ทีวียุคเซ็กเมนท์ปั้นคอนเทนท์เรือธง

ทีวียุคเซ็กเมนท์ปั้นคอนเทนท์เรือธง

“ทีวีดิจิทัล”ช่องใหม่ ครบรอบออกอากาศ 3 ปีในเดือน พ.ค.นี้ พบการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนทั้งการนำเสนอเนื้อหาและเรทติ้งช่อง ที่มีความชัดเจนด้าน คอนเทนท์“เรือธง”(Flagship content)ดึงดูดผู้ชม  

สินธุ์ เภตรารัตน์ กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจมีเดีย นีลเส็น (ประเทศไทย) กล่าวว่าในยุคทีวีอนาล็อก ที่มีฟรีทีวีจำนวนไม่มาก รูปแบบการนำเสนอรายการจึงเป็นลักษณะ “วาไรตี้” มีรายการครบทุกประเภท  โดยช่องผู้นำเรทติ้งมีคอนเทนท์แม่เหล็กอยู่ที่ “ละคร”

ในยุคทีวีดิจิทัลที่มีช่องเพิ่มขึ้นเป็น 22 ช่องในปัจจุบัน ทำให้เกิดการแข่งขันสูง แต่ "คอนเทนต์คือราชา"และเป็น"กุญแจ"สำคัญไปสู่ความสำเร็จและทำให้ผู้ประกอบการอยู่รอดได้  

พบว่าในช่วง 3 ปีของทีวีดิจิทัล  ช่องผู้นำ “ช่อง3และช่อง7”ยังคงชัดเจนที่กลุ่มละครคุณภาพ

ขณะที่“ช่องใหม่” มีการพัฒนาคอนเทนท์ที่แตกต่างและสามารถสร้างเรทติ้งผู้ชมติดในกลุ่มท็อปเทน ทำให้ผู้ชมมีตัวเลือกที่หลากหลายจากยุคอนาล็อก

จากการวิเคราะห์เรทติ้งไตรมาสแรกปีนี้ ของช่องเวิร์คพอยท์ ที่มีจุดเด่นอยู่ที่รายการประกวดความสามารถ(ทาเลนต์โชว์) และเกมโชว์ ซึ่งมีทั้งที่พัฒนารายการเอง และซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนท์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากเกาหลีใต้ ที่รูปแบบรายการถูกรสนิยมผู้ชมไทย รายการที่ประสบความสำเร็จอย่าง The Mask Singer ทำเรทติ้งดีที่สุดอยู่ที่ 17.4 ขณะที่ค่าเฉลี่ยเรทติ้งรายการประเภทเดียวกันในกลุ่ม Light Entertainment มีตัวเลขอยู่ที่ 1.5

ส่วนช่องโมโน จุดเด่นภาพยนตร์ เรทติ้งสูงสุดคือ Premium Blockbuster อยู่ที่ 6.5 ในขณะที่ค่าเฉลี่ยเรทติ้งรายการประเภทเดียวกันอยู่ที่ 0.8  ช่องวัน รายการศึกวันดวลเพลง เรทติ้งดีที่สุดอยู่ที่ 7.2 ขณะที่ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.5 สำหรับช่อง8 รายการ 8 Maxx มวยไทย มีเรทติ้งดีที่สุดอยู่ที่ 7.8 ค่าเฉลี่ยของรายการประเภทเดียวกันอยู่ที่ 1.0 ช่องอมรินทร์ มีรายการทุบโต๊ะข่าว มีเรทติ้งดีที่สุดอยู่ที่ 3.7  ส่วนค่าเฉลี่ยของรายการประเภทเดียวกันที่ 0.3 

ปัจจุบันกลุ่มผู้นำเรทติ้งท็อปเทน ถือว่ามีคอนเทนท์เรือธงที่ชัดเจน

ท่ามกลางการแข่งขันสูงในสื่อทีวีที่มีฟรีทีวีช่องใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทำให้“ทีวี”แต่ละช่องต้องวาง“เซ็กเมนท์”ของสถานีและกลุ่มผู้ชมให้ชัดเจน เพื่อพัฒนาคอนเทนท์ตอบโจทย์ความสนใจของกลุ่มดังกล่าว เชื่อว่าหากสามารถเข้าถึงฐานผู้ชมในแต่ละเซ็กเมนท์ได้อย่างชัดเจน มีโอกาสที่จะได้เม็ดเงินโฆษณาจากสินค้าที่ต้องการสื่อสารกับกลุ่มดังกล่าว ในต่างประเทศสื่อทีวี นำเสนอคอนเทนท์รูปแบบเซ็กเมนท์ทีวี หลากหลายรูปแบบ เช่น ช่องกีฬา, ทำอาหาร ,เลี้ยงสัตว์,ตกแต่งบ้าน  ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้ชมเช่นกัน 

“การอยู่รอดของทีวีดิจิทัล แต่ละช่องต้องมีคอนเทนท์แตกต่างดึงดูดผู้ชม มีบุคลิกที่ชัดเจน ไม่เลียนแบบหรือทำซ้ำ”

ทางด้าน สร เกียรติคณารัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มวางแผนกลยุทธ์และนวัตกรรม ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส ประเทศไทย ให้มุมมองว่าทีวีดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการแข่งขันสูง ขณะที่ผู้นำฟรีทีวีเดิมยังแข็งแกร่งในกลุ่มรายการละคร ซึ่งเป็นคอนเทนท์ที่ได้รับความนิยมจากผู้ชมไทยมากที่สุด 

ดังนั้นการพัฒนารายการทีวี จึงควรมุ่งไปที่การวาง“เซ็กเมนท์”ผู้ชม เพื่อสร้าง“จุดยืน”ของช่อง หากสร้างฐานผู้ชมได้ชัดเจนในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จะมีสินค้าและแบรนด์ที่ต้องการสื่อสารกับกลุ่มดังกล่าว พร้อมใช้งบโฆษณากับสถานี

“ทีวีต้องพัฒนาเนื้อหารายการที่มีความชัดเจน สดใหม่ และโดนใจผู้ชม เพื่อดึงดูดคนดู สร้างเรทติ้งและโอกาสชิงเม็ดเงินโฆษณา”