วิดีโอเกมที่รับมือกับความเจ็บปวด

วิดีโอเกมที่รับมือกับความเจ็บปวด

การรับมือกับความสูญเสียของคนเรามีมากมาย บ้างจมดิ่ง บ้างเต็มไปด้วยความหวัง แต่สำหรับบางคนก็ใช้วิดีโอเกมเข้ามาเป็นเครื่องมือดูแลรักษาจิตใจ

เอมี่ และไรอัน กรีน (Amy & Ryan Green) คู่สามีภรรยาที่เพิ่งได้รับรางวัลการออกแบบวิดีโอเกมที่ส่งผลเปลี่ยนแปลงสังคม กับวิดีโอเกมที่เล่าเรื่องราวของพวกเขาเอง

ปี 2010 โจล (Joel) ลูกชายคนที่สามของเอมีและไรอันถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งในสมองที่หายาก หลังจากวันเกิดครบ 4 ขวบของเขา หมอบอกมะเร็งชนิดนี้จะกลับมาเป็นใหม่อีก ต่อให้มีการรักษาขั้นรุนแรงที่สุด (เท่าที่จะทำได้) แล้วก็ตาม หมอบอกว่าเพราะอย่างนั้น โจ ก็จะมีชีวิตอยู่ได้เพียงอีก 4 เดือนเท่านั้น

คืนนั้นเธอพาลูกชายอีก 2 คนเข้านอน ทั้งสองเพิ่งอายุ 5 และ 3 ขวบ เธอก็ไม่แน่ใจว่าลูกๆ จะเข้าใจสถานการณ์ที่เป็นอยู่หรือไม่ จึงเริ่มเล่านิทานก่อนนอนให้ฟัง ว่าด้วยเรื่องของอัศวินผู้กล้าหาญชื่อว่า โจล ที่ต้องสู้กับมังกรตัวร้ายที่ชื่อว่ามะเร็ว แต่เธอไม่เคยมีตอนจบให้เรื่องนี้ อัศวินโจลต้องต่อสู้กับมังกรร้ายไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับโจลตัวน้อย ที่ต้องเข้ากับการรักษามะเร็งร้ายอย่างต่อเนื่อง จากที่หมอเคยบอกว่าโจลจะอยู่ได้เพียง 4 เดือน โจลสามารถต่อสู้มาได้เป็นปี ท่ามกลางความทุกข์ของครอบครัวที่ต้องใช้ชีวิตดูแลกันและกันด้วยความหวัง แม้รู้อยู่เต็มออกว่าลูกชายของเขากำลังจะตาย

ในฐานะนักออกแบบวิดีโอเกม ไรอันเกิดความคิดที่จะทำวิดีโอเกมเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ หลังจากที่โจลทำคีโมเธอราพีแล้ว ก็สามารถฝ่าฟันโรคร้ายจนสงบระงับได้ช่วงหนึ่ง ทุกคนในครอบครัวให้กำลังใจกันและมีความหวังเต็มที่ แต่แล้วก็อย่างที่หมอเคยบอกไว้ว่ามะเร็งชนิดนี้จะกลับมา มันก็มาจริงๆ ยาสเตียรอยด์ขนานหนักที่ถูกนำมารักษา ทำให้ตาขวาของหนูน้อยเขออกไป กระนั้นมะเร็งก็ยังทำร้ายโจลด้วยอาการท้องเสียจนร่างกายขาดน้ำ ความทุกข์กระหน่ำตีคนที่เป็นพ่อแม่อย่างคาดเดาไม่ได้ เขาจึงคิดว่าควรจะออกแบบเกมส์ให้ผู้คนได้เตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์นี้ ที่ไม่ว่าใครก็ไม่อาจจินตนาการได้ นอกเสียจากจะมาเยือนถึงตัวเท่านั้น

ไรอันใช้เรื่องราวของการต่อสู้กับมังกรที่เอมีเล่าให้ลูกๆ ฟัง มาเป็นชื่อเกมแห่งการต่อสู้ระหว่างมะเร็งร้ายและโจล แต่ใจความหลักคือ ผู้เล่นเกมจะเหมือนเข้าไปเป็นผู้สังเกตเหตุการณ์นี้ รวมทั้งรับบทเป็นพ่อแม่ที่จะคอยอยู่เคียงข้างโจล ดูแล ปลอบโยนเขาในค่ำคืนที่เขาเจ็บปวดจนร้องไห้เสียงดัง คุณจะทำอย่างไรให้หนูน้อยสงบลงได้ (เช่น กอด ปลอบโยน อุ้ม เห่กล่อม ป้อนอาหาร ฯลฯ) เป็นสิ่งที่เขาประสบเองในคืนหนึ่งที่ไม่สามารถปลอบโยนโจลได้ ทำให้เขารู้สึกเหมือนกับอยู่ในเกม ซึ่งมีเครื่องมือต่างๆ ในการผ่านด่านอยู่ แต่กลับทำอะไรไม่ได้ ไรอันพัฒนาเกมขึ้นมาร่วมกับเพื่อนโปรแกรมเมอร์ จอช ลาร์สัน ซึ่งอุทิศตัวพัฒนาเกมนี้อย่างเต็มที่ ร่วมกับคู่สามีภรรยากรีนในการสร้างเรื่องราว และอัลกอริธึ่มในฉาก ในสถานการณ์ต่างๆ

เกม That Dragon, Cancer เป็นเรื่องราวของการเดินทางของความหวัง ภายใต้เงาแห่งความตาย (The Journey of Hope in the Shadow of death) เกมต้นแบบเปิดตัวในอีเวนท์ด้านเกมเมื่อปี 2013 ซึ่งเมื่อพวกเขาเล่าที่มาของเกม หลายคนน้ำตารื้นและรีบเดินออกจากบูธไปเลย เอมียอมรับว่าเกมนี้เป็นเกมที่ “ยากที่จะเล่น” เพราะสถานการณ์ในเกมเต็มไปด้วยความเจ็บปวด แค่เสียงหัวเราะของเด็กน้อย กับเสียงปลอบโยนของพ่อ (ซึ่งเป็นเสียงของไรอันเอง) ได้ยินแล้วกัดกินใจ เกมต้นแบบนี้เผยแพร่ในคอเกมอินดี้กลุ่มเฉพาะก่อน เมื่อนักแคสเกมสายอินดี้ที่มีชื่อคนหนึ่งได้ลองเล่น เขาก็บอกว่าเกมนี้ปลุกความทรงจำเมื่อครั้งที่แม่ของเขาเสียชีวิตขึ้นมา ซึ่งมันเจ็บปวดมาก แต่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ได้ทบทวนความรู้สึกนี้ขึ้นมาจริงจัง

จากเกมที่ใช้ทุนตัวเอง ก็เริ่มเข้าสู่การระดมทุนในคิกสตาร์ทเตอร์ และเริ่มมีหนทางเป็นไปได้ในทางธุรกิจที่จะขยายสู่ในวงกว้าง

หลายคนที่เคยผ่านเหตุการณ์ความสูญเสียอาจบอกว่าจะดีหรือที่หยิบเรื่องนี้มาทำเป็นเกม เพราะมะเร็งไม่ใช่เกมหรอกนะ เอมี ไรอัน และจอชเองก็ไม่ได้มองว่านี่คือ “เกม” ที่เล่นเอาสนุก หรือเพื่อชนะภารกิจต่างๆ ให้ได้ แต่คือการที่คุณจะเรียนรู้ว่าจะผ่านการต่อสู้ที่รู้ว่าไม่มีวันชนะได้อย่างไร ระหว่างทางของการพัฒนาเกม ก็คือเครื่องมือที่เอมีและไรอันใช้รับมือกับความตายของลูกชายที่กำลังใกล้เข้ามา

ในที่สุดโจลก็จากไปในปี 2014 เกมก็ยังเขียนไม่เสร็จ แล้วเรื่องราวของเกมจะไปอย่างไรต่อหลังจากความตายของโจล ไรอันถึงกับวางมือไปถึง 2 เดือนเพราะความโศกเศร้า แม้จะพอมีเวลาเตรียมใจ แต่ความสูญเสียนี้ก็ยากจะยอมรับ ในที่สุดพวกเขาจึงปรับทิศทางของเนื้อหา แทนที่จะโฟกัสไปที่โจล ก็เปลี่ยนมาเน้นเนื้อหาที่ความรู้สึกของเอมีและไรอันมากขึ้น และเกมนี้ก็ไม่ได้มีวิธีการเล่นแบบเกมทั่วไป ผู้เล่นจะไม่ได้สวมบทบาทตายตัวว่าเป็นตัวละครไหน บางครั้งเป็นเอมี บางครั้งเป็นไรอัน บางครั้งก็เป็นนกน้อยที่ร้องเพลงอยู่นอกหน้าต่าง และบางทีก็ไม่ได้เป็นอะไรเลยนอกจากผู้สังเกตการณ์ ฉะนั้น จุดมุ่งหมายของเกม ก็ไม่ใช่การปลอบโยนโจลที่กำลังร้องไห้เท่านั้น แต่ยังช่วยทุกตัวละครให้ผ่านความเจ็บปวดของสถานการณ์นี้ไปให้ได้

คนแต่ละคนเมื่อเล่นเกมนี้ก็มีวิธีจบเกมได้ไม่เหมือนกัน และบางทีเกมนี้อาจพาไปค้นหา เปิดบางบาดแผลในใจ และเยียวยาบางอย่างได้เหมือนกัน

อ้างอิง www.thatdragoncancer.com