“บีเจซี” เล็งผนึกคู่ค้าบิ๊กซี ตั้งโรงงานผลิตซีแอลเอ็มวี

“บีเจซี” เล็งผนึกคู่ค้าบิ๊กซี ตั้งโรงงานผลิตซีแอลเอ็มวี

“บีเจซี” หัวหอกธุรกิจผลิตสินค้า-ค้าปลีก เจ้าสัวเจริญ เปิดแผน 3 ปี ขยายห้างบิ๊กซีขนาดใหญ่ ในซีแอลเอ็มวี เล็งผนึกพันธมิตร-คู่ค้า-ซัพพลายเออร์บิ๊กซีที่ที่มีกว่าพันราย คัดรายที่มีศักยภาพร่วมทุนตั้งโรงงานผลิตสินค้าในซีแอลเอ็มวี ป้อนตลาดภูมิภาค

นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ห้างค้าปลีกในกลุ่มบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ หรือบีเจซี ธุรกิจของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เปิดเผยถึงแผนการดำเนินธุรกิจในภายใน 3 ปีจากนี้ ว่า จะให้ความสำคัญในการขยายธุรกิจห้างค้าปลีกในกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม หรือซีแอลเอ็มวี เป็นลำดับแรก ซึ่งการให้ความสำคัญกับพื้นที่ด้านขวาเหนือประเทศไทย (กัมพูชา ลาว) เนื่องจากจะเป็นเส้นทางเชื่อมธุรกิจการค้าไปยังเวียดนามได้เป็นอย่างดี

เบื้องต้นจะเน้นขยายห้างค้าปลีกบิ๊กซี “ขนาดใหญ่” ตั้งเป้าว่าแต่ละประเทศจะมีสาขาใหม่ประมาณ 5 สาขา เพื่อให้เครือข่ายการค้าครอบคลุมหัวเมืองขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ทั้งในกัมพูชาและลาว ส่วนในเวียดนาม ตั้งเป้าจะเปิดห้างค้าปลีกประเภทชำระเงินสด(แคชแอนด์แครี่)แบรนด์เอ็มเอ็ม เมก้า มาร์เก็ต 5 สาขา จากปัจจุบันมี 19 สาขา 

นอกจากการขยายสาขาห้างค้าปลีก บีเจซีจะให้ความสำคัญในการขยายธุรกิจต้นน้ำ และกลางน้ำเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเป็นเจ้าของห้างฯบิ๊กซี ทำให้พบว่ามีคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจมากถึงหลักพันราย จากนี้ไปจึงมองโอกาสในการเพิ่มศักยภาพของธุรกิจด้วยการเปิดโอกาสให้พันธมิตรเหล่านั้นที่สนใจจะขยายตลาดไปต่างประเทศ มาร่วมทุนกับบริษัทเพื่อตั้งโรงงานผลิตสินค้า สร้างการเติบโตให้กับธุรกิจกลางน้ำ(ผลิตสินค้า)และปลายน้ำ(ค้าปลีก)

“ตอนนี้เรากำลังสร้างท่อน้ำคือการกระจายสินค้าให้แข็งแกร่ง บิ๊กซีก็เป็นกิจการปลายน้ำ โดยมีบีเจซีจะเป็นหัวหอกร่วมทุนกับพันธมิตร ที่จะนำสินค้าซึ่งเป็นกิจการกลางน้ำของบริษัทมาขายที่กิจการปลายน้ำ รวมทั้งส่งออกไปยังภูมิภาคอาเซียน"

ล่าสุด บริษัทยังได้เดินลงทุนเกือบ 100 ล้านบาท ที่ประเทศกัมพูชา เพื่อสร้างโรงงานแปรรูปกระดาษชำระเซลล็อกซ์แบบกล่องและขนาดเล็ก ซึ่งเตรียมจะเปิดดำเนินการเร็วๆนี้ รองรับการนำสินค้าไปกระจายของบิ๊กซีในกัมพูชา

ส่วนความคืบหน้าการลงทุนในเมียนมา และมาเลเซีย เบื้องต้น กำลังศึกษาการขยายห้างค้าปลีกในเมียนมา ส่วนมาเลเซีย แม้บีเจซีจะมีฐานผลิตที่แข็งแกร่ง แต่การจะไปรุกธุรกิจค้าปลีกยังต้องพิจารณาโอกาส เพราะต้องยอมรับว่า ตลาดดังกล่าวมีผู้ประกอบการค่อนข้างหนาแน่น การแข่งขันสูง

นายอัศวิน กล่าวถึงการถอนบิ๊กซีออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า เพื่อลดความซ้ำซ้อนกับบริษัทแม่อย่างบีเจซี และยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานจากการเป็นบริษัทจดทะเบียน

“การเป็นบริษัทจดทะเบียนก็จะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น ซึ่งภายหลังการทำคำเสนอซื้อหุ้น(เทนเดอร์ออฟเฟอร์) ครบ1ปี ตามเงื่อนไข คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ก็มีจดหมายแจ้งบิ๊กซี เรื่องออกจากตลาด ซึ่งเป็นไปตามเหตุผลเรื่องลดค่าใช้จ่ายเรื่องจดทะเบียนได้ระดับหนึ่ง เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินการจัดหาเงินทุนต่างๆ รวมถึงการจัดโครงสร้างของบีเจซี ที่คล่องตัวกว่า เพราะหากมีบริษัทจดทะเบียนที่มีผู้ถือหุ้นรายย่อยทั้ง 2 บริษัท (บีเจซี และบิ๊กซี) ซึ่งต้องดูแล และบางครั้งอาจจะไม่เห็นด้วยกับการดำเนินงานต่างๆ”

นายอัศวิน กล่าวอีกว่า ความคืบหน้าการเปิดบิ๊กซี ที่จังหวัดปัตตานี หลังเหตุการณ์ลอบวางระเบิดที่ผ่านมา ในวานนี้(18 พ.ค.60) บริษัทได้เปิดให้บริการแก่ลูกค้าอีกครั้ง แต่ยังมีพื้นที่บางส่วน เช่น ศูนย์อาหารที่ยังไม่เปิดบริการ เพราะต้องซ่อมแซม

สำหรับเหตุระเบิดที่ผ่านมา สร้างความเสียหายให้กับห้างจำนวนหนึ่ง แต่ก็มีวงเงินประกันคุ้มครอง และจะไม่ส่งกระทบต่อผลประกอบการของบริษัท

ส่วนแนวโน้มกำลังซื้อไตรมาส 2 คาดว่าปรับตัวดีขึ้น จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ล่าสุดมูลนิธิบีเจซี บิ๊กซี จับมือกับพันธมิตร 7 คู่ค้า จัดกิจกรรม Back to School 2017 มอบทุนการศึกษาให้แก่โรงเรียน 131 แห่งทั่วประเทศ เพื่อยกระดับการศึกษาไทย และเป็นการลดภาระให้พ่อแม่ผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอม