ร้านกาแฟและเบเกอรี่ “เดลี่ คาเฟ่” (Deli Cafe) เป็นต้น

 โดยสิ่งที่จะให้ความสิ่งสำคัญไม่ด้อยกว่าเนื้องาน คือ "คนทำงาน" ซึ่งถือเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้า 

"อย่างแรกที่ทำหลังจากผมมารับตำแหน่ง คือทำเรื่องเกี่ยวกับคนทั้งในองค์กร และคนที่มาร่วมงานกับเรา(เชลล์ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน พันธมิตร ผู้บริหาร เจ้าของปั๊ม ลูกค้าฯ เพื่อให้มีความสุขในการทำงาน" เขาบอก 

สอดคล้องกับคำขวัญของบริษัทที่ว่า Make Life’s Journey Better ซึ่งสิ่งนี้เกิดจากการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เมื่อเชลล์ทำสิ่งดีๆสิ่งเหล่านี้จะส่งทำให้ผู้คนและสังคมดีขึ้น ทำให้คนทำงานหรือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรู้สึก “ภาคภูมิใจ” ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเชลล์ 

นอกจากการทำให้ชีวิตผู้คนที่เกี่ยวข้องกับเชลล์ดีขึ้นแล้ว “อัษฎา” บอกว่า ยังต้องเปลี่ยน “วิธีคิด” (mindset) ของคนในองค์กรไปพร้อมกัน

“ถ้าเรามองจากวิธีคิดของเราภายในบริษัทเอง ก็ให้มองความท้าทายเป็นโอกาสของการเรียนรู้” ควบคู่กับการ “ตั้งเป้าหมายให้สูงเข้าไว้” เพื่อไขว่คว้า

"ตอนผมตั้งเป้าหมายจะเพิ่มยอดขายน้ำมันจากที่เคยขายอยู่ประมาณ 2 แสนลิตร เพิ่มเป็น 1 ล้านลิตร (เพิ่มขึ้น 5 เท่าตัว) ตอนนั้นมีแต่คนร้องว่า ทำได้ยังไง คิดว่าเป็นไปไม่ได้ The impossible dream”

ทว่ามันคือเส้นบางๆระหว่าง “ความฝัน” กับ “เป้าหมาย” 

ส่วนการตั้งเป้าให้สูง จะรู้ได้อย่างไรว่านั่น “สูงพอหรือยัง?” 

“สูงพอไหม ให้คุณก็ไปถามเจ้านายคุณ ว่าผมเซ็ตเป้าอย่างนี้ แล้วเมื่อไหร่ที่นายบอกว่า..อย่าเลย! มันสูงเกินไป”  หรือไม่อีกวิธีหนึ่งคือ “กลับไปถามภรรยาหรือสามีที่บ้านว่า..นี่เราจะฝันแบบนี้ แล้วเขาบอกว่าเป็นไปไม่ได้หรอก นี่!แค่นี้ก็สูงพอแล้ว”

ทว่าความฝันไม่อาจไปสู่เป้าหมายได้ภายในวันเดียว แต่นั่นจะเป็นหนทางที่จะช่วยให้เกิดการวางยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ การวางหมากรบธุรกิจให้ไปถึงจุดหมายนั้นให้ได้ !!

อัษฎา ยังประเมินว่า การทำงานหลายอย่างที่เชลล์ จากโจทย์ที่ให้ไป พบว่าคนทำงานเริ่ม “สนุก” กับงานที่ทำมากขึ้น 

อย่างปั๊มน้ำมันที่ขายน้ำมันดีเซล วีพาวเวอร์อย่างเดียว 100% ไม่มีใครในโลกที่คิดว่าเป็นไปได้ แต่สุดท้ายก็เป็นไปได้ มีการขยายเป็น 2 ปั๊ม และเป็นโมเดล ปั๊มแรกของเชลล์ทั่วโลก จากการทดลองทำตลาดมาปีกว่า ผลตอบรับเรียกว่า “ดีเกินคาด”

สำหรับการให้ความสำคัญในการบริหารจัดการเรื่องคนตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ช่วยทำให้เปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจของเชลล์ได้อย่างมีนัยยะ ซึ่งไม่ใช่แค่ในองค์กร แต่หมายรวมถึงพันธมิตร ผู้บริหาร เจ้าของปั๊ม ตลอดจนพนักงานในปั๊ม

หากคนทำงานมีความเชื่อว่าสนุกกับสิ่งที่ทำ อย่างร้านเดลี่คาเฟ่ที่อยู่ตึกชั้นล่างของบริษัทย่านพระราม4 ก็หมั่นไปชิม นำสินค้าใหม่ๆเข้ามาเติม การจัดสรรปันพื้นที่ให้เป็นศูนย์เชลล์ชวนชิม ทดลอง จำลองโมเดลธุรกิจไป สิ่งที่ดีก็นำไปพัฒนาต่อยอด

กับการทุ่มเททำงานเพื่อปลุกเชลล์ให้กลับมาผงาด สิ่งที่เป็น“แรงบันดาลใจ” สำคัญของอัษฎา คือ การได้พบเห็นผู้คนที่ “ด้อยโอกาส” โดยเขาเชื่อว่าหากธุรกิจของเชลล์ใหญ่ขึ้น บริษัทก็มีส่วนช่วยเหลือคนในสังคมได้มากขึ้น 

“ถ้าเรากลับบ้านแล้วไปเล่าให้คนที่บ้านฟังว่า วันนี้ขายน้ำมันได้กี่ลิตร คิดว่าจะสนุกไหม คนก็ไม่อยากฟัง แต่ถ้าไปเล่าว่าเด็กปั๊มโดนรังแก แต่ได้ช่วยเหลือเขา ให้กำลังใจ ทำในสิ่งที่ถูกต้อง หรือไปเยี่ยมเด็กที่ต่างจังหวัด ในปั๊มเชลล์ซึ่งมีพื้นที่ปลูกผัก แล้วมีลูกค้าเก็บผักและบริจาคเงิน และทำให้เด็กมีชีวิตชีวา มีความสุข ย่อมเป็นเรื่องที่น่าสนใจกว่า"

อัษฎา ร่วมหัวจมท้ายกับเชลล์มา 32 ปี สั่งสมประสบการณ์ทำงานในไทยและระดับโลก ความท้าทายของการบริหารธุรกิจวันนี้กับอดีตต่างกันมาก และการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆในเชลล์ก็มีมากเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มเข้ามาทำงานระบบบริหาร การตัดสินใจทุกอย่างเป็น “ระบบประเทศ” และเปลี่ยนเป็น “ระบบภูมิภาค” จากนั้นก็เริ่มเห็นการแบ่งสายธุรกิจในประเทศไทย มีผู้นำระดับภูมิภาคดูแล มีธุรกิจค้าปลีกต่างๆ กระทั่งปัจจัยเป็น “ระบบบริหารธุรกิจระดับโลก”

เช่นเดียวกับการซื้อและขายกิจการ ในไทยมีทั้งขายทิ้ง และซื้อเข้ามา ทุกกอย่างล้วนเป็นการเดินตามเป้าหมายและปรับตัวสู่โลกพลังงานในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ขณะที่การบริหารธุรกิจ 

เป้าหมายใหญ่สุดวันนี้ “อยากทำให้เชลล์แห่งประเทศไทย เป็นแบรนด์ที่คนไทยรักมากที่สุด แต่มันไม่ง่ายนะ”