'วิษณุ'ปัดโยกตำรวจเข้าสังกัดกระทรวงยุติธรรม

'วิษณุ'ปัดโยกตำรวจเข้าสังกัดกระทรวงยุติธรรม

"วิษณุ" ปัดแสดงความคิดเห็นข้อเสนอดึง "สำนักงานตำรวจแห่งชาติ" เข้าสังกัด "กระทรวงยุติธรรม" ยันรัฐบาลไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงแผนการปฏิรูปตำรวจของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาแผนการปฏิรูปกิจการตำรวจ ในคณะกรรมการประสานงานระหว่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เสนอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ขึ้นตรงต่อกระทรวงยุติธรรม(ยธ.) รวมถึงให้เพิ่มเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งต่างๆ ว่า ไม่มีคำตอบ ไม่มีความคิดเห็นใดๆ เพราะเรื่องนี้เป็นการอภิปรายกันในคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ ซึ่งรัฐบาลไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง และถ้าออกความคิดเห็นก่อน ก็คงไม่ถูกต้อง อีกทั้ง คณะอนุกรรมการนี้ไม่เคยนำแนวคิดดังกล่าวมาหารือกับรัฐบาล ดังนั้นขอให้มีการส่งเรื่องมาที่รัฐบาลก่อน แล้วเราจึงจะแสดงท่าทีต่อไป

อย่างไรก็ตาม เรื่องการปฏิรูปตำรวจนั้น ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดว่าต้องคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจขึ้นมาดำเนินงานปฏิรูปตำรวจให้เสร็จภายใน 1 ปี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล สิทธิและสวัสดิการ อำนาจการสืบสวนสอบสวน และเรื่องของสังกัดหรืออำนาจหน้าที่ แต่ถ้าเมื่อครบกำหนดแล้วยังทำเรื่องปฏิรูปนี้ไม่เสร็จ ให้การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจใช้หลักการพิจารณาจากความอาวุโสเท่านั้น

นายวิษณุ กล่าวว่า ดังนั้นสิ่งที่คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯพูดนั้น ที่จริงเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ แต่ถ้าจะเสนอมาก่อน ก็ไม่เป็นไร เมื่อเสนอมาให้รัฐบาลแล้วก็จะถูกส่งต่อไปที่คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ซึ่งรัฐบาลจะไม่ลงเกี่ยวข้องมาทำเรื่องปฏิรูปตำรวจเอง เพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดว่าต้องให้มีคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจและคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา โดยการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจนั้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำลังพิจารณาตัวคนที่จะมาดำรงตำแหน่ง โดยจะรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอจากภายนอกด้วยว่าควรมีใครมาร่วมเป็นกรรมการ ส่วนคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษานั้นถูกตั้งขึ้นมาภายใน 60 วันหลังจากรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ซึ่งตนทราบว่านายกรัฐมนตรี และนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กำลังจะแต่งตั้งในเร็วๆนี้

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีวิธีบริหารจัดการหลายรูปแบบ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เคยมีแนวคิดเรื่องการตั้งทบวงตำรวจในกระทรวงยุติธรรม แต่ไม่ใช่กรมในกระทรวงยุติธรรมที่ต้องไปขึ้นตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แต่สมมติว่าถ้าจะมาอยู่ในกระทรวงนี้จริงๆ อาจขึ้นตรงกับรมว.ยุติธรรม โดยไม่ต้องเป็นทบวงก็ได้ อย่างไรก็ตามต้องคิดถึงหลายอย่างประกอบกัน อาทิ อัตรากำลังพลของตำรวจที่มีจำนวนมากเท่ากับคนในกระทรวงยุติธรรมทั้งกระทรวง งบประมาณจึงมีจำนวนมาก ดังนั้นต้องย้อนกลับไปดูเหตุผลในการนำกรมตำรวจออกมาจากกระทรวงมหาดไทย

“ตอนที่เอาออกมาอาจยังคิดรูปแบบไม่ออก ว่า ถ้ายังอยู่กับกระทรวงมหาดไทย จะแก้ปัญหางบประมาณของกระทรวงมหาดไทยมากเกินไป ทั้งที่ความจริงไปมากที่ตำรวจ หรือกำลังพลกระทรวงมหาดไทยมากเกินไป มากกว่ากระทรวงศึกษาหลายเท่า ตอนนั้นจึงเอาออกมา วันนี้มีวิธีคิดให้อยู่กับกระทรวงแล้วดูดีได้หลายวิธี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเอาเข้าไป เราจะไปดูตรงผลปฏิบัติงานว่าอยู่กับใครที่ไหนและประชาชนได้รับบริการที่ดี วันนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติใหญ่ถึงขนาด ผบ.ตร.จะเป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง จึงต้องคิดต่อไปว่าถ้าเอากลับเข้าไปในกระทรวงจะเป็นการเพิ่มหรือลดบทบาทของตำรวจ ส่วนการให้กลับเข้าไปอยู่ในกระทรวงจะถือว่าถอยหลังเข้าคลองหรือไม่นั้น ไม่ขอวิจารณ์”นายวิษณุ กล่าว