หอมหวานจนรู้สึกได้จากปลายพู่กัน

หอมหวานจนรู้สึกได้จากปลายพู่กัน

ภาพขนมหวานไทยที่เขียนได้ราวกับขนมจริง ทำอย่างไรจึงถ่ายทอดออกมาได้ถึงขนาด จนรู้สึกถึงความหอมหวานได้ปานนั้น

เข้าไปดูงานของนักศึกษาปีที่ 2 คณะจิตรกรรม ที่เพาะช่าง แสดงงาน หอมหวานอย่างไทย หรือ ภาพเหมือนของขนมไทย  เขาต่างศึกษาและนำมาเขียน เขียน เขียน จนมันเหมือนจริงไม่ผิดเพี้ยน เขาทำกันได้อย่างไร ด้วยฝีมือมนุษย์ และทั้งๆ ที่เพิ่งหัดเขียนรูปกันได้ไม่นาน  ลองไปชิมดู 

ข้าวเหนียวมะม่วง ของพฤฒิรัตน์ ธัมนิภา ถามเธอว่าทำไมถึงมาเลือกเขียนข้าวเหนียวมะม่วง  เธอบอกว่า

“เป็นขนมชนิดแรกๆ ในชีวิตที่กินตอนเด็กๆ เลยประทับใจอยากวาด อีกอย่างเพื่อนๆ เขาวาดขนมน้ำๆ กันมากแล้ว เลยอยากวาดขนมที่แห้งๆ ไม่มีน้ำบ้าง  เริ่มต้นจากไปหาข้าวเหนียวมะม่วง มะม่วงต้องอกร่องสีเหลืองหวาน ซื้อร้านจากที่ ดิ โอลด์สยาม ใกล้เพาะช่างนี่แหละ แล้วนำมาจัดแสง วางองค์ประกอบใหม่ ไม่ลบรอยหยดของน้ำกะทิที่ติดขอบจาน มันทำให้ดูมีชีวิตชีวาดี แล้วก็ลงมือเขียน ร่างภาพ ลงสีพื้นแล้วก็ค่อยๆ เน้นสีขึ้นมา ความยากง่ายภาพนี้อยู่ที่ข้าวเหนียวแต่ละเม็ด ต้องใช้แว่นส่องขยายเก็บละเอียดเม็ดต่อเม็ดเลยทีเดียว” เพียงภาพข้าวเหนียวมะม่วงเจ้าแรกก็แทบจะหาข้าวเหนียวมะม่วงมากินแล้ว ไม่ใช่ความเหมือนแต่มันมีชีวิตเหมือนได้กลิ่นความหอมหวานอะไรปานนั้น

แตงไทยน้ำกะทิ  ที่ อภิรักษ์ศาสตร์ คำพูล เขียนได้เหมือนมีความหอมของอบเทียนลอยออกมา ความเย็นของแตงไทยดูนุ่มละมุน ถามเขา ทำไมถึงเลือกน้ำกะทิแตงไทย อภิรักษ์ศาสตร์บอกว่า

“อยู่บ้านนอกที่แปลงยาว ฉะเชิงเทรา ยายทำให้กินบ่อยๆ ชอบมาก พอได้โจทย์ขนมไทย นึกถึงน้ำกะทิแตงไทยที่ยายเคยทำให้กินทันที  และงานคราวนี้ที่เอามาวาด ยายก็ทำให้นำมาเป็นแบบและกินเหมือนเคย (หัวเราะ) ตั้งใจวาดแสดงให้เห็นความเป็นธรรมชาติของแตงไทย พยายามให้ได้รสกลิ่นสีของน้ำกะทิ ให้รู้สึกถึงความอบอุ่นที่บ้านนอก เรามีของธรรมชาติให้กิน ทำกินกันเองที่บ้านได้” ทำน้ำกะทิแตงไทยใช้เวลาไม่นานก็ได้กิน แต่ภาพแตงไทยน้ำกะทิ กว่าจะรู้สึกหอมกรุ่นละมุนนุ่มนวลชวนกินนั้น เดือนกว่าๆ จึงเก็บความเหมือนและความรู้สึกอันมีพลังนั้นมาให้ชิมชื่นชมได้  

แป๊ะก๊วย รากบัว ใน เต้าทึงเย็น ของ สินิตา บุญสูงเนิน  มันใสเย็นเห็นรากบัวและแป๊ะก๊วยจนอยากจะกินให้ชื่นใจ เธอเล่าว่า

“ไปซื้อจากร้านที่ตลาดพรานนก ถุงละ ๑๕ บาท แล้วก็นำมาใส่ถ้วยจัดแสงให้เหมาะ จัดไว้หลายๆ จนลงตัว เจตนาจะแสดงความใสของน้ำหวานน้ำแข็งที่มองเห็นแป๊ะก๊วยรากบัว ดูแล้วฉ่ำเย็นดี เธอร่างภาพแล้วก็ลงสีพื้นเป็นสีซีเปียก่อนแล้วค่อยๆ มาตรงกลางเก็บทีละจุดไล่ไปจนครบ อยากให้เห็นความเย็น ความสดชื่น” กว่าจะได้เห็นเป็นภาพเหมือนจริงขนาดนี้ เธอหมดเต้าทึงไปหลายถุงทีเดียว  ถามว่าจะทำให้ได้ขนาดนี้ได้อย่างไร เธอบอกใช้สมาธิ ใช้การสังเกตให้มากยิ่งขึ้น และอยู่กับตัวเอง มุ่งมั่นไม่วอกแวก “ก็เป็นประสบการณ์ให้กับตัวเราในการทำงาน ค่อยๆเพิ่มแก้ไขปรับปรุงเรื่อยไป สุดท้ายก็ออกมาได้”

ข้าวเหนียวปิ้ง ที่ปิ้งให้ฮือฮาของ นพราชย์  โอภาส “เป็นความรู้สึกผูกพันมาตั้งแต่เด็กๆ ยายชอบทำขนมให้กิน ข้าวต้มมัดกับข้าวเหนียวปิ้ง พอได้โจทย์มา ไม่คิดอย่างอื่น นึกถึงยาย นึกถึงข้าวเหนียวปิ้ง ที่นำมาวาดเป็นข้าวเหนียวปิ้งไส้กล้วย วันนั้นไปซื้อมาจากเจ้าที่อร่อย ตลาดนัดหน้าโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า นำมาจัดวางและจัดแสงให้เหมาะกับงานของเรา  โดยต้องการให้มีแง่มุมเห็นความมันวาวของข้าวเหนียว  ขั้นตอนแรกหลังจากร่างภาพแล้ว ก็รองพื้นด้วยสีน้ำตาลตามด้วยสีดำ พอได้ที่ก็ใช้สีแสงลงเพื่อให้เกิดความเงาของพื้นผิวข้าวเหนียว และทีแรกจะปล่อยผ่านไป แต่พอเห็นเศษเล็กๆ ของใบตองที่ไหม้และติดอยู่ตอนแกะขนม คิดว่านี่แหละใช่เลยที่จะนำมาตกแต่งให้มีชีวิตชีวา พอมีเศษใบตองไหม้ๆ ติดอยู่ มันเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งให้ชวนคิดตาม”

สีสวยสื่อความหวานเย็นกับ ทับทิมกรอบ ของ ธนากร ชัยวิเศษ 

“ปกติหน้าร้อนเช่นนี้ ขนมที่ชอบคือทับทิมกรอบ น้ำแข็งใสๆ หวานเย็น  อยากเขียนให้ได้ความใสและเย็น  ผมออกไปซื้อกับเพื่อนๆ กินกันเป็นประจำที่ร้านน้ำแข็งใสหน้าเพาะช่างนี่แหละ ตอนแรกก็ลงสีพื้นส่วนรวมไปก่อน แล้วก็ลงสีที่มีน้ำหนักส่วนเข้มไว้หลังสุด ภาพจะสวยดีแสงต้องได้ ทับทิมกรอบ เฉาก๊วย ลูกชิด และข้าวโพดในรูปใช้เวลาทำยาวๆ กับงานที่ใช่ด้วยใจที่ชอบ อาจารย์ช่วยแนะนำ เราก็ปรับจนในที่สุด ทับทิมกรอบก็เด่นเห็นความใสเย็นสมใจ จะลำบากตรงข้าวโพด เป็นสีเหลืองจะดึงน้ำหนักให้เด่นขึ้นมายาก”

ฟักทองแกงบวด ของ สุธาวี  สมบูรณ์ผล  เกิดจากความประทับใจวัยเด็ก

“แม่ทำให้กินบ่อยๆ เวลามีญาติๆ มา แม่ก็ทำขนมต้อนรับ ลูกๆ ก็พลอยได้กินกันไปด้วย เริ่มจากลงสีซีเปียก่อน เพราะออกโทนสีน้ำตาล แล้วก็เคลือบทั้งงานให้ออกสีอมส้ม แล้วมาย้ำตรงจุดเด่น  รอบๆ ให้เข้ม ตรงกลางสว่างๆ แลให้กลมกลืนกันในที่สุด ต้องการนำเสนอความรู้สึกหอมหวานตามโจทย์อย่างไทยๆ ของฟักทองแกงบวด ดูแล้วชวนให้ความรู้สึกหอมกรุ่นของกะทิ ของขนมฟักทองแกงบวดทีเดียว”

สิ่งที่นักศึกษาศิลปะ - อนาคตศิลปินได้รับจากการเขียนรูปเหมือนจริงนี้คืออะไร กาญจนาพร เข้าใจการ คนเขียน ภาพขนมเบื้อง ที่คนฮือฮาอีกภาพหนึ่งเล่าว่า

“เห็นเพื่อนวาดขนมน้ำๆ เยอะแล้ว เลยหนีไปวาดของแห้งที่เราชอบ ไปซื้อขนมเบื้องจากร้านป้าสมหมายที่ปากซอยบ้านสาทรซอย ๑๑ เริ่มจากลงสีโดยรวมแล้วมาเน้นทีละจุด เก็บรายละเอียดให้ได้ แล้วขอคำแนะนำจากอาจารย์ อาจารย์บอกให้เติมความเป็นครีม ให้รู้สึกว่าครีมมีความขาวและมีความหนา ก็มาปรับเพิ่มในที่สุด

“เป็นประสบการณ์ที่ไม่คิดว่าจะทำได้ เพราะตัวเองมาจากนักเรียนมัธยมปลาย ไม่ค่อยได้ผ่านประสบการณ์การวาดรูปเหมือนเพื่อนๆ ที่เรียนอาชีวะมา แต่ก็พยายามและตั้งใจ เป็นการสร้างประสบการณ์ให้เกิดความอดทนในการสังเกต ในการทำงาน และพยายามพัฒนาฝีมือตนเองให้มากยิ่งขึ้น  จนในที่สุดก็ทำได้”

การกินขนมไม่ใช่เรื่องยาก  การทำขนมกินเองยากกว่า  แต่การเขียนภาพขนมให้เหมือน และให้ความรู้สึกน่ากินน่าจะเป็นเรื่องยากที่สุด การเขียนภาพเหมือน คือการวางจุดหมายในการเขียนแล้วเดินไปสู่จุดหมายนั้น  หลายคนอาจจะมองว่าถ้าเขียนภาพเหมือนแล้วใช้กล้องไม่ดีกว่าหรือ แต่ความรู้สึกที่สร้างมากับมือและใจย่อมแตกต่างกัน  

ชมนิทรรศการ “หอมหวานอย่างไทย” ได้ที่หอศิลป์เพาะช่าง ถึงสิ้นเดือนมิถุนายน ๒๕๖๐