“ปฐม ออร์แกนิค คาเฟ่” ต้นน้ำชีวิตสีเขียวสู่คนเมือง

“ปฐม ออร์แกนิค คาเฟ่” ต้นน้ำชีวิตสีเขียวสู่คนเมือง

ทายาทธุรกิจโรงแรม “อนัฆ นวราช” หน่มอารมณ์ติสท์จากบ้านไปเรียนต่างแดนนานถึง 17 ปี ก่อนกลับมาสานต่อธุรกิจครอบครัว ต่อยอด “สามพรานโมเดล” สู่คาเฟ่สวนเขียวกลางกรุง แหล่งบอกเล่าเรื่องราวรอยยิ้มปลอดสาร

ยุคที่เศรษฐีมีที่ดินเก่าสวนกลางกรุง มักถูกแปลงไปเป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แต่สำหรับ "ฟี่- อนัฆ นวราช" ผู้จัดการทั่วไป สามพราน ริเวอร์ไซด์ กลับเลือกที่จะต่อยอดคุณค่าธุรกิจโรงแรมที่คนรุ่นก่อนหน้าสั่งสมไว้ ส่งต่อมายังลูกหลาน

หลังใช้ชีวิตในต่างแดนนานถึง 17 ปี เรียนมัธยม ต่อปริญญาตรี ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ประเทศอังกฤษ แต่กลับไม่ได้เป็นทูต เพราะมาค้นพบว่าตัวเองเป็นคนชอบถ่ายภาพ จึงลัดฟ้าไปเรียนต่อปริญญาโทด้านการถ่ายรูปที่ Pratt Institute USA New York หันมาเอาดีด้านการถ่ายทอดเรื่องราวผ่านเลนส์ เป็นอาจารย์สอนด้านถ่ายภาพที่วอชิงตัน ดี.ซี.

จนเริ่มคิดถึงบ้านเกิด กลับมาอยู่เมืองไทยเมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้ว มาช่วยพี่ชาย “อรุษ นวราช” กรรมการผู้จัดการ สามพราน ริเวอร์ไซด์ ในฐานะทายาทรุ่น 3 สานต่อธุรกิจครอบครัว "สามพราน ริเวอร์ไซด์" (โรส การ์เดนท์) โรงแรมเก่าแก่ อายุกว่า 54 ปีตั้งอยู่ริมแม่น้ำ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ให้ทันสมัยรับกับคนยุคใหม่ในสไตล์วิถีไทยร่วมสมัย (Thai Contemporary)

“กลับจากต่างประเทศ มาช่วยปรับภาพลักษณ์แบรนด์ เพราะทุกอย่างเก่า โรงแรมตั้งแต่รุ่นคุณตาคุณยาย เราก็มาช่วยทำให้ดูดี ไม่โบราณ ปรับอาร์ตเวิร์ค รีแบรนด์ ออกแบบ คุมโทนสี"

โดยใช้พลังคนหนุ่มและทักษะด้านการสร้างสุนทรียภาพ (Aesthetic) จุดมู้ดและโทนให้คนเข้าพักรู้สึกถึงคุณค่าความยูนิค ชิคๆ แบบไทยๆ ของโรงแรมเก่าแก่แห่งนี้เป็นจุดขาย มีเวิร์คช็อป กิจกรรมทำอาหาร ทำนา ปั้นดินเผา ร้อยมาลัย และแปลงเกษตรอินทรีย์

ไม่จบแค่เพียงเท่านั้น เพราะเมื่อพี่ชายวัย 50 ปี อินกับกระแสสุขภาพ และเทรนด์เกษตรอินทรีย์ (ออร์แกนิค) จึงชูโรงแรมให้มีอีกจุดขายเรื่องสินค้าปลอดสาร โดยใช้ที่ดินริมน้ำ 30 ไร่อีกฝั่งของโรงแรม ปลูกพืชอินทรีย์ ส่งให้กับโรงแรม

“เรายังร่วมกับชุมชนรอบจังหวัดนครปฐม และจังหวัดใกล้เคียงทั้งราชบุรี และกาญจนบุรี กว่า 11 ชุมชน เกษตรกร 220 คน รวมกลุ่มปลูกพืชอินทรีย์ และทำตลาดนัดสุขใจ เปิดพื้นที่รวบรวมเกษตรกรปลูกพืชผลอินทรีย์มาขายสินค้า"

เมื่อธุรกิจต้นน้ำเกษตรอินทรีย์มีสเกลที่ใหญ่ขึ้น เข้มแข็งขั้น จึงได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้จัดตั้งมูลนิธิ "สังคมสุขใจ" โดยมีผู้ชายของฟี่ เป็นเลขาธิการมูลนิธิ ขับเคลื่อน "สามพรานโมเดล" ต้นแบบช่วยส่งเสริมการเพาะปลูกเกษตรอินทรีย์ พร้อมกับทำตลาดรับซื้อ ในราคาเป็นธรรมแบบไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง จนกระทั่งได้ใบรับรองมาตรฐานระบบอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM)

กลุ่มธุรกิจโรงแรมสามพราน ยังนำผลผลิตเกษตรอินทรีย์ ไปแปรรูปเป็นเมนูอาหารเพื่อสุขภาพในโรงแรม

เป็นการเชื่อมคน ชุมชน และธุรกิจให้มาเจอกัน เกษตรกรได้เงินเยอะขึ้นไม่ถูกกดราคาพ่อค้าคนกลาง มูลนิธิอยู่รอดได้จากการบริหาร ผู้บริโภคและโรงแรมได้ของดีราคาเป็นธรรม ไม่ใช่เพียง CSR (โครงการรับผิดชอบต่อสังคม) แต่มันคือธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่ทุกคนได้เท่าเทียมกัน

ขณะที่ฟี่ยังเข้าไปต่อยอดผลิตภัณฑ์แปรรูป ของกิน ของใช้ จากวัตถุดิบเกษตรอินทรีย์ที่มี ภายใต้แบรนด์ “ปฐม” (PATOM) เริ่มต้นจากการผลิตสบู่ แชมพู ให้แขกที่เข้าพักในโรงแรมได้สัมผัสอัตลักษณ์เฉพาะของโรงแรม แต่เมื่อสินค้าเริ่มเป็นที่นิยมในวงกว้างไปสู่ลูกค้ากลุ่มอื่นๆ จึงเริ่มเพิ่มสินค้าธรรมชาติหลากหลายชนิด

จึงเป็นที่มาของการเปิดออแกนิคคาเฟ่ต์ ชื่อว่า ปฐม ออร์แกนิค ลีฟวิ่ง” (Patom Organic Living) โดยการปัดฝุ่นบ้านเก่ารุ่นตากับยาย กับสวนเขียวกลางกรุงย่านสุขุมวิท (ทองหล่อ 23) เนื้อที่ 300 ตารางวา ให้เป็นแหล่งพักใจ พักทำงาน ของครอบครัวและคนทำงานใจกลางเมืองที่ต้องการมาเติมเต็มชีวิตออร์แกนิคจากพืชผลผลิตภัณฑ์เกษตรไร้สาร อาหารคลีน

คาเฟ่ คือ แหล่งรวมผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิฯ เพื่อพัฒนาให้เป็นของกิน ของใช้ จากธรรมชาติ และปลอดสารแบบครบวงจร ตั้งแต่ พืชผักผลไม้ตามฤดูกาล ฝรั่ง ชมพู่ และข้าวกล่อง เมนูแบบไทย ผลิตภัณฑ์แปรรูป น้ำสมุนไพร รวมถึงของใช้ ครีม สบู่ และแชมพู ภายใต้แบรนด์”ปฐม” เพื่อให้คนเมืองในกรุงเทพได้เข้าถึงผลิตภัณฑ์ออแกนิค และได้สัมผัสแบรนด์จากธุรกิจสามพราน

ภาพที่วางไว้ต้องการทำให้ครบวงจรในร้าน มีทั้งของกินของใช้ ให้คนเมืองได้มีโอกาสได้เข้าถึงออร์แกนิคจากต้นน้ำจริงที่บอกแหล่งที่มาได้ว่าใครเป็นคนปลูก และให้คนได้รู้จักคุณค่าจากสามพราน เพราะนับวันสามพรานเริ่มห่างไกลคนเมืองมากขึ้น เขาเล่า

ขณะที่จุดแข็งของที่ร้านอยู่มีความยูนิค ตรงที่มีแหล่งต้นน้ำเป็นห่วงโซ่อุปทานชัดเจน

ร้านคาเฟ่แห่งนี้เป็นพื้นที่บอกเล่าเรื่องราวของเกษตรกรอินทรีย์ ใครปลูกอะไร และมีการเชื่อมโยงต้นน้ำชัดเจนมาถึงปลายน้ำ” เขาเล่าถึงคุณค่าที่ลูกค้ารู้สึกได้ของดี ราคายุติธรรมกลับไป และแบ่งปันคุณค่าคืนสู่เกษตรกร

นอกจากจุดเริ่มรวมตัวต้นน้ำแล้ว ยังเป็นการส่งต่อห่วงโซ่คุณค่ารอยยิ้มเกษตรปลอดสารให้ลูกค้าสุขใจได้ซื้อ บริโภคและแบ่งปันคุณค่า เพราะยอดขายในร้าน 3%จะถูกคืนให้กับมูลนิธิไปพัฒนาด้านเกษตรกรต่อ โดยหน้าร้านคิดกำไรจากราคารับซื้อเพียง7%

ความยุ่งยากของการทำร้านออแกนิคกลางกรุงอยู่ตรงที่จัดการวัตถุดิบจากชุมชน มาล้าง แพ็ค และแปรรูป แล้วจึงส่งมาในร้านปฐมในกรุงเทพ ซึ่งคาเฟ่ต์กลางกรุงแห่งนี้ลงทุนไป5ล้านบาท เปิดมา4เดือน ยอดขายราว1แสนบาทต่อเดือน ลูกค้าเข้าร้านประมาณวันละ100กว่าคน

เขาบอกว่าหากจะให้คืนทุนและอยู่ได้จริงจะต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า1ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งตามเป้าหมายคือภายใน3-5ปีจากนี้

ความยั่งยืนและทำให้ธุรกิจหมุนไปเรื่อยๆ คือ เกษตรกรอยู่ได้ เราก็อยู่ได้ เราต้องการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป หากเติบโตเร็วไป ของไม่เพียงพอก็ไม่มีประโยชน์"

แม้จะยังไม่คืนทุนแต่เป็นการป้องกันความเสี่ยง และเป็นการสร้างแบรนด์ให้คนรู้จักในวงกว้างมากขึ้นโดยมีหน้าร้านของตัวเอง ที่กำไรสูงกว่าการเข้าห้างสรรพสินค้าอื่นๆ

กลยุทธ์มีหน้าร้าน ยังสร้างโอกาสเพิ่มช่องทาง หาพันธมิตรธุรกิจที่คอเดียวกันมารับซื้อสินค้ากลุ่ม ของใช้ แชมพู สบู่ และครีมไปกระจายต่อ โดยแผนขั้นต่อไปที่เสริมทัพแบรนด์ “ปฐม” รับรู้และขยายไปในวงกว้าง เพิ่มรายได้อีกทาง คือ ส่งออกไปญี่ปุ่น และฮ่องกง รวมถึงการจำหน่ายให้กับโรงแรมที่ต้องการสินค้าออร์แกนิค ที่มีจุดขายตรงเรื่องราวเกษตรกรเช่นนี้

พื้นที่กลางกรุงแห่งนี้ ลูกค้าเข้ามาสัมผัสต่างต้องนึกขอบคุณในความมีจุดยืนของเจ้าของร้านที่ยังเก็บพื้นที่เขียวใจกลางกรุงมาทำคาเฟ่ต์ เป็นแหล่งพักผ่อนกลางกรุงแทนขายที่ให้คนไปพัฒนาคอนโดตึกสูงเต็มซอย

เพราะจุดยืนความชัดเจนของเขาที่หวังให้แบรนด์ "ปฐม" ลูกค้าเข้ามาพักใจแล้ว ยังเป็นตัวเริ่มต้นจุดประกายให้คนตระหนักรู้ถึงสุขภาพ ที่ต้องใส่ใจตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ และหันมาใช้ชีวิตแบบออร์แกนิคมากขึ้น 

ตลาดก็เติบโต เกษตรกรต้นน้ำยิ้มเปี่ยมสุข กับการเป็นแหล่งต้นน้ำปลอดสารให้คนกรุง