Pod Art ...บทเพลงบนผืนผ้าใบ

Pod Art ...บทเพลงบนผืนผ้าใบ

“นี่คือ เพลงของผม เพียงแต่เปลี่ยนสื่อเท่านั้นเอง”

ใครที่ตามไอจี modernpod ของ ธนชัย อุชชิน หรือ ป๊อด โมเดิร์นด็อก คงคุ้นเคยกับภาพวาดที่สื่อความหมายแทนอารมณ์ของศิลปินนักร้อง นักแต่งเพลง นักออกแบบท่าเต้น ผู้มีความสามารถรอบด้านกันมาพอสมควร

แต่ก็มีผู้คนอีกมากมายที่ไม่รู้ว่าเขา วาดรูปทุกวัน วาดเหมือนเป็นไดอารี่บันทึกความรู้สึกนึกคิด POD ART นับเป็นนิทรรศการศิลปะครั้งแรกของ ป๊อด โมเดิร์นด๊อก ที่จะพาเราย้อนกลับไปพบกับบันทึกประจำวันของเขาเมื่อ 17 ปีที่แล้ว

ไม่ต้องเดางานนี้เป็นหนังยาวแน่ๆ เพราะ อังกฤษ อัจฉริยโสภณ ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการกำหนดแล้วว่ามี 3 ภาค แน่นอน ภาคแรกนี้พบกับ Past ส่วน Present และ Future โปรดติดตามเร็วๆนี้

17 ปีแห่งความหลัง

“วาดรูปเป็นความหลงใหลของผมตั้งแต่เด็ก ชอบศิลปะ และก็เรียนศิลปะด้วย ผมจบครุอาร์ต (คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย) จบปุ๊บเป็นนักร้อง มันฝังแฝงอยู่หาช่องออก หาเวลาออก คือมันมาๆไปๆ

ตอนปี 2543 ผมกำลังแต่งเพลงอัลบั้มชุดที่ 3 แต่แต่งไม่ออก ผมเลยย้ายที่ ย้ายถิ่น เลือกไปนิวยอร์กตอน

แรกไปเดือนเดียว ไปที่นั่นเริ่มสนุกกับชีวิต ลองไม่คิดเรื่องเพลง เราก็นำกระดาษมาปะโน่นแปะนี่ บันทึกเป็นงานคอลลาจในสมุด”

ป๊อด เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่บันทึกชีวิตประจำวันลงในสมุดเล่มเล็กที่ต่อมาค่อยๆหนาและฟูขึ้น เป็นไดอารี่เมื่อ 17 ปีก่อนที่เขานำออกมาขยายใหญ่เป็นภาพติดผนังด้านหนึ่งใน วูฟ แพค สเปซ(Woof Pack Space) แกลลอรี่ใหม่ที่เปิดตัวด้วยนิทรรศการ POD ART

“ผลงานในสมุดเล่มนี้กลายเป็นปกอัลบั้มชุดที่ 3 ด้วยนะ เราทำงานศิลปะแล้วกลับมาทำเพลง เหมือนเป็นการบาลานซ์กัน

ผมว่าบรรยากาศที่เปลี่ยนไปทำให้เราตื่นตัว ตื่นเต้น กับสิ่งใหม่ ผมว่าศิลปินก็เลยพาตัวเองไปอยู่ในเหตุการณ์ ใดๆที่สร้างแรงกระตุ้นให้ตัวเองด้วย”

การเขียนเพลงกับการวาดรูปสำหรับป๊อด มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ “ความรู้สึกที่เป็นอิสระ”

เขียนความร้็สึกเป็นภาพต่อเนื่องกันมา 3 -4 ปี “หลายครั้งผมทำงานบนมือถือเลย ใช้แอพพลิเคชั่นเพ้นท์ เวลารอเช็คอิน เข้าส้วม ผมก็เอามือถูๆไปมา แล้วโพสต์ไอจีได้เลย

มันค่อยๆเติบโตเราอยากเห็นมันเป็นชิ้น จับได้ ถือได้ เก็บได้ เริ่มเอามาลงกระดาษ ชิ้นแรกนั้นเป็นกระดาษใกล้ตัว จากนั้นก็เริ่มไปซื้อเฟรมที่เอ็มโพเรี่ยม

คือปกติเราเรียนศิลปะเราจะไปซื้ออุปกรณ์ที่อาร์ตช้อป อันนี้คือวิถีชีวิตจริงๆ คือ ดูหนัง แวะซื้อเฟรม ชั้น 5 คล้ายๆว่าเราไปซื้อสมุดไดอารี่มาจด ไม่ได้คิดว่าจะต้องซื้อสีเกรดอาร์ติสต์มาทำ”

อยู่กับปัจจุบัน อยู่กับตัวเอง

“ภาพที่เขียนเกิดจากความอยากวาด คือ แทบทุกชิ้นไม่ได้พูดเรื่องราวเลย เพราะเกิดจากความรู้สึกไม่เอาเรื่อง อยากจะออกจากเรื่องเลยออกมาเป็นงานนามธรรม ทุกภาพจะมีชื่อเป็นตัวเลข วัน เดือน ปี ที่วาด

บางภาพวาดเสร็จในวันเดียว บางภาพสองวัน ภาพเขียนมันอยู่กับปัจจุบัน บางทีเหมือนการดูตัวเอง ทุกครั้งที่เราหยิบสีคือสีที่เรารู้สึก เส้นที่เราลาก เป็นเส้นที่เรารู้สึก ไม่ว่าจะหนัก เบา สั้น อะไรก็แล้วแต่

อยากจะนำเสนอ ความรู้สึกนึกคิดของเราผ่านสื่ออีกแบบจากที่คนคุ้นเคย เป็นงานจิตรกรรมให้ทุกคนได้สัมผัส หวังว่าแต่ละคนจะได้รับความรู้สึกที่หลากหลาย เอนจอยกับความรู้สึกที่เรานำเสนอ”

เมื่อถามถึงสถานะของการเป็น “ไอดอล” ในยุคที่มีโซเชี่ยลมีเดีย ที่มีคนติดตามจำนวนมากมาย การโพสต์สเตตัสบนไอจี ด้วยผลงานศิลปะ จัดว่าเป็นการแสดงความรู้สึกอย่างระมัดระวังหรือไม่ ?

“ผมเลือกที่จะเสนอในด้านสร้างสรรค์ ผมคิดว่าทุกอารมณ์ที่เกิดขึ้นไม่มีผิดไม่มีถูกนะ ตราบใดที่เราไม่กระทบใคร แต่อารมณ์มันแปรรูปได้

บางครั้งความโกรธอยู่ในเพลง มันก็อยู่ในพื้นที่ของมัน ความเศร้าแทนที่เราจะไปกระทบกับคนรอบข้างแต่เรานำไปเขียนเพลงที่งดงาม

เราเลือกใช้ศิลปะเป็นตัวแปรของทุกอารมณ์ไม่ว่าจะบวกหรือลบ ทำให้เกิดชิ้นงานที่สร้างสรรค์

ผมเขียนเพลงไม่ได้ทุกวันนะ บางวันผมเขียนไม่ออกแต่เขียนรูปผมเขียนได้ทุกวัน แทบทุกวันถ้าไม่มีธุระต้องทำ ไปห้างฯซื้อเฟรม”

ภาพเขียนที่สื่อด้วยเส้นและสีที่มีน้ำหนักแปรเปลี่ยนไปแต่วัน นำมาวางอยู่เหนือเปียโนตัวนั้น แล้วถ่ายรูปโพสต์ให้เห็นในไอจี ไม่เพียงแต่จะเป็นบันทึกความรู้สึกนึกคิดของป๊อด โมเดิร์นด็อก แต่เพียงอย่างเดียว ยังส่งแรงกระเพื่อมมาถึงผู้ชมให้รู้สึกได้ถึงอารมณ์สร้างสรรค์ที่ศิลปินเปิดความเป็นอิสระให้ตามใจปรารถนา

ภัณฑารักษ์ 3 ภาค

อังกฤษ อัจฉริยโสภณ Ceo Art+Run ภัณฑารักษ์ผู้คัดสรรนิทรรศการ Pod Art กล่าวถึงความสนใจที่เขามีต่องานศิลปะของ ป๊อด โมเดิร์นด็อก ว่า

“ศิลปะแนวอิสระอย่างที่พี่ป๊อดทำ ไม่ค่อยมีในกระแสหลัก ถ้าเรานึกถึงงานศิลปะที่กรุงเทพฯเราจะนึกถึงงานประกวด งานของอาจารย์ งานศิลปะประเภททำกึ่งเล่นกึ่งจริงมีน้อย

ผมชอบงานอิสระ เพราะงานที่เป็นประเพณี ศิลปะแบบไทย มันซ้ำๆกัน นี่ชอบในฐานะคนดู เราคัดสรรในฐานะคนดู เวลาผมชอบศิลปินผมก็ไปเยี่ยมตามสตูดิโอ ไปขอดูงานเขา เป็นนิสัยส่วนตัวที่ชอบไปเที่ยวบ้านศิลปิน

เข้าไปดูงานที่คอนโดฯพี่ป๊อด เขาทำงานทุกวัน ทำงานเยอะกว่าศิลปินอาชีพที่ผมรู้จักก็แล้วกัน ผมคิดว่าเป็นความสนุกที่ทำงาน

ศิลปินอาชีพที่เรียนศิลปะ ทำงานศิลปะ อาจทำงานศิลปะเหมือนเป็นการงาน แต่นี่เป็นธรรมชาติเขาทำเล่นทุกวัน วาดเล่นทุกวัน ผมอยากพรีเซ้นต์ตรงนี้ ตรงงานศิลปะที่มีอิสระเสรีภาพ อยากวาดอะไรก็วาด ไม่จำเป็นต้องมีทุกอย่างเพอร์เฟ็ค หรือ มีคอนเซ็ปต์ไปทุกอย่าง”

ด้วยเหตุที่ศิลปินทำงานทุกวัน จึงมีผลงานเป็นจำนวนมาก ภัณฑารักษ์จึงออกแบบนิทรรศการออกเป็น 3 ภาค ได้แก่ past present และ future

โดยวางแนวทางในนิทรรศการครั้งแรกนี้ด้วยการย้อนกลับไปชมผลงานในช่วงแรกเมื่อ 17 ปีก่อน จากภาพคอลลาจในสมุดบันทึกประจำวันนำมาขยายให้ชม ต่อเนื่องด้วยภาพวาดแนวนามธรรมที่วาดต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาหลายปี

ในขณะที่ผลงานในปัจจุบันยังคงเก็บไว้สำหรับนิทรรศการภาคที่ 2 ซึ่งมีการวางแผนเอาไว้จนถึงภาค 3 สำหรับงานศิลปะในอนาคตเรียบร้อยแล้ว

“ผมอยากให้คนได้เห็นว่า พี่ป๊อดนอกจากเป็นนักร้องแล้ว เขายังเป็นนักแต่งเพลง เขาแต่งเนื้อร้อง แต่งทำนอง ออกแบบท่าเต้น นอกจากนั้นอ่านสปอตโฆษณา งานถ่ายภาพของเขาดีมาก งานเพ้นติ้งก็ดีมาก เป็นคนที่มีพรสวรรค์หลากหลาย

ผมอยากให้ผู้คนได้เห็นว่า ศิลปะ ไม่ใช่เรื่องที่ว่าคุณต้องเป็นอาจารย์ เป็นใครก็ได้ที่สนุกกับการวาดรูป

พี่ป๊อดเขาเป็น คุณสมบัติที่ดี ตามใจฉัน

ผมทำแกลลอรีมาระยะหนึ่ง พบว่าการแสดงงานปีละครั้งแล้วจบ มันไม่ต่อเนื่อง เหมือนออกมาอีลบั้มหนึ่งแล้วหยุดแล้ว งานนี้ผมคิดว่าทำงานเป็นซีรีส์ ทำเป็น 3 เอกซิบิชั่นกับ 3 แกลลอรีเลย ศิลปินจะได้มีคอมมิตเม้นท์ ว่าเขาจะต้องทำงานอย่างต่อเนื่องมีพัฒนาการตัวเอง

คนที่ตามตั้งแต่นิทรรศการแรกจะรู้เลยว่าศิลปินทดลองอะไร อันนี้เป็นสิ่งที่ผมอยากทำ อยากคิวเรทแบบ 3 ภาค ภาค 2 ผมจะนำไดอารี่ที่เขากลับไปนิวยอร์กอีกครั้งในปลายเดือนนี้ ซึ่งห่างจากครั้งแรก 16 ปี ผมว่าน่าสนใจ ว่าเขาจะเขียนรูปยังไงเมื่อกลับไปที่นั่นอีกครั้งหนึ่ง”

เกริ่นมาให้ตื่นเต้นอย่างนี้ ระหว่างรอภาค 2 เชิญพบกับภาคแรกของ Pod Art ได้วันนี้ - 26 มิถุนายน 2560 ที่วูฟ แพค สเปซ อาคาร วูฟ แพค (Woof Pack Building) ศาลาแดง ซอย 1 โทร. 08 9826 2299