ดีอีปั้น‘อีอีซี สมาร์ทซิตี้’บ่มเพาะคนพันธุ์ดิจิทัล5แสนราย 

ดีอีปั้น‘อีอีซี สมาร์ทซิตี้’บ่มเพาะคนพันธุ์ดิจิทัล5แสนราย 

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจร่วมกับทีวีดิจิทัล NOW26 จัดสัมมนา Digital Trends Summit โดยนายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ร่วมเสวนาในหัวข้อ DIGITAL Economy-Driven in Thailand โดยมีนายสุทธิชัย หยุ่น ดำเนินรายก

กระทรวงดีอี เร่งดันดิจิทัลเชื่อมผู้คนอย่างเท่าเทียม สร้างความแข็งแกร่งเทคโนโลยีสู่ระบบเศรษฐกิจประเทศภาพใหญ่ ผ่านโครงการเน็ตประชารัฐ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงครอบคลุมทุกพื้นที่ เดินหน้ายกระดับพื้นที่อีอีซี สู่สมาร์ทซิตี้ ดึง “ดีป้า” หน่วยงานในสังกัดดีอีบ่มเพาะคนพันธุ์ดิจิทัลสร้างบรรยากาศการลงทุน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศยุคใหม่ 

นายพิเชฐ กล่าวว่า การทำลายอุปสรรคความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ ไอซีทีนั้นจะหมดไปเมื่อการมีการเปลี่ยนแปลง หรือทรานฟอร์มธุรกิจในทุกระดับตั้งแต่เอสเอ็มอีจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ และสนับสนุนโดยรัฐบาล

ดัน‘ดิจิทัล’เข้าถึงได้เท่าเทียม

การเข้ามาของดิจิทัลจะเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับทุกคนในสังคม ทุกวันนี้มีจุดเชื่อมคนเข้าสู่เทคโนโลยีดิจิทัล ดังนั้น ควรคิดว่าทำอย่างไรให้ทุกคนได้รับประโยชน์จากดิจิทัลอย่างเท่าเทียม เข้าถึงง่าย ภายใต้ต้นทุนที่เป็นธรรม และเข้ามายกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ ซึ่งรวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุในประเทศที่จะมีจำนวนมากถึง ควบคู่ไปกับการหล่อหลอมเยาวชนรุ่นใหม่ให้รู้จักปรับใช้เทคโนโลยีและนำมาส่งเสริมคุณภาพด้านการศึกษา

ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งในประเด็นการกระจายเทคโนโลยีไปสู่คนทุกระดับทั้งที่อยู่ในตัวเมือง พื้นที่ห่างไกลชนบท หรือบริเวณชายขอบก็ตาม การขับเคลื่อนนี้ต้องอาศัยศักยภาพของโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้น รัฐบาลจึงเร่งรัดให้ดำเนินโครงการ “เน็ตประชารัฐ” หรือ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านในประเทศที่มีอยู่จำนวน 74,965 หมู่บ้าน ซึ่งปัจจุบันโครงการคืบหน้าไปมาก ภายในสิ้นปีนี้หมู่บ้านที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงดีอี จำนวน 24,700 หมู่บ้าน จะติดตั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้แล้วเสร็จ 

นอกจากนี้ ยังมีโครงการอินเทอร์เน็ตชายขอบของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่จะดำเนินการอีกว่า 3,920 หมู่บ้าน ดังนั้นภายในกลางปี 2561 ทุกหมู่บ้านในไทยจะมีอินเทอร์เน็ตเข้าถึง ก่อให้เกิดการจ้างงาน การผลิตสินค้า โดยหมู่บ้านของตัวเองทำให้คนกลางระหว่างผู้ผลิตสู่ผู้บริโภคหายไป เพราะทุกหมู่บ้านสามารถเป็นมาร์เก็ตเพลสของตัวเองได้ เกิดอีคอมเมิร์ซในระดับหมู่บ้าน ชุมชน และจังหวัด คู่ขนานไปกับโครงการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั่วประเทศ เป็นการสร้างรายได้ให้ชุมชน การใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อสุขภาพที่ดี และใช้เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกในการใช้บริการภาครัฐ

ดัน‘ปณท’เชื่อมผู้ซื้อผู้ขาย

นายพิเชฐ กล่าวว่า การเสริมสร้างรายได้ให้ประชาชนผ่านโครงการเน็ตประชารัฐ ได้มอบหมายให้บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) เป็นผู้พัฒนาและดูแลระบบซื้อขายสินค้าภายในหมู่บ้าน โดยหลักการ คือ ให้ชุมชนมีศักยภาพในการขายสินค้าชุมชน โดยให้ไปรษณีย์ไทยเป็นตัวกลางเชื่อมโยงผู้ซื้อผู้ขาย บทบาทไปรษณีย์ไทยจะมี 3 ด้าน คือ นำผู้ขายขึ้นสู่แพลตฟอร์มการขายสินค้า, ทำหน้าที่เป็นตัวกลางชำระเงิน ยืนยันว่าผู้ซื้อจะได้รับสินค้าผู้ขายจะได้รับเงิน และทำหน้าที่เป็นผู้ส่งสินค้า 

ทั้งนี้ เพื่อลดขั้นตอน ได้ออกแบบระบบให้ผู้ขายสินค้าไปยังสถานที่หนึ่งแห่งในหมู่บ้านเพื่อทำธุรกรรม อาจให้บริการผ่านร้านโชห่วยในหมู่บ้านที่ร้านนี้ชาวบ้านจะนำสินค้าไปขาย ขณะที่ไปรษณีย์จะไปเชื่อมโยงกับร้าน โดยกระทรวงดีอีและหน่วยงานสนับสนุนจะไปอบรมเพื่อให้ร้านโชห่วย นำสินค้าขึ้นไปขายบนอินเทอร์เน็ตได้ ถือเป็นการสร้างโอกาสและสร้างอีคอมเมิร์ซในฐานรากอย่างแท้จริง

ปั้น 3 จังหวัดอีอีซีสู่สมาร์ทซิตี้

นอกจากนี้ ในมุมรัฐบาลจะหาโอกาส รวมถึงสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการลงทุนจากแหล่งเงินในต่างประเทศ โดยโครงการดิจิทัลพาร์ค ไทยแลนด์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี พื้นที่ 700 ไร่ อยู่ภายในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการบริหารอีอีซี ให้โครงการดิจิทัลพาร์ค ไทยแลนด์ เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ส่งผลให้ทางกระทรวงดีอีจะเจรจากับภาคเอกชนในการเข้ามาลงทุนในพื้นที่ได้ง่ายขึ้น 

ล่าสุด มีผู้ประกอบการและบริษัทเอกชนทั้งในไทยและต่างประเทศให้ความสนใจแล้ว 30 ราย โดยกระทรวงดีอีเองมีแผนการพัฒนาพื้นที่ในโครงการอีอีซีให้เป็น อีอีซี สมาร์ทซิตี้ โดยจะมี 3 จังหวัดคือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เช่นเดียวกับที่มีการนำร่องแล้ว 2 จังหวัดสมาร์ทซิตี้คือภูเก็ต และขอนแก่น ทั้งนี้ อีอีซี สมาร์ทซิตี้กำลังอยู่ระหว่างจัดทำมาสเตอร์ แพลนซึ่งน่าจะได้เห็นแบบร่างและแผนการพัฒนาภายในปีนี้

นายพิเชฐ กล่าวเสริมว่า กระทรวงดีอียังมอบหมายให้สำนักส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) พัฒนาตั้งแต่ฐานรากเพื่อเข้าถึงวิสาหกิจชุมชน บริการสุขภาพของประชาชน ตลอดจนการพัฒนากำลังคนพันธุ์ดิจิทัลทุกระดับ โดยการขับเคลื่อนประเทศด้วยดิจิทัลจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมด้านกฎหมาย มาตรการส่งเสริมการลงทุนที่เป็นแรงจูงใจให้เกิดการลงทุน ตลอดจนการมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี เพื่อผลักดันให้เกิด ดิจิทัลพาร์ค ดิจิทัลสมาร์ซิตี้ และดิจิทัลคอมมูนิตี้ 

สร้างเอสเอ็มอีพันธุ์ใหม่ 

ขณะที่ ในอนาคตการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลทางหน่วยงานจะมุ่งเน้นสร้าง ดิจิทัลสตาร์ทอัพ และเอสเอ็มอีพันธุ์ใหม่ ตอบสนองอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต โดยคาดว่าจะเกิดผู้ประกอบการฐานดิจิทัล และ Digital entrepreneur 500,000 ราย รวมถึงการพลิกโฉม 24,700 ชุมชน 77 เมือง 3 ล้านเอสเอ็มอี และ 5 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ให้ขับเคลื่อนโดยฐานดิจิทัลซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ของระบบเศรษฐกิจประเทศ

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าในปีนี้จะมีสตาร์ทอัพรายใหม่เข้าสู่ตลาดอีก 3,000-5,000 ราย จากปัจจุบันที่มีอยู่แล้ว 5,000 ราย ซึ่งกระทรวงดีอีมีแนวความคิดว่า จะมีการกำกับทิศทางของสตาร์ทอัพให้ตรงตามความถนัดและความเชี่ยวชาญในแต่ละกลุ่มธุรกิจ เช่น ภาคการเกษตร การท่องเที่ยว และศิลปวัฒนธรรม

“ผมเคยหารือกับหน่วยงานในสังกัด เพื่อกำหนดทิศทางให้ไปในทางเดียวกัน ทั้งจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัล และการนำดิจิทัลไปใช้ในมิติต่างๆ ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความมั่นคงของประเทศ ผ่านแผนยุทธศาสตร์จะต้องจัดทำขึ้นให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติ พร้อมกับการสนับสนุนด้านการลงทุน การพัฒนาบุคลากร การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และความร่วมมือแบบบูรณาการกับพันธมิตร เชื่อมั่นว่าจะสามารถพลิกโฉมประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้ภายใน 20 ปี”นายพิเชฐ กล่าว