ทำไม อย่างไร วิถีสำเร็จของ ‘Globish’

ทำไม อย่างไร  วิถีสำเร็จของ ‘Globish’

โตแบบก้าวกระโดดสูงถึง 20% ต่อเดือนเลยทีเดียวสำหรับ “Globish” สตาร์ทอัพที่ช่วยให้คนไทยได้มีโอกาสฝึกพูดภาษาอังกฤษทาง “ออนไลน์” ที่สอนสดตัวต่อตัว กับโค้ชต่างชาติ

ต้องบอกว่าแตกต่างไปจากเมื่อครั้งที่ “กรุงเทพธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ผู้ร่วมก่อตั้งก็คือ “ชื่นชีวัน วงษ์เสรี” (จุ๊ย) และ “ธกานต์ อานันโทไทย” (ทรอย) เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา ซึ่งเวลานั้นเปรียบว่ากำลังอยู่ในช่วงของการไต่ระดับ แต่วันนี้..ติดลมบนแล้ว


“ตอนนี้กล้าพูดได้เต็มปากว่าเราเป็นคลาสสอนภาษาอังกฤษที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ไม่มีโรงเรียนหรือสถาบันไหนที่สอนได้มากถึง 100 คลาสต่อวันเท่ากับเรา”


และพวกเขาก็ได้มาแชร์ประสบการณ์ทั้งความล้มเหลวรวมถึงเคล็ดลับสำเร็จบนเวที “อินโน ทอลค์” ที่จัดโดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง


ช่วงเริ่มต้นมักต้องทดลองถูกทดลองผิด ต้องเผชิญความผิดพลาด ทรอยยอมรับว่า Globish เองเดิมทีก็มุ่งโฟกัสฝั่งซัพพลาย เพราะคิดว่าจำนวนอาจารย์สอน (โค้ช) มากที่สุดเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ผลลัพท์ก็คือ แม้โค้ชในพอร์ตจะมีมากถึง 300 คน แต่ในฝั่งของดีมานด์กลับเงียบมีนักเรียนไม่ถึง 30 คน


"เราเลยมานั่งถามตัวเองว่า ทำไมคนไม่มาเรียนกับเรา และคุยกันว่าต้องเริ่มใหม่จากการค่อยๆไปสัมภาษณ์ฝั่งลูกค้า เราไปตามสถาบันสอนภาษาต่างๆ เพื่อไปขอสัมภาษณ์ผู้เรียนว่าทำไมเขาจึงเลือกมาเรียนที่นี่ เรียนแล้วได้ผลหรือไม่ อย่างไร และถามว่าเขาสนใจจะเรียนทางออนไลน์ไหม เราต้องรู้คัสโตเมอร์อินไซต์จริงๆ"


และก็ยังทำให้รู้ว่าจุดสตาร์ท Globish ยังขาด “ความน่าเชื่อถือ” จึงต้องปรับแผนคือแทนที่จะขายคอร์สเอง เป็นการไปจับมือกับทางโรงเรียนและสถาบันต่างๆ ให้เป็นตัวแทนขายคอร์สเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ โมเดลนี้วิน-วินกันทั้งสองฝ่าย เพราะทางสถาบันสอนภาษาเองก็มีคอร์สทั้งออฟไลน์และออนไลน์นำเสนอลูกค้า สร้างความแตกต่างจากคู่แข่งได้เป็นอย่างดี


เมื่อให้แนะนำถึงวิธีเตรียมความพร้อมในการเริ่มต้นสตาร์ทอัพ ทรอยบอกว่า คงต้องหยิบยก แนวคิดวงกลม 3 วง ประกอบด้วยคำว่า why- how- what ของ “ไซม่อน ซินเน็ค” ผู้เขียนหนังสือ Start With Why และเมื่อขึ้นพูดบนเวที TED Talks ก็มียอดวิวหลายสิบล้านคนบนยูทูป


"why มีความสำคัญที่สุด ส่วนใหญ่ที่สตาร์ทอัพเจ๊งเพราะไม่มีเหตุผลที่เพียงพอ ส่วนคำว่า how นั้นคนที่ทำธุรกิจมาก่อนจะได้เปรียบมาก เพราะจะรู้ว่ามีช่องว่างธุรกิจอยู่ตรงไหน อะไรคือปัญหาที่แท้จริง อะไรคือความลับที่เรารู้แต่คนอื่นไม่รู้ และคำว่า what มันตามมาทีหลังเลย เช่น เรื่องเงินทุน หรือประสิทธิภาพของคนในทีม"


ด้วยแนวคิดนี้ พวกเขาก็เลยต้องหาถึงเหตุผลให้ได้ว่าทำไมคนไทยต้องสนใจมาเรียนพูดภาษาอังกฤษออนไลน์กับ Globish ซึ่งเริ่มจากการคิดใหญ่ ต้องการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และคิดว่าคนต้องเรียนเพื่อจะทำให้ชีวิตตัวเองดีขึ้น


จุ๊ยบอกว่า มันเป็นเหตุผลที่กว้างกระทั่งทำให้มองไม่เห็น ควานหากลุ่มลูกค้าไม่เจอ กระทั่งภายหลัง จึงได้พบว่า กลุ่มลูกค้าแท้จริงต้องการเรียนเพื่อป้องกันการ “เสียหน้า” และเสียตำแหน่ง” ในที่ทำงานต่างหาก


ลูกค้าของ Globish เป็นกลุ่มคนทำงานที่กำลังสู้รบปรบมือกับโลกยุค “โลกาภิวัฒน์” เช่น การมีเจ้านายและ มีเพื่อนพนักงานเป็นฝรั่งหรือคนต่างชาติ หรือมีลูกน้องที่เป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง เก่งรอบตัวทั้งภาษาทั้งเทคโนโลยีและกำลังจะแซงหน้า ฯลฯ หลักสูตรของ Globish จึงพัฒนาเพื่อตอบสนองคนกลุ่มนี้ ซึ่งมีความหลากหลาย (คลิกดูรายละเอียดที่เว็บไซต์ Globish)


อะไรคือปัญหาที่ทำให้คนเรียนภาษาแล้วไม่ประสบความสำเร็จ? ทรอยบอกว่า จากที่มีโอกาสพูดคุยกับนักเรียนพบว่า เกิดจากปัจจัยทั้งที่ควบคุมได้และไม่ได้ ซึ่งมีอยู่ 4 เรื่อง โดยเรื่องแรก เป็นเรื่องของความชอบและไม่ชอบภาษาอังกฤษ เห็นได้ชัดว่าคนที่ชอบมักจะเรียนรู้ได้เร็วกว่า คำแนะนำก็คือ ถ้ารู้ว่าตัวเองเป็นคนชอบดูหนัง หรือชอบฟังเพลงก็ขอให้ฟังเพลงภาษาอังกฤษหรือดูหนังภาษาอังกฤษไปเลย เลือกสิ่งที่เราชอบแล้วแปลงเป็นภาษาอังกฤษ


เรื่องที่สอง เป็นเรื่องของมีโอกาสและไม่มีโอกาส อันเนื่องจากค่าเรียนที่มีราคาแพง หรือไม่มีเวลาเพียงพอ หรือเพราะไม่รู้จัก ไม่รู้ว่าควรไปเรียนที่ไหน อย่างไรก็ดี คำว่าโอกาสที่ดีที่สุดของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน บางคนการได้มาเรียนที่ Globish ถือว่าเป็นโอกาสดีที่สุด ขณะที่บางคนเป็นการซื้อหนังสือมาอ่านเองที่บ้าน


เรื่องที่สาม เป็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวเราเองกับภาษาอังกฤษ ซึ่งจะมีคุณครู ,เพื่อน หรือกระทั่งสามีและ ภรรยาทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมเข้าหากัน สุดท้ายก็คือ สิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆตัว ซึ่งเราต้องพยายามเปลี่ยนให้เป็นภาษาอังกฤษ เช่นเปลี่ยนคำสั่งบนมือถือหรือในแอพเพื่อทำให้ทุกอย่างรอบๆตัวเราไม่ใช่ภาษาไทย


จุ๊ย เชื่อมั่นว่าไม่ว่าใครก็ สามารถเริ่มต้นได้ ไม่ใช่เฉพาะคนรุ่นใหม่ สตาร์ทอัพก็เหมาะกับคนรุ่นเก๋าที่มีอายุขึ้นหลัก 4 ไปแล้ว ที่ผ่านการทำงานในอุตสาหกรรมใดอุตสากรรมหนึ่งมาเป็นเวลานาน และได้พบเจอและรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมนั้นๆเป็นอย่างดี


"การมาทำธุรกิจใหม่หรือสตาร์ทอัพ มันอาจไม่จำเป็นต้องเป็นไอเดียที่ดีที่สุดในโลก หรือครีเอทีฟที่สุดในโลก แต่สามารถแก้ปัญหาในอุตสาหกรรมที่เราทำอยู่ได้ เช่น นักบัญชีหรือหมอ ถ้ารู้ว่ามีช่องโหว่หรือเพนในอาชีพอยู่ตรงไหน และสามารถคิดโปรดักส์มาแก้ปัญหาได้ ก็ถือว่าเป็นสตาร์ทอัพที่ดีที่สุด"


ในความคิดของทรอยนั้นมองว่า ทีม Globish ไม่ได้เก่งกว่า ไม่ได้มีเทคโนโลยีเจ๋งกว่าคนอื่น แต่มีความบริสุทธิ์ใจ มีความตั้งใจทำจริง เลยทำให้มีที่ยืนเช่นในวันนี้


" ผมมองว่าเซ็คเตอร์ธุรกิจที่น่าสนใจที่สุดสำหรับประเทศไทยในเวลานี้ก็คือ หนึ่ง การศึกษา สอง ด้านเกษตร สาม ด้านสุขภาพ ซึ่งคนยังทำน้อยมาก สตาร์ทอัพด้านการศึกษาของไทยที่คุ้นหูจริงๆมีแค่สองสามเจ้า แต่ที่อินเดียเขามีร่วมสองพันรายแล้ว"


เพราะถ้าเจาะลึกเฉพาะตลาดสอนภาษาอังกฤษ ภาพรวมตลาดประเทศไทยมีมูลค่าราว 1.1 หมื่นล้านบาท มีคนเรียนทั้งออนไลน์และออฟไลน์อยู่ประมาณ 7.4 แสนคน และเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ไม่นับรวมตลาดติวสอบเข้ามหาวิทยาลัย ในที่นี้ตลาดออนไลน์มีสัดส่วนอยู่แค่ประมาณ 10% และมีข้อดีเพราะมันเติบโตถึงปีละ 20-30 %


“ ถ้ามีการทำธุรกิจการศึกษามากเท่าไหร่ถือว่าเป็นคีย์โดยตรงในการพัฒนาคนไทย ผมอยากให้มีคนมาทำเยอะๆ และไม่ถือว่าจะมาเป็นคู่แข่ง”

5 ปีข้างหน้าจะเข้าตลาดฯ


"เราเริ่มวางแผนกันว่าจะพาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ภายในปี 2021 ปัจจุบันการเติบโตของเราสูงถึงเดือนละ 20% ทั้งที่ดำเนินการมาเป็นปีที่สอง และสิ้นปีนี้เราจะทำรายได้แตะ 20 ล้านบาทให้ได้"


บนเส้นทางนี้ จะเริ่มด้วยการขยายฐานตลาดเดิมคือบีทูซี นอกจากคนทำงานจะรุกไปยังกลุ่มเด็กอายุ 4-8 ขวบ เหตุผลเพราะช่วยทำให้เด็กพูดสำเนียงบริติชและอเมริกันได้เป๊ะเวอร์ รวมถึงพัฒนาฟีเจอร์ ฟังก์ชั่นต่างๆอย่างต่อเนื่อง เช่นการพัฒนาคลาสที่เป็นการเรียนการสอนแบบ 1:10 หรือ 1:5 เรียนเป็นกลุ่มเพื่อนักเรียนจะได้มีการสนทนาซึ่งกันและกัน รวมถึงจะทำเครื่องมือวัดผลการเรียนที่สามารถออกใบประกาศนียบัตร ผู้เรียนนำเอาไปใช้ในการทำงานหรือหางานได้


ทั้งวางแผนจะขยายเข้าสู่ตลาดบีทูบี กลุ่มคอปอเรท และเอสเอ็มอี จากนั้นก็จะไปต่อที่ตลาดประเทศอินโดนีเซียและเวียดนาม (มูลค่าตลาดนี้ของไทย อินโดนีเซียและเวียดนามรวมกันราว 5.5หมื่นล้านบาท)


ล่าสุด Globish เป็น 1 ใน 12 ทีมที่เข้ารอบโครงการดีแทค แอคเซอเลอเรท ปี 5 และคาดว่าภายในระยะเวลา 4 เดือนโครงการนี้จะติดอาวุธเร่งการเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า อีกทั้งมีแผนจะเปิดระดมทุนรอบใหม่ (พรีซีรีส์เอ) ซึ่งเป็นเม็ดเงินประมาณ 92 ล้านบาท