สตาร์ทอัพไทยแลนด์ จุดพลุไต่เวทีโลก

 สตาร์ทอัพไทยแลนด์ จุดพลุไต่เวทีโลก

“ไอกรีนไทย” การปลูกพืชไร้ดินด้วยธาตุอาหารชีวภาพ, โซเชียลกิฟเวอร์-กิจการระดมทุนเพื่อสังคม, คิวคิว-ระบบจัดการคิวรูปแบบใหม่ ผู้ประกอบการที่จะอวดโฉมในงานสตาร์ทอัพไทยแลนด์ 2017

“ไอกรีนไทย” การปลูกพืชไร้ดินด้วยธาตุอาหารชีวภาพ, โซเชียลกิฟเวอร์-กิจการระดมทุนเพื่อสังคม, คิวคิว-ระบบจัดการคิวรูปแบบใหม่ ตัวอย่างผู้ประกอบการที่จะอวดโฉมในงานสตาร์ทอัพไทยแลนด์ 2017 ที่เริ่มปูพรมจากเวทีภูมิภาคตลอดเดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้ ก่อนที่จะมาปิดท้ายที่กรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิด Startup Thailand, Scale up Asia เตรียมความพร้อมขยายฐานสู่เวทีสตาร์ทอัพระดับโลกในอีก 3 ปีข้างหน้า


คอนเซปต์งานปีนี้มุ่งจุดประกายและสร้างความตื่นตัวในธุรกิจสตาร์ทอัพของไทย โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) วางเป้าหมายที่จะขยายฐานผู้ประกอบการเริ่มต้นในระดับภูมิภาคอาเซียนจนไปถึงระดับเอเชียและระดับโลก จะก่อให้เกิดการตื่นตัวของสตาร์ทอัพรวมทั้งระบบนิเวศที่จะเป็นกลไกขับเคลื่อนให้ประเทศก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง คาดว่าปีนี้จะมีผู้ประกอบการร่วมออกบูธ 305 รายเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเท่าตัว


มืออาชีพร่วมแบ่งปัน


ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในไทยมีไม่เกิน 100 แห่ง แต่ ณ ปัจจุบันขยับเพิ่มเป็น 600 กว่าราย และคาดว่าจะเพิ่มอย่างน้อย 1,200 รายในปีนี้ จากการรวบรวมข้อมูลของสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ ขณะที่ตัวเลขการลงทุนเฉลี่ย 1 ล้านดอลลาร์เพิ่มมากถึง35-40 ล้านดอลลาร์


ตัวอย่างผู้ประกอบการที่จะร่วมออกบูธในงานสตาร์ทอัพไทยแลนด์ 2017 BioBonics by I Green Thai การปลูกพืชไร้ดินด้วยธาตุอาหารชีวภาพ ที่ผ่านกระบวนการผลิตทางชีวภาพจากอินทรีย์ ผลงานจาก “ไอกรีนไทย” ใช้เทคนิคการปล่อยให้ธาตุอาหารชีวภาพไหลเป็นแผ่นบางๆ ที่ความหนา 0.5-1 เซนติเมตร ทำให้รากส่วนใหญ่ลอยอยู่ในอากาศ สามารถรับออกซิเจนเต็มที่ ด้วยกระบวนการผลิตธาตุอาหารจากธรรมชาติ ทำให้ผลผลิตปลอดภัยต่อผู้บริโภคและผู้ปลูกผัก รวมถึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม


Socialgiver พื้นที่ออนไลน์ที่สร้างประสบการณ์แบบใหม่ ทำให้การ “ช็อป” และ “ช่วย” กลายเป็นเรื่องเดียวกัน ให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคม ผ่านการเลือกซื้อสินค้าและบริการจากแบรนด์ชั้นนำในราคาสุดพิเศษจากทั่วประเทศ ทั้งยังเป็นโครงการในไทยที่ไต่บันไดความสำเร็จในเวทีโลกมาแล้ว เมื่อสตาร์ทอัพกลุ่มนี้สามารถฟันฝ่ากว่าพันโครงการมาเป็น 1 ใน 16 ทีม ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายในเวที The Venture 2015 การประกวดสุดยอดธุรกิจเพื่อสังคมระดับโลกที่ ซิลิคอน วัลเลย์ สหรัฐอเมริกา ที่มีเงินรางวัลสูงสุดถึง 1 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 32 ล้านบาท


QueQ ระบบจัดการคิวรูปแบบใหม่ที่จะทำให้การรอคิวไม่น่าเบื่ออีกต่อไป เป็นแอพพลิเคชั่นกลางสำหรับการจองคิว ไม่ว่าจะเป็น ร้านค้า ร้านอาหาร ธนาคารหรือโรงพยาบาล และกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ที่ต้องการระบบการจัดการคิวที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการเป็นหลัก ร้านค้าหรือบริการที่ต้องการเข้าร่วม ทางบริษัทก็จะนำระบบไปติดตั้งในจุดบริการคิว ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนของร้านได้มาก อีกทั้งตัวระบบยังรองรับการจองคิวผ่านหน้าร้านสำหรับลูกค้าที่ไม่สะดวกหรือไม่มีสมารท์โฟนอีกด้วย


วท.รับโอน 2.5 พันล้านจาก ศธ.


นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า มิ.ย.ที่จะถึงนี้จะได้รับโอนเงิน 2.5 พันล้านบาทจากกองทุนตั้งตัวได้ของกระทรวงศึกษาธิการ มายังกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ในความดูแลของ วท. เพื่อใช้ในโครงการพัฒนามหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ โดยดำเนินการร่วมกับ 30 มหาวิทยาลัยในการอบรมอาจารย์และจัดทำหลักสูตรการเป็นผู้ประกอบการ 8 หลักสูตร สำหรับนักศึกษา 30,000 คน ทั้งยังจัดพื้นที่ให้นักศึกษาเข้ามาใช้ในการพัฒนาธุรกิจใหม่ ตั้งเป้าให้มีการสร้างธุรกิจใหม่ 550 ราย


ทั้งนี้ ข้อมูลการศึกษาของ สนช.ระบุว่า สตาร์ทอัพ 1 หนึ่งควรจะได้รับเงินสนับสนุนอย่างน้อย 5 ล้านบาท ร่วมกับมาตรการทางการเงินที่รัฐให้การสนับสนุน ยิ่งถ้ามีเอกชน สถาบันการเงินเข้ามาร่วมด้วย จะยิ่งทำให้มีปัญหาเรื่องเงินทุนน้อยลงในระยะแรก ส่วนงานปีนี้มีกิจกรรมหลัก เช่น การปาฐกถาโดยวิทยากรระดับนานาชาติ เสวนาจากผู้เชี่ยวชาญ นิทรรศการเกี่ยวกับสตาร์ทอัพ พื้นที่บริการข้อมูลความรู้จากหน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัยและหน่วยงานจากต่างประเทศ เวทีการแข่งขัน (StartupPitching) และพื้นที่แสดงผลงานของผู้ประกอบการ
งานปีนี้จะจัดขึ้นที่ภูมิภาคก่อน เริ่มอันดับแรกที่ ชลบุรี 26-27 พ.ค.นี้ ตามมาด้วย สงขลา 2-3 มิ.ย. ขอนแก่น 9-10 มิ.ย. เชียงใหม่ 23-24 มิ.ย. และครั้งสุดท้ายที่กรุงเทพฯ 6-9 ก.ค.นี้