'พาณิชย์'ตั้งคณะทำงานติดตามนโยบายการค้าสหรัฐ

'พาณิชย์'ตั้งคณะทำงานติดตามนโยบายการค้าสหรัฐ

"พาณิชย์" เตรียมตั้งคณะทำงานติดตามมาตรการทางการค้าของสหรัฐ พร้อมจับตา "จีน" เหตุเตรียมออกเซฟการ์ดขึ้นภาษีนำเข้าน้ำตาลอีก 45%

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์เตรียมตั้งคณะทำงานขึ้นมาเป็นการภายใน เพื่อติดตามมาตรการทางการค้าที่สหรัฐจะประกาศใช้  เบื้องต้นมี 2 ประเด็น ที่กระทรวงพาณิชย์ต้องเร่งแก้ไข คือ กรณีที่เอกชนสหรัฐได้แจ้งต่อสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลในเชิงลบ และขอให้สหรัฐใช้มาตรการทางการค้าที่เข้มข้นกับไทย ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมพร้อมเร่งด่วน และกรณีที่สหรัฐได้แจ้งต่อสภาคองเกรส เกี่ยวกับประกาศที่จะทบทวนการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟตา) กับแคนาดา และเม็กซิโก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงท่าทีของสหรัฐ ที่ต้องการแก้ไขปัญหา และเจาะลึกลงไปในพื้นที่มากขึ้น

"ประกาศที่ได้แจ้งต่อสภาคองเกรส นั้น สหรัฐจะเน้นเรื่องดิจิตัล เทรด โดยจะต้องปรับการค้าสหรัฐให้เข้ากับโลกสมัยใหม่ และการปรับบทบัญญัติเกี่ยวกับด้านทรัพย์สินทางปัญญา ภาคบริการ พิธีศุลกากร แรงงาน สุขอนามัย เอสเอ็มอี และสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่ต้องติดตามว่าสหรัฐจะมีมาตรการอะไรออกมาเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้หรือไม่ ส่วนการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด หรือเอดี ซีวีดีนั้น ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามดูเช่นกัน"

ส่วนกรณีที่จีน เตรียมประกาศใช้มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) สำหรับสินค้าน้ำตาลทราย โดยระบุว่า เป็นมาตรการบังคับใช้กับทุกประเทศ ที่จะส่งออกน้ำตาลไปยังจีน ทั้งกำหนดมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 45% ส่งผลให้หากมีการนำเข้าน้ำตาลนอกโควตา ต้องเสียฐานภาษีรวม 95% รวมอัตราภาษีเดิมที่กำหนดเรียกเก็บอยู่ 50% ด้วย ขณะที่การนำเข้าน้ำตาลในโควตา ยังคงจัดเก็บภาษีไว้ 15% เช่นเดิม

ทั้งนี้ การออกเซฟการ์ดส่วนใหญ่ เพื่อปกป้องสินค้าในประเทศ ที่อาจได้รับผลกระทบจากการนำเข้า โดยจีนกำหนดจะเพิ่มการจัดเก็บภาษีขึ้นอีก 45% แต่การนำเข้านั้น ยังแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือภายในและนอกโควตา ซึ่งในโควตา เสียภาษี 15% ดังนั้น หลังจากนี้ไป ผู้ส่งออกไทยอาจต้องเร่งการส่งออกน้ำตาลในโควตาไปจีน เพื่อลดต้นทุน เบื้องต้น ยอมรับว่า การส่งออกน้ำตาลของไทย จะได้รับผลกระทบแน่นอน แต่น้อยกว่า เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง อย่าง บราซิล และออสเตรเลีย ที่ต้องเสียค่าขนส่งมากกว่าไทย เพราะอยู่ไกลจีนมากกว่า