ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 22-26 พ.ค. 60

ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 22-26 พ.ค. 60

ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้น หลังกลุ่มโอเปคและนอกโอเปคมีแนวโน้มขยายมาตรการปรับลดการผลิต

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 48-53 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล  ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 50-55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล


แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ ( 22 – 26 พ.ค. 60)

ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าผู้ผลิตในกลุ่มโอเปคและนอกกลุ่มโอเปคจะสามารถบรรลุข้อตกลงการขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตจนถึงสิ้นสุดเดือน มี.ค. 61 จากเดิมที่สิ้นสุดในเดือน มิ.ย. 60 ในการประชุมของกลุ่มโอเปคในวันที่ 25 พ.ค. นี้ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องกว่า 6 สัปดาห์ติดต่อกันหลังโรงกลั่นเพิ่มกำลังการกลั่นขึ้นมาสู่ระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากลิเบียที่สถานการณ์ความไม่สงบเริ่มคลี่คลายลง ประกอบกับ กำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐ ที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

- จับตาการประชุมของผู้ผลิตทั้งในกลุ่มโอเปคและนอกกลุ่มโอเปคในวันที่ 24 – 25 พ.ค.60 ว่าจะมีการขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตจากเดิมหรือไม่ หลังซาอุดิอาระเบียและรัสเซียสนับสนุนให้ขยายระยะเวลาของข้อตกลงออกไปอีก 9 เดือนจนถึง มี.ค. 61 จากเดิมที่สิ้นสุดในเดือน มิ.ย. 60 เพื่อให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังส่วนเกินปรับลดลงมาสู่ระดับสมดุลที่ระดับค่าเฉลี่ยในรอบ 5 ปี และเพื่อให้ราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับที่เหมาะสม นอกจากนี้ ประเทศอื่นในกลุ่มโอเปคได้แก่ คูเวต อิหร่าน และเวเนซุเอลา ได้กล่าวสนับสนุนต่อข้อตกลงดังกล่าวเช่นกัน

- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ มีแนวโน้มปรับลดลง หลังโรงกลั่นในสหรัฐ เพิ่มกำลังการกลั่นขึ้นสูงสุดในรอบ 5 ปีสำหรับช่วงเวลานี้ที่ร้อยละ 93.4 เพื่อรองรับความต้องการน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาลขับขี่ของสหรัฐ โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ สิ้นสุด ณ วันที่ 12 พ.ค. 2560 ปรับลดลง 1.8 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 520.8 ล้านบาร์เรล ซึ่งนับเป็นการปรับลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 6 ติดต่อกัน

- ตลาดยังคงกังวลกับการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น จากการเปิดดำเนินการของแหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Sharara และ El Feel ส่งผลให้กำลังการผลิตของลิเบียปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับ 800,000 บาร์เรลต่อวัน ในช่วงสิ้นเดือน เม.ย. 60 ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2557 นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตของลิเบียคาดจะปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเร็วๆ นี้และคาดว่าจะปรับขึ้นมาอยู่ระหว่าง 1.1 – 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน หากสามารถแก้ไขสถานการณ์ขัดแย้งภายในประเทศลงได้

- ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐ ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐ ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 9.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งคิดเป็นการปรับเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 10 จากช่วงกลางปี 2560 จากรายงานของ Baker Hughes จำนวนแท่นขุดเจาะ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 12 พ.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 9 แท่น มาอยู่ที่ 712 แท่น ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ เม.ย. 60 นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากแหล่ง Bakken คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นหลังท่อขนส่งน้ำมันดิบ Dakota Access Pipeline จะเริ่มเปิดดำเนินการในเดือนนี้

- ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตและบริการยูโรโซน ดัชนีภาคการผลิตและบริการสหรัฐ GDP ไตรมาส 1 ปี 2560 และยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐ 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (15 – 19 พ.ค. 60)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 2.50 ดอลลาร์ มาอยู่ที่ 50.33 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 2.84 ดอลลาร์ มาอยู่ที่ 53.61 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 51.92 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากข่าวการขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปค หลังซาอุดิอาระเบียและรัสเซียสนับสนุนข้อตกลงดังกล่าว นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันคงคลังสหรัฐ ที่ปรับตัวลดลงราว 1.8 ล้านบาร์เรล จากการที่โรงกลั่นเพิ่มอัตราการกลั่นเพื่อรองรับความต้องการใช้ในช่วงฤดูร้อน ในขณะที่ การอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่หนุนราคาน้ำมันเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงกังวลกับปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐ ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องแตะระดับ 9.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน