เล็งจัดระเบียบ ‘เทอมฟันด์’

เล็งจัดระเบียบ ‘เทอมฟันด์’

เล็งจัดระเบียบ "เทอมฟันด์" สกัดรายย่อยลงทุนป้องเสี่ยง

จากกรณีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกระจายการลงทุน การเปิดเผยคำเตือน และความเสี่ยงของกองทุนรวม เพื่อให้ผู้ลงทุนเข้าใจลักษณะความเสี่ยงและมีข้อมูลที่ครบถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุน และสอดคล้องกับมาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันกองทุนที่มีกำหนดอายุโครงการ (term fund) สามารถเสนอขายได้ทั้งกับผู้ลงทุนทั่วไปและผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย และมักจะถูกเสนอขายเป็นสินค้าทดแทนเงินฝาก ผู้ลงทุนจึงนิยมลงทุนในกอง term fund เนื่องจากเข้าใจผิดว่าเป็นสินค้าที่มีความเสี่ยงต่ำในลักษณะเดียวกับเงินฝาก ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว ความเสี่ยงของแต่ละกองจะขึ้นอยู่กับทรัพย์สินที่กองลงทุน

นอกจากนี้ ผู้ถือหน่วยกอง term fund จะไม่สามารถไถ่ถอนการลงทุนได้จนกว่าจะครบกำหนดอายุของกองทุน และหลายกองทุนมีการลงทุนกระจุกตัวในหลักทรัพย์ของผู้ออกน้อยราย ทำให้มีการกระจุกตัวของความเสี่ยงสูง ดังนั้น หากผู้ลงทุนไม่เข้าใจในลักษณะความเสี่ยงของแต่ละกองอย่างเพียงพอ ก็อาจเลือกลงทุนโดยมีความเสี่ยงเกินกว่าความเสี่ยงที่ตนรับได้

ดังนั้น ... จึงมีแนวคิดที่จะปรับหลักเกณฑ์การลงทุนของกองทุนรวมทุกประเภทไม่จำกัดเฉพาะกอง term fund ให้เหมาะสมกับประเภทของผู้ลงทุน โดยกรณีกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป จะกำหนดให้กระจายการลงทุนในหลักทรัพย์ของผู้ออกหลายรายมากยิ่งขึ้น และอนุญาตเฉพาะผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ (II & HNW) เท่านั้นที่สามารถลงทุนในกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย (กอง AI) ที่ไม่กระจายการลงทุนได้ โดยจะยกเลิกการอนุญาตเสนอขายกอง AI ดังกล่าวกับผู้มีเงินลงทุนสูง (มีเงินลงทุนครั้งแรกตั้งแต่ 500,000 บาท ขึ้นไป) ซึ่งอาจเป็นผู้ลงทุนรายย่อยที่อาจขาดความเข้าใจความเสี่ยงของการลงทุนในกองดังกล่าวอย่างเพียงพอ

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังจะปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลกองทุนรวมทุกประเภทเพื่อให้ผู้ลงทุนเข้าใจลักษณะความเสี่ยงของกองทุนรวมโดยให้เปิดเผย 1. คำเตือนใต้ชื่อกองทุนสำหรับกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนเสี่ยงค่อนข้างสูง 2. ระดับความเสี่ยงของกองทุนให้สะท้อนความเสี่ยงจากคุณภาพของทรัพย์สินที่กองทุนลงทุนและความเสี่ยงจากการลงทุนกระจุกตัว และ 3. แผนภาพอันดับความน่าเชื่อถือส่วนใหญ่ของกองทุนและน้ำหนักการลงทุนตามการจัดอันดับเครดิต ซึ่งหลักเกณฑ์ใหม่เกี่ยวกับเปิดเผยข้อมูลของกองทุนรวมนี้คาดจะมีผลในไตรมาส 4 ปี 2560

ทั้งนี้ ก.ล.ต.ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวไว้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. ระหว่างวันที่5 พ.ค.-5มิ.ย.นี้

ต่อประเด็นดังกล่าว “กิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ” นักวิเคราะห์กองทุน ประจำประเทศไทย บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ซ (ประเทศไทย) มองว่า ผู้กำกับดูแลเข้ามาเพื่อจัดระเบียบแยกประเภทผู้ลงทุนให้ชัดเจนและให้สอดคล้องกับความเสี่ยงในกองทุนแต่ละประเภทมากขึ้น

ทั้งนี้ การปรับปรุงเกณฑ์ดังกล่าว จะช่วยป้องกันความเสี่ยงที่ไม่ใช่แค่ความเสี่ยงจากแบบประเมินความเสี่ยงเท่านั้น เพราะผู้มีเงินลงทุนสูง อาจจะคิดว่ารับความเสี่ยงที่ซับซ้อนได้ และได้นำเงินก่อนสุดท้ายในชีวิตมาลงทุนที่อาจเกิดสูญเสียเงินลงทุนจํานวนมาก ซึ่งน่าเป็นห่วง

“เรื่องนี้คงไม่ได้เป็นการจำกัดสิทธิของผู้ลงทุน แต่จะทำให้เกิดความชัดเจนกับผู้ลงทุนมากขึ้น หลังจากเกิดปัญหาตราสารหนี้ไฮยีลด์ที่ผ่านมาซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินทรัพย์ลงทุนในกองทุนประเภทเทอมฟันด์ อีกทั้งปัจจุบันผลิตภัณฑ์กองทุนในตลาดมีความหลากหลายมาก แน่นอนว่ายังมีทางเลือกการลงทุนอื่นที่สามารถทดแทนและมีความเสี่ยงที่เหมาะสมกับผู้ลงทุนมากกว่า แต่ในเรื่องนี้อาจจะมีผลกระทบจะเกิดขึ้นกับผู้ขาย ที่ต้องมีการปรับปรุงขั้นตอนตัวกรองรายบุคคลเพิ่มเติม เช่น วิธีการตรวจสอบรายได้ เป็นต้นเพื่อช่วยกรองนักลงทุนรายย่อยไม่ให้ลงทุนในกองทุนAI ”

ทางด้านบริษัทจัดการกองทุนแห่งหนึ่ง มองว่า การเสนอขายกองทุน AI ควรระบุเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยง และกำหนดให้เสนอขายกองทุน AI ไม่ให้ขายกับผู้ลงทุนระดับ500,000บาทขึ้นไป หรือเป็นการห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย แต่ต้องเป็นสถาบันนั้นคำว่า สถาบัน รวมถึงการเป็นบุคคลธรรมดาที่มีเงินลงทุน 10ล้านบาทขึ้นไป มองว่า ยังมีช่องอยู่ เพราะตามคำจำกัดความของ ก.ล.ต. นั้นสถาบันจะรวมนักลงทุนธรรมดาที่มีเงินลงทุน10ล้านบาทขึ้นไป

ส่วนคำว่า ผู้ลงทุน HNW มีเงินลงทุน 10ล้านบาทขึ้นไป และมีรายได้4 ล้านบาท และคำว่า HNW แต่ละบลจ. ยังมีคำจัดกัดความที่แตกต่างกันก็คงต้องกำหนดให้ชัดเจน หรืออาจจะต้องมีการจำกัดวงเงินลงทุนขั้นต่ำสำหรับกลุ่มHNW ที่มีเงินลงทุนระดับ 500,000บาทขึ้นไป หรือไม่

“ปัจจุบันบลจ. บางแห่งแทบจะไม่มี กองทุนAI เพราะวันนี้เป็นกองทุนมีความเสี่ยงสูงเกินที่นักลงทุนอาจรับความเสี่ยงสูงไม่ได้ ด้วยสภาวะเศรษฐกิจของโลกยังไม่เสถียร ทำให้กองทุนเองต้องลดความเสี่ยงไม่มีตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง ตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุป คงต้องผลการเปิดรับฟังความเห็นของก.ล.ต.ก่อน”