'เน็ตหมู่บ้าน'เสร็จเฟสแรกพ.ค.นี้

'เน็ตหมู่บ้าน'เสร็จเฟสแรกพ.ค.นี้

ทีโอที พร้อมส่งมอบ3พันหมู่บ้าน-ลั่นโครงการเน็ตประชารัฐสำคัญ

‘ทีโอที’ รับลูก ‘เน็ตประชารัฐ’ รัฐบาล ลั่นเป็นโปรเจ็คสำคัญสุด เผยที่ผ่านมาเดินหน้าเปิดประกวดราคาอย่างโปร่งใส เชื่อเสร็จครบตามคำสั่งกระทรวงดีอี 24,700 หมู่บ้านก่อนเดือนธ.ค. พร้อมส่งมอบก่อนเฟสแรก เดือน พ.ค.นี้

นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที กล่าวว่า โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม หรือโครงการเน็ตประชารัฐ เป็นโครงการที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างที่สุด ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เน้นย้ำว่าเป็นโครงการฯ ที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาในทุกด้านของประเทศ ทั้งนี้ ในส่วนของ ทีโอที ได้กำหนดเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดของบริษัท โดยทีโอทีระดมกำลังและเดินหน้าโครงการซึ่งมีความก้าวหน้าเป็นเป็นลำดับ

ทั้งนี้ ทีโอที เตรียมส่งมอบโครงการเน็ตประชารัฐ 3,000 หมู่บ้านทั่วประเทศให้ประชาชนได้ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงภายในเดือน พ.ค.นี้ และส่งมอบเดือนมิ.ย.จำนวน 2,800 หมู่บ้าน เดือนก.ย. 8,200 หมู่บ้าน และเดือนธ.ค. 10,601 หมู่บ้าน ยืนยันก่อนสิ้นปี ส่งมอบครบเพื่อให้ประชาชนและชุมชนใน 24,700 หมู่บ้านได้ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแน่นอน

โดยโครงการเน็ตประชารัฐนี้ ทีโอทีได้ดำเนินการอย่างโปร่งใส และพิจารณาการประกวดราคาจัดซื้ออุปกรณ์รองรับโครงการ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปตั้งแต่ปลายเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งตามแผนงานของทีโอที จะเร่งเดินตามแผนการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านสื่อสัญญาณเคเบิลใยแก้วนำแสง (เอฟทีทีเอ็กซ์) ไปสู่หมู่บ้านในพื้นที่ที่ไม่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ และยังไม่มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง มูลค่า 4,308 ล้านบาท

ทั้งนี้ ภาพรวมการประกวดราคาเมื่อพิจารณาและต่อรองราคาแล้วมีราคาต่ำกว่าราคากลาง คือ 3,225 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 25 หรือลดลง 1,049 ล้านบาท โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากกรรมการได้พิจารณาคุณสมบัติของผู้เสนอราคาต่ำสุด แล้วพบว่า มี 2 บริษัท ที่พลาดโครงการนี้ คือ บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) และ บริษัท ไนน์เน็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

โดยฟอร์ทตกคุณสมบัติทั้ง 5 รายการ ในสัญญาเคเบิลใยแก้วนำแสง เหตุอุปกรณ์รายการที่ 1 และ 2 เนื่องจากไม่มี ม.อ.ก. และรายการที่ 3,4,5 ไม่ยืนยันกำลังการผลิตทั้งๆ ที่ทีโออาร์ระบุชัด ทำให้ต้องนำผู้เสนอราคาต่ำสุดอันดับต่อไปและไม่ตกคุณสมบัติเป็นผู้ชนะแทน คือ The Consortium of B and K ชนะในรายการที่ 1, บริษัท ฟู่หยวน บิซิเนส จำกัด ชนะในรายการที่ 2 และกิจการร่วมไฟเบอร์ออฟติคไทย ชนะในรายการที่ 3 กับ 4 ส่วนรายการที่ 5 พบว่า บริษัทที่เหลือเสนอราคาแพงกว่าราคากลางทำให้ต้องทำการจัดซื้อจัดจ้างใหม่

ส่วนอีกบริษัท คือ ไนน์เน็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล นั้น พบว่า มีเอกสารบางรายการไม่ถูกต้อง ทำให้ต้องตกคุณสมบัติในสัญญาที่ 2 เรื่องอุปกรณ์ข่ายสายในรายการที่ 3 จึงประกาศให้ บริษัท โกลบอล เมช จำกัด เป็นผู้ชนะ ขณะที่ โกลบอล เมซ ก็ตกคุณสมบัติในรายการที่ 1 จึงประกาศให้ บริษัท ลี้ คิม เทรดดิ้ง จำกัด เป็นผู้ชนะ

ในรายการที่ 2 บริษัท อินเตอร์ลิงค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ผ่านคุณสมบัติและเป็นผู้ชนะ เช่นเดียวกับสัญญาที่ 3,4 และ 5 ผู้ที่เสนอราคาต่ำสุดผ่านคุณสมบัติทั้งหมดได้แก่ สัญญาที่ 3 อุปกรณ์ Optical Line Terminal (OLT) 4 รายการ คือ บริษัท แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอที จากราคากลาง 1,395,797,185 (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เสนอราคาต่ำสุดที่ 685,257,438 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ทำให้ไม่ต้องดึง บริษัท เอ็น อี ซี คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ เอ็น อี ซี ที่มีการแก้ราคาเจ้าปัญหาขึ้นมาแทน

นอกจากนี้ เอไอที ยังเสนอราคาต่ำสุดในสัญญาที่ 4 อุปกรณ์ Switch จากราคากลาง 286,380,150 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยเสนอราคา 169,743,268 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ส่วนสัญญาที่ 5.อุปกรณ์กระจายสัญญาณแบบไร้สาย Wireless Access Point ได้แก่ บริษัท เอสวีโอเอ จำกัด (มหาชน) จากราคากลาง 251,075,500 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เสนอ 240,125,441 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)