เล็งเพิ่มลดหย่อน 'กระตุ้นมีบุตร'

เล็งเพิ่มลดหย่อน 'กระตุ้นมีบุตร'

เล็งเพิ่มลดหย่อน "กระตุ้นมีบุตร" คลัง เร่งศึกษามาตรการรับมือสังคมสูงวัย

กระทรวงคลัง เล็งเพิ่มวงเงินลดหย่อนค่าใช้จ่ายจาก 3 หมื่นบาท เป็น 6 หมื่นบาทสำหรับผู้ที่มีบุตรคนที่สอง หวังกระตุ้นให้คนไทยมีลูกกันมากขึ้น เพื่อรองรับปัญหาสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เพื่อรองรับปัญหาสังคมสูงอายุ กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาถึง มาตรการทางภาษีที่จะเป็นแรงจูงใจที่ทำให้คนหนุ่มสาวหันมามีลูกมากขึ้น โดยได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปศึกษาหามาตรการที่เป็นไปได้และเหมาะสมกับฐานะการคลังของรัฐบาลเพื่อกรณีดังกล่าว

เขากล่าวว่า ประเทศไทย กลายเป็นตัวอย่างของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ในเรื่องของการควบคุมการเกิดทำให้จำนวนเด็กเกิดใหม่ในประเทศไทยลดอย่างเนื่อง จนกระทั่งประเทศขาดแคลนแรงงาน ทำให้จำเป็นต้องนำแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานในประเทศไทย สภาวะดังกล่าว จะส่งผลต่อเศรษฐกิจมหภาค ในอนาคตของประเทศไทยหากไม่ได้รับการแก้ไข

นายวิสุทธิ์ กล่าวด้วยว่า ในอดีตรัฐบาลเคยให้ค่าเลี้ยงดูบุตรคนละ 50 บาท แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 600 บาท เพื่อสนับสนุนให้คนมีลูกกันมากขึ้น แต่การจะเพิ่มอัตราค่าเลี้ยงดูบุตรหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับฐานะการคลังของรัฐบาลด้วยอย่างไรก็ตาม การสนับสนุนให้คนมีบุตรมากขึ้นนั้น จำเป็นต้องมองทั้งฝั่งปริมาณและคุณภาพไปพร้อมกันด้วย เพื่อให้ประชากรเกิดใหม่ในอนาคตมีคุณภาพ

ทั้งนี้ ปัจจุบันกรมสรรพากร ได้เพิ่มค่าลดหย่อนทางภาษี เพื่อสนับสนุนคนมีลูก โดยให้สามารถนำจำนวนบุตรมาหักเป็นค่าหย่อนทางภาษีได้คนละ 3 หมื่นบาท โดยไม่จำกัดจำนวนบุตรจากเดิมที่ให้ค่าลดหย่อนบุตรเพียงคนละ 1.5 หมื่นบาท และจำกัดจำนวนบุตรที่จะได้รับค่าลดหย่อน ไม่เกิน 3 คน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนคนที่มีบุตร

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า แนวทางการส่งเสริมให้คนมีลูกมากขึ้นโดยใช้มาตรการภาษีเป็นแรงจูงใจนั้นสศค.กำลังพิจารณาว่า หากเพิ่มค่าลดหย่อนการมีบุตรคนที่สองเป็น 6 หมื่นบาท จากปัจจุบัน ได้เพียง 3 หมื่นบาท จะเป็นแรงจูงใจที่เพียงพอหรือไม่

“ในหลักการแล้ว กระทรวงการคลังต้องการส่งเสริมให้คนที่มีความพร้อมทั้งทางร่างกายและฐานะความเป็นอยู่ ให้มีลูกมากขึ้น เพื่อให้การเพิ่มขึ้นของประชากรมีคุณภาพ”

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ตระหนักถึงปัญหาของสังคมสูงอายุที่ไทยจะเข้าสู่ภาวะดังกล่าวอย่างสมบูรณ์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งภาวะดังกล่าวจะทำให้แรงงานหายไป ส่งผลต่อภาพรวมการจัดเก็บรายได้ และ ภาระรายจ่ายที่จะสูงขึ้น ดังนั้น หนึ่งในมาตรการที่จะเข้าไปรองรับปัญหาดังกล่าว คือ การส่งเสริมให้คนไทยมีลูกกันมากขึ้น

เมื่อไม่นานมานี้ ไอเอ็มเอฟ ได้เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ในเอเชียเรียนรู้จากประสบการณ์ของญี่ปุ่น และเตรียมพร้อมแต่เนิ่นๆ เพื่อรับมือกับจำนวนประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเตือนว่า บางประเทศในภูมิภาคนี้ มีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่สังคมสูงวัย ก่อนที่จะขยับไปสู่สถานะชาติร่ำรวย

หลายทศวรรษที่ผ่านมา เอเชียได้ประโยชน์จากการปันผลทางประชากร หรือการได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการเปลี่ยนแปลงทางประชากรของประเทศหนึ่งๆ แต่จำนวนผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้น มีแนวโน้มที่จะทำให้ “ภาษี” ประชากร เพิ่มสูงขึ้น

ไอเอ็มเอฟ ประเมินว่า อัตราการเติบโตของประชากรเอเชีย จะร่วงลงไปแตะระดับ 0% ภายในปี 2593 และสัดส่วนประชากรวัยทำงาน ที่อยู่ระดับสูงสุดในปัจจุบัน จะลดลงไปในหลายทศวรรษหน้า และสัดส่วนประชากรสูงวัย ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปี จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และสูงกว่าจำนวนประชากรสูงวัยในปัจจุบันถึง 2 เท่าครึ่ง ในอีก 33 ปีข้างหน้า

“การปรับตัวสู่สังคมสูงวัย จะเป็นปัญหาที่มีความท้าทายเป็นพิเศษสำหรับเอเชีย เพราะในหลายพื้นที่ของภูมิภาคนี้ มีประชากรที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยรายได้ต่อหัวประชากรในระดับที่ค่อนข้างต่ำ กำลังแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว ทั้งบางประเทศกำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัย ก่อนจะเป็นชาติร่ำรวยด้วย”