‘ดีป้า’เร่งแผนผุดสตาร์ทอัพเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

‘ดีป้า’เร่งแผนผุดสตาร์ทอัพเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

ดีอี ปักหมุด “ดีป้า” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตั้งเป้า 20 ปี มีสตาร์ทอัพดิจิทัล 500,000 ราย แก้โจทย์ประเทศได้เห็นผลใช้ได้จริง

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลฯ มีเป้าหมายพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยทุกมิติด้วยดิจิทัลและนวัตกรรม โดยเศรษฐกิจไทยอีก 20 ปีข้างหน้าจะไม่เหมือนเดิมจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปมาก มีเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์  มีแอพพลิเคชั่นให้เลือกใช้ ดาวน์โหลดได้ง่าย

ขณะที่ภาครัฐใช้อิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้ เช่น ระบบ อีกอฟเวิร์นเม้นท์ ซึ่งอนาคตต้องคิดกันว่าจะให้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างไรบ้างกับอีกอฟเวิร์นเม้นท์ของรัฐบาลลักษณะบริการที่ยั่งยืน 

“การปรับปรุง เปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่กำลังเกิดขึ้น เป็นการเปลี่ยนผ่านประเทศครั้งสำคัญ การเคลื่อนย้ายจากสังคมหนึ่งไปอีกสังคมหนึ่งด้วยการเข้าถึงข้อมูล การบริการต่างๆ ด้วยดิจิทัลและนวัตกรรม ดูเหมือนเป็นงานที่หนักและยาก แต่ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าเราร่วมมือกันบูรณาการตามโรดแมพประเทศ เพื่อให้นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลขับเคลื่อนอย่างเต็มที่สู่ไทยแลนด์ 4.0”

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการดีป้า กล่าวว่า การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยในอีก 20 ปี กำลังพูดถึงการนำเทคโนโลยีไปใช้ยกระดับสังคมในทุกมิติ ผนวกหลายแผนงานเข้าด้วยกัน ต้องกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลไปในทุกๆ อุตสาหกรรม ควบคู่กับการดูแลโครงการพิเศษต่างๆ ให้ไปให้ถึงเป้าหมายเช่น โครงการดิจิทัลพาร์ค โครงการสมาร์ท ซิตี้ โครงการสมาร์ทอีอีซี โครงการสตาร์ทอัพ โดยดูเรื่องการส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนไปพร้อมๆ กัน 

พร้อมเร่งนำเทคโนโลยีไปใช้ยกระดับสังคม ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในพื้นที่ต่าง ๆ หรือการจัดการกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลขึ้นมาใหม่ที่เกี่ยวข้องทั้งการพัฒนาฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ดิจิทัล เซอร์วิส และดิจิทัล คอนเทนท์ 

ดังนั้น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลไทยจากวันนี้ถึง 20 ปีข้างหน้า เราคงไม่ได้มองแค่ฮาร์ดแวร์ หรือซอฟต์แวร์ แต่รวมไปถึงการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งเกี่ยวโยงกันทั้งหมด หรือการทำงานเป็นคลัสเตอร์ ซึ่งแนวทาง

“สำหรับดีป้าตั้งเป้าหมายว่าใน 20 ปีข้างหน้า จะต้องมีสตาร์ทอัพที่ก่อตั้งธุรกิจขึ้นมาได้จริง 20,000 ราย และไม่ใช่ดิจิทัล สตาร์ทอัพ แค่มาขอทุนเขียนโมเดลแล้วจบด้วยการไปขายลิขสิทธิ์ให้ประเทศเพื่อนบ้าน โดยสตาร์ทอัพที่ได้ทุนต้องทำธุรกิจให้สุดให้เกิดเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์ในประเทศไทย มีผู้ประกอบการผลิตฮาร์ดแวร์เกิดใหม่ 50,000 ราย มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนจำนวน 80,000 ราย และมีนักลงทุนที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจำนวน 350,000 ราย หรือ รวมทั้งหมด 500,000 ราย ซึ่งต้องเห็นผลและทำได้จริง”