ธุรกิจรับเทรนด์ดิจิทัลชู‘ดาต้า’เจาะผู้บริโภค

ธุรกิจรับเทรนด์ดิจิทัลชู‘ดาต้า’เจาะผู้บริโภค

ธุรกิจปรับตัวรับเทรนด์ดิจิทัล“ดีแทค-กูเกิล”หนุนใช้“ดาต้า”ตอบโจทย์ผู้บริโภค แนะจับมือ"สตาร์ทอัพ"พัฒนานวัตกรรมใหม่ จับตาผู้ใช้อินเทอร์เน็ตต่างจังหวัดพุ่ง จุดเปลี่ยนพฤติกรรมเสพสื่อหลายช่องทาง ส่งผล"แบรนด์”เร่งปรับกลยุทธ์สื่อสาร

จากความก้าวหน้าของนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ ที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคและผู้ประกอบการธุรกิจต้องปรับตัวตามเทรนด์ดิจิทัลในปัจจุบัน 

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจและสถานีโทรทัศน์ทีวีดิจิทัล NOW26 ได้จัดสัมมนา Digital Trends Summit  หัวข้อ Insights Digital Platform Trends เพื่อเป็นแนวทางให้ภาคธุรกิจใช้ประโยชน์และก้าวทันยุคดิจิทัล  

นายสมโภชน์ จันทร์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมธุรกิจ และดีแทค แอคเชลเลอเรท บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงธุรกิจในยุคดิจิทัลสิ่งสำคัญ คือ “ดาต้า” ใครมีดาต้าจำนวนมากเรียกได้ว่าเป็น“ขุมสมบัติ” เพราะสามารถนำมาใช้วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อพัฒนานวัตกรรมและบริการตอบโจทย์ความต้องการ

ปัจจุบันดีแทคได้เปิดโครงการเฟ้นหาสตาร์ทอัพไทย ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 5   โดยเห็นศักยภาพเด็กไทยและผู้ประกอบการไทยที่ยังขาดโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน ปัจจุบันภาครัฐและภาคเอกชน ต่างพยายามช่วยผลักดันการสร้างอีโคซิสเต็มส์ของสตาร์ทอัพไทย เพื่อสร้างโอกาสสร้างธุรกิจ โมเดลหาแหล่งเงินทุน และผลักดันการเติบโตของสตาร์ทอัพ 

“การแข่งขันของธุรกิจในยุคนี้ อยู่ที่ความเร็ว เรียกว่า ปลาเร็ว กินทุกปลา  ซึ่งสตาร์ทอัพ เป็นกลุ่มที่สามารถพัฒนานวัตกรรมต่างๆได้อย่างรวดเร็วสูงกว่าองค์กรต่างๆ  ที่มีหลายขั้นตอนในการดำเนินงาน”

องค์กรผนึก‘สตาร์ทอัพ’หนุนธุรกิจ

ทั้งนี้ ดีแทค แอคเซลเลอเรท ได้ให้การสนับสนุนและร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพสตาร์ทอัพไทยให้มีการขยายตัวและเติบโตได้ทั้งในไทยและในต่างประเทศ โดยได้จัดโครงการดีแทค แอคเซลเลอเรทต่อเนื่องทุกปีมาเป็นระยะเวลา 5 ปี เป็นโครงการที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดีจากสตาร์ทอัพ เนื่องจากมีจุดแข็งในหลักสูตรการเรียนการสอนสตาร์ทอัพระดับโลกจากซิลิคอน วัลเล่ย์ พร้อมทั้งสนับสนุนเงินทุนในรูปแบบเงินร่วมลงทุนในช่วงเริ่มต้น (seed fund) และสนับสนุนในด้านพันธมิตรเชิงกลุยทธ์ (Strategic Alliance) เพื่อให้เข้าถึงฐานลูกค้าของดีแทคและเทเลนอร์กว่า200 ล้านคน ใน 13 ประเทศทั่วโลก

“เรามีบูธแคมป์ให้เด็กปั้นสตาร์ทอัพระยะเวลา 8-10 วัน  มีการสร้างสรรค์ผลงานที่ดี ที่สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดแนวคิดให้เป็นจริงในเชิงธุรกิจ มีทีมเข้ามาในดีแทคแอคเซลเลอเรทมากกว่า 600 ทีม เราเลือก 12 ทีม ทำให้ตลอด 5 ปีมีสตาร์ทอัพหน้าใหม่ 30-40 รายมาพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย”

มองว่าทิศทางธุรกิจหลังจากนี้ จะเห็นความเป็นพาร์ทเนอร์ชิพของของเอกชนไทยมากขึ้น องค์กรทั้งขนาดเล็กและย่อยหรือแม้แต่คอร์ปอเรท จะมองหาสตาร์ทอัพที่มีความเชี่ยวชาญหรือมีโซลูชั่นที่มาตอบโจทย์ธุรกิจเพื่อทำงานร่วมกัน ซึ่งดีกว่าองค์กรธุรกิจลงทุนพัฒนาเอง

กูเกิลดัน‘แมชชีน เลิร์นนิ่ง’

นางสาวพรรณริณี ทิมา ผู้เชี่ยวชาญด้านโซลูชั่น กูเกิล ประเทศไทย กล่าวว่าปัจจุบัน “ดิจิทัล”เข้ามาเป็นเครื่องมือให้ภาคธุรกิจใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆมากขึ้น ที่ผ่านมากูเกิลพัฒนาระบบแมชชีน เลิร์นนิ่งให้มีความเข้าใจและตอบสนองความต้องการผู้ใช้งาน โดยสถิติในแต่ละวันมีการเสิรช์หาในกูเกิลอยู่ที่ 130 ล้านครั้ง

“สิ่งเหล่านี้จึงเป็นโอกาสของผู้ให้บริการ ที่จะสามารถรู้ได้ถึงความต้องการ ผู้ใช้งานว่าอยากรู้อะไร อยากค้นหาอะไร และหากนำเอาข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์เป็นควาามต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคได้ ถือว่าได้เปรียบคนอื่น”

ทั้งนี้ โครงสร้างการให้บริการของกูเกิล จะมีทั้งการค้นหาเว็บไซต์ รูปภาพ วีดิโอ แปลภาษา สิ่งสำคัญ คือ กูเกิลพยายามพัฒนาให้ผู้ใช้งานได้คำตอบได้ตรงกับสิ่งที่ต้องการหามากที่สุด โดยในทุกการเสิร์ชจะเหมือนเป็นช่องทางการทำตลาดยุคดิจิทัล

ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดการทำตลาดของเอกชน หรือแม้แต่กูเกิลประสบผลสำเร็จ คือ 1.เราต้องอยู่ในจุดนั้นให้ได้หากผู้ใช้งานต้องการบริการจากเรา 2.สื่อสารให้ตรงเป้าหมาย และ 3.ต้องตอบโจทย์ให้แก่ลูกค้าได้ว่า คือความคุ้มค่าในการลงทุน

จับตาผู้ใช้เน็ตต่างจังหวัดพุ่ง

นายณัฐวีร์ ณีว มาวิจักขณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาและการตลาด กรุ๊ปเอ็ม ประเทศไทย กล่าวว่าการสำรวจ Internet 360 ซึ่งเป็นงานวิจัยภาพรวมพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทย ที่กรุ๊ปเอ็มดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2558 โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ ในทุกอาชีพ เช่น นักศึกษา แม่บ้าน พ่อค้าแม่ค้า ผู้ใหญ่บ้าน อาจารย์มหาลัย พบว่าคนต่างจังหวัดใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากปัจจัยสมาร์ทโฟนราคาประหยัดที่ราวเครื่องละ 1,000 บาท รวมทั้งแพ็คเกจดาต้าหลากหลายที่รองรับกำลังซื้อผู้บริโภคทุกกลุ่ม

การเก็บข้อมูล“อินเทอร์เน็ต 360” ล่าสุดในเดือน ต.ค.2559 จำนวน 300 คน ซึ่งสะท้อนพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ปี2560 กลุ่มผู้บริโภคในต่างจังหวัดมีรูปแบบการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่มีความเชี่ยวชาญมากขึ้น โดยเป็นรูปแบบใช้“ดิจิทัลเพื่อยกระดับชีวิตที่ดีขึ้น”(Life-improvement Platform)

ตัวอย่าง กลุ่มเกษตรกรใช้อินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางการขายสินค้า, กลุ่มหัตถกรรมปรับสู่การเป็นเซอร์วิส โปรวายเดอร์ใช้มีอินเทอร์เน็ตเข้ามาช่วยในการจองใช้บริการต่างๆ เช่น ร้านตัดผม ร้านอาหาร สั่งอาหาร ส่วนกลุ่มแรงงานเดิม ได้พัฒนาธุรกิจรูปแบบ e-SMEs เป็นสิ่งที่เกิดการจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตและแอพ ที่สามารถเข้าไปอยู่ในไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้บริโภค โดยสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจ โดยเปลี่ยนจากฐานะลูกจ้างหรือเข้าสู่ตลาดแรงงานเดิม

มือถือ”อุปกรณ์หลักเสพสื่อ

นายณัฐวีร์ กล่าวอีกว่าการใช้อินเทอร์เน็ตของกลุ่มต่างจังหวัดในวงกว้าง สะท้อนได้ว่าผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ของประเทศสามารถเข้าถึงถึงอินเทอร์เน็ต ส่งผลต่อพฤติกรรมการเสพสื่อและคอนเทนท์เฉพาะบุคคลมากขึ้น ทำให้สินค้าและแบรนด์ต้องปรับรูปแบบการสื่อสารที่ตอบโจทย์ความสนใจเฉพาะบุคคล ในยุคนี้จึง “ไม่มี”สื่อแมสที่เข้าถึงคนจำนวนมาอย่างรวดเร็วอีกต่อไป จากพฤติกรรมเสพสื่อหลากหลายช่องทางและกระจายตัว

พฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทย นับตั้งแต่ปี 2558-2560 พบว่าใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้นต่อเนื่อง ปัจจุบันเป็นรูปแบบ Always on mobile หรือพฤติกรรมใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือตลอดเวลา เรียกว่า“ขาดมือถือไม่ได้”ซึ่งกลายเป็นภาวะปกติของผู้บริโภคในยุคนี้

“การใช้อินเทอร์เน็ตในวงกว้างและปริมาณมากขึ้น ทำให้ดิจิทัลเป็นสื่อที่สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภคได้ตลอดเวลา”

ปรับกลยุทธ์สื่อสารยุคดิจิทัล

นายสร เกียรติคณารัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มวางแผนกลยุทธ์และนวัตกรรม ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส ประเทศไทย กล่าวว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ในอุตสาหกรรมสื่อเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนเร็ว ส่งผลให้รูปแบบการสื่อสารต้องปรับตัว“ฟังเสียง”ผู้บริโภคจากช่องออนไลน์ตลอดเวลา เพื่อนำข้อมูล(ดาต้า)ที่มีจำนวนมากมาวิเคราะห์การวางแผนสื่อที่เข้าถึงผู้บริโภคตามความสนใจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งบประมาณ

“เดิมการสื่อสารเพื่อเข้าถึงคน 50 ล้านคน อาจวางแผนสื่อโดยใช้งบประมาณผ่านทีวีเพียงสื่อเดียว แต่พฤติกรรมผู้บริโภคสื่อเสพหลากหลายในยุคดิจิทัล การเข้าถึงคนจำนวนดังกล่าวในยุคนี้ อาจต้องใช้การวางแผนสื่อกว่า 20 รูปแบบ” 

เช่นเดียวกับ “ข้อความ”หรือคอนเทนท์ที่ใช้สื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย เดิมอาจใช้ข้อความเดียว สื่อสารกับคนทั้งประเทศผ่านโฆษณาทีวี แต่ในยุคดิจิทัลการสร้างบทสนทนากับผู้บริโภคแต่ละกลุ่มจะต้องมี “ไอเดีย”ที่หลากหลาย เพื่อสร้างคอนเทนท์ที่ตรงความสนใจแต่ละกลุ่มเป้าหมาย กลยุทธ์การสื่อสารในยุคนี้จึงต้องผสมผสานการใช้ ดาต้า แพลตฟอร์มและคอนเทนท์ มาใช้วางแผนสื่อเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ

พฤติกรรมผู้บริโภคเสพสื่อหลากหลายช่องทางในยุคดิจิทัล ทำให้แนวโน้มอุตสาหกรรมสื่อได้เข้าสู่ยุค Data Intelligence ทุก“ข้อมูล”การใช้งานผ่านสื่อออนไลน์ สามารถนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อวางแผนการสื่อสาร“เข้าถึง”กลุ่มเป้าหมายอย่างแม่นยำ เพื่อสร้างมูลค่าการลงทุนในสื่อมากขึ้น