ตามรอยยุวกษัตริย์ โลซานน์ และวันวารอันงดงาม

ตามรอยยุวกษัตริย์ โลซานน์ และวันวารอันงดงาม

แม้จะเป็นหนึ่งในประเทศในฝันของคนไทยอยู่แล้ว แต่จากนี้ไปความหมายของสวิตเซอร์แลนด์ ก็จะยิ่งลึกซึ้ง โดยเฉพาะเมื่อเดินทางตามรอยพระยุคลบาท ในหลวง รัชกาลที่ 9

โลซานน์ เมืองงดงามแห่งสวิตเซอร์แลนด์ ปลายทางอันดับต้นที่นักเดินทางหมายตา แต่สำหรับชาวไทยนั้น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเมืองนี้มีสายสัมพันธ์อย่างหนึ่งที่ผูกใจเอาไว้ให้อยากเดินทางมาเยือนสักครั้ง

เพราะเป็นเมืองที่กษัตริย์ไทย 2 รัชกาลได้ทรงเสด็จฯ ประทับอยู่อย่างยาวนานเมื่อครั้งยังทรงเป็นพระองค์เจ้าจนถึงยุวกษัตริย์ ซึ่งคนไทยจะได้อิ่มเอมเมื่อได้มาตามรอยเส้นทางพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 และเจ้านายไทยในโลซานน์แห่งนี้

โลซานน์เป็นเมืองบนเนินเขาติดกับทะเลสาบเจนีวา หรือที่คนโลซานน์มักเรียกว่าทะเลสาบเลอม็อง ซึ่งโอบด้วยเทือกเขาแอลป์ฝรั่งเศสเป็นฉากหลังที่งดงามสมบูรณ์แบบ สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนีทรงเลือกพาครอบครัวมาประทับที่สวิตเซอร์แลนด์นั้น เป็นด้วยหลายเหตุผล ทั้งได้รับคำแนะนำจากพระราชวงศ์ และความประทับใจเมื่อครั้งที่ได้เสด็จมาชั่วคราว นอกจากจะมีภูมิประเทศงดงาม ธรรมชาติสมบูรณ์ อากาศดีเหมาะแก่พลานามัย และมีหลักสูตรการศึกษาดีสำหรับพระธิดาและพระโอรสแล้ว ที่สำคัญ สวิตเซอร์แลนด์คือประเทศที่วางตัวเป็นกลางทางการเมือง จึงนับว่าทรงมีวิสัยทัศน์เลือกสถานที่ประทับได้เหมาะยิ่งในช่วงสถานการณ์โลกอ่อนไหว

สิ่งที่ตามมาก็คือการใช้ชีวิตธรรมดาในประเทศที่มีคุณภาพชีวิตดีเลิศแต่ค่าครองชีพสูง ชาวสวิสจึงนิยมพักผ่อนด้วยกิจกรรมกลางแจ้งอย่างการเดินป่า การพายเรือ การขี่จักรยาน การเล่นสกี ซึ่งทั้งสนุกและย่อมเยาว์ บางอย่างก็ฟรี บางอย่างก็มีค่าใช้จ่าย การใช้ชีวิตดับค่าครองชีพสูงนี้ทำให้สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงทรงสอนให้พระโอรสและพระธิดาประหยัดอดออม และใช้ชีวิตเช่นสามัญชน กิจกรรมต่างๆ ก็ทรงทำเช่นเดียวกับชาวสวิส เติบโตมาอย่างเด็กทั่วไป ซึ่งเราอาจพูดได้ว่าช่วงชีวิตในเมืองโลซานน์มีส่วนอย่างมากในการหล่อหลอมพระองค์ขึ้นมาเป็นพระราชาที่คนไทยรักและเทิดทูนอย่างยิ่ง

เมืองแห่งการศึกษา

เมื่อย้อนไปดูตามพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 สมเด็จพระราชชนนี พระเชษญภคินี และพระบรมเชษฐา ได้เสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่โลซานน์ตั้งแต่ปี 2476 – 2494 โดยที่ประทับแห่งแรกนั้นอยู่ที่อพาร์ตเมนท์หมายเลข 16 ถนนติสโซต์ ซึ่งต่อมาสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี ได้ทรงตัดสินใจย้ายมาประทับที่วิลล่าแห่งใหม่ริม ซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขา หันหน้าไปทางทะเลสาบเจนีวา โดยทรงตั้งชื่อว่า “วิลล่าวัฒนา” ซึ่งเป็นการเช่าอาศัยอยู่ ปัจจุบันวิลล่าวัฒนาจึงถูกรื้อไปแล้ว เปลี่ยนเป็นอาคารที่พักอย่างอื่นแทน เราจึงไม่ได้ไปวิลล่าที่ทรงประทับอยู่หลายปีนั้น แต่สำหรับที่อพาร์ตเมนท์หมายเลข 16 นั้น ยังคงตั้งอยู่ที่เดิม หมายเลขเดิมให้เราเดินไปชมได้ แต่ที่นี่ก็เป็นที่อาศัยส่วนบุคคล การไประลึกถึงนั้น จึงควรหยุดอยู่เพียงหน้าประตู

แล้วเมื่อมองไปฝั่งตรงข้าม ก็จะพบร้านถ่ายภาพ Salamon de Jong ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนีเคยทรงพาเจ้านายพระองค์น้อยทั้ง 3 พระองค์ไปฉายพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมกันมาแล้ว ปัจจุบันก็ยังเปิดทำการอยู่

ที่โลซานน์นี้ นอกจากมหาวิทยาลัยอันเก่าแก่และมีชื่อแล้ว ยังมีโรงเรียนหลักสูตรใหม่สำหรับเด็กอีกด้วย อย่างเอกอล นูแวล (Ecole Nouvelle de la Suisse Romande) ซึ่งครูเกลย์อง เซไรดารีส ครูส่วนพระองค์ของในหลวง รัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 ครูเกลย์องเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนนี้ ประทับใจการเรียนการสอนของที่นี่ จึงได้แนะนำเอกอล นูแวลให้สมเด็จพระบรมราชชนนีได้ทรงพิจารณาเลือกเป็นสถานศึกษาของในหลวง รัชกาลที่ 8 และพระอนุชา

การไปเอกอล นูแวลครั้งนี้ นอกจากจะมีครูอธิการโรงเรียนและผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดมาต้อนรับแล้ว ยังมีมร.ลีซองดร์ เซ. เซไรดารีส (Lysandre Seraidaris) ผู้เขียนหนังสือ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 และเจ้านายไทยในโลซานน์” ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวจากความทรงจำของบิดา เกลย์อง เซไรดารีส ผู้ถวายงานรับใช้พระราชวงศ์ในการอภิบาลเจ้านายทั้ง 2 พระองค์มาอย่างยาวนานถึง 26 ปี มร.ลีซองดร์มาพบพวกเราเพื่อเป็นไกด์พิเศษนำชมโรงเรียนด้วย

เอกอล นูแวล แปลว่าโรงเรียนใหม่ ไม่ได้ใหม่ที่ตัวอาคาร แต่ใหม่ด้วยหลักสูตรการศึกษา ซึ่งในยุคนั้นเอกอล นูแวลได้เพิ่มการเรียนรู้นอกห้องเรียนเข้าไปเสริมวิชาการ เช่น การปลูกผัก และงานช่างไม้ ซึ่งเราก็ได้เข้าไปชมห้องคอมพิวเตอร์ ซึ่งอดีตนั้นเคยเป็นห้องเรียนงานไม้ที่ในหลวงทรงเคยเรียนมา ห้องเรียนชั้น 2 ที่เคยเป็นชั้นเรียนของพระองค์ มองออกไปเป็นเห็นวิวเทือกเขาอยู่ไกลๆ ภายในโครงสร้างอาคารเดิมนั้นมีการบูรณะภายในให้เปลี่ยนแปลงไปตามยุค แต่ภายนอกยังคงความเก่าแก่ที่เป็นตำนานอยู่ จนถึงวันนี้เอกอล นูแวลก็ยังคง “ใหม่” อยู่ เพราะมีการปรับปรุงหลักสูตรให้เข้ากับยุคสมัย

หลังจากเอกอล นูแวลแล้ว ระหว่างทางเรายังได้ผ่านตาไปดู Iceskating rink Montchoisi ลานไอซ์สเก็ตที่ครั้งหนึ่งพระราชวงศ์เคยมาฝึกเล่นสเก็ตน้ำแข็ง Cecil Clinic โรงพยาบาลสถานที่ที่ในหลวงทรงมาประทับรักษาพระวรกายหลังจากทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ โดยมีม.ร.ว.สิริกิตติ์ กิติยากร (พระยศขณะนั้น) ถวายการดูแลบ่อยครั้ง หลังจากนั้นยังผ่าน Montchoisi Clinic โรงพยาบาลสถานที่ประสูติของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี

จนมาถึงมหาวิทยาลัยโลซานน์ หรือ ปาเล เดอ รูมีน (Palais de Rumine) ซึ่งอยู่ใกล้กับมหาวิหารโลซานน์ มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นสถานศึกษาของทั้งในหลวงรัชกาลที่ 8 รัชกาลที่ 9 สมเด็จพระพี่นาง รวมถึงสมเด็จพระบรมราชชนนี ก็ได้เสด็จมาทรงศึกษาระหว่างที่รัชกาลที่ 9 ทรงศึกษาอยู่เช่นกัน ต่อมา มหาวิทยาลัยโลซานน์ได้ย้ายออกไปตั้งนอกเมือง โดยอาคารเดิมที่เราเห็นนั้นปัจจุบันคือพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด และหอประชุมวิชาการ

เมื่อเดินทางมายังบริเวณริมทะเลสาบเจนีวา ก็ต้องมองเห็นโบริวาจ พาเลซ (Beau-Rivage Palace) ซึ่งไม่เพียงเป็นโรงแรมหรูที่มีชื่อเสียงยาวนานของโลซานน์ ด้วยสถาปัตยกรรมและที่ตั้งซึ่งหันหน้าเข้ากับทะเลสาบเจนีวาพอดี ที่แห่งนี้เป็นสถานที่ที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี เคยเสด็จฯ มาพักผ่อน หรือ “ฮันนีมูน” ด้วย

เดินต่อมาอีกไม่ไกลก็จะเป็นสวนสาธารณะเดอนองตู (Denantou Park) สวนสาธารณะที่สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงพาเจ้านายเล็กๆ เสด็จฯ มาพักผ่อนอยู่บ่อยครั้ง ที่นี่เป็นที่ตั้งของ ศาลาไทย (Thai Pavillion) อันโดดเด่นสง่างามอยู่ท่ามกลางเนินหญ้าสีเขียวแวดล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่ ศาลาไทยแห่งนี้ รัฐบาลไทยสร้างขึ้นในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ครองราชย์ครบ 60 ปี และฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและสวิตเซอร์แลนด์ครบ 75 ปี ถึงตอนนี้ศาลาไทยกลายเป็นหมุดหมายของคนไทยในโลซานน์ (และที่เดินทางมาถึงโลซานน์) ให้ได้เข้าไปน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9

เมื่อหันหน้าออกสู่ทะเลสาบ ที่นี่คือท่าอูชี (Ouchy) สถานที่สุดโปรดสำหรับชาวโลซานน์และนักท่องเที่ยว มาใช้เวลาเดินเล่นพักผ่อนวันหยุดกัน เราไปถึงบ่ายวันเสาร์ที่อากาศกำลังดี เห็นผู้คนมากมายออกมาเดินสบายๆ นั่งอ่านหนังสือ วิ่ง ขี่จักรยาน เล่นสเก็ต และแน่นอนออกไปพายเรือกันด้วย ท่ามกลางวิวทะเลสาบ เทือกเขา ต้นไม้ที่กำลังระบัดใบเขียว ดอกไม้หลากสีบานสะพรั่ง  ท่าเรือแห่งนี้มีทั้งเรือพาย เรือใบ และเรือยอร์ช ในหลวงก็ทรงได้เรียนรู้การพายเรือระหว่างการเจริญพระชันษาที่นี่ และการทรงเรือก็กลายเป็นกีฬาโปรดของพระองค์ในเวลาต่อมา

บริเวณท่าเรืออูชี เป็นที่ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตต์ฯ ทรงโปรดปราน นิยมเสด็จพระราชดำเนินเคียงคู่กันเลียบทะเลสาบและทรงเช่าเรือพายด้วยกัน ในช่วงที่เสด็จมาประทับหลังพระราชาภิเษกสมรส และในเวลาต่อมา ก็ได้ทรงพาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทุกพระองค์มาแล่นเรือที่ท่าอูชี ทะเลสาบเลอม็อง เมื่อครั้งแปรพระราชฐานมายังสวิตเซอร์แลนด์เช่นกัน

การได้เห็นและสัมผัสกับสภาพแวดล้อม ภูมิประเทศ และการใช้ชีวิตของผู้คนในโลซานน์ทำให้เราเข้าใจมากขึ้นสิ่งแวดล้อมระหว่างที่ทรงเจริญพระชนมายุ การตามรอยพระยุคลบาททำให้เราเชื่อมโยงความเป็นพระมหากษัตริย์ที่เรารัก พระมหากษัตริย์ที่ทรงใส่ใจเรื่องการเกษตร และศาสตร์หลากแขนง เพราะทรงถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เยาว์วัย  พระมหากษัตริย์ที่ทรงบุกป่าฝ่าดงออกปฏิบัติพระราชกรณียกิจอยู่เสมอ นอกจากความห่วงใยที่ทรงมีต่อประชาชนแล้ว ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะทรงรักชีวิตกลางแจ้ง ทรงไม่กลัวความลำบากใดๆ ในเมืองที่มีทั้งความพิเศษและความสามัญอยู่คู่กัน ทำให้เรายิ่งรักและระลึกถึงพระราชาผู้ทรงเป็นแบบอย่างในชีวิตหลายด้าน

ขอขอบคุณ Switzerland Tourism

www.myswitzerland.com