‘เฟซบุ๊ค’ เดินหมากสกัด ‘คลิกเบท’

‘เฟซบุ๊ค’ เดินหมากสกัด ‘คลิกเบท’

เฟซบุ๊ค ประกาศอัพเดทฟีดข่าวใหม่ หวังสกัดลิงก์ที่มีหัวข้อข่าวที่ยั่วยุ หรือสร้างความเข้าใจผิด

ภาพ : FanPageCash.org

การแพร่กระจายของ คลิกเบท (ClickBait) หรือลิงก์ที่จูงใจให้คนคลิกอ่าน เพื่อเพิ่มยอดการคลิกในเว็บไซต์ เพิ่มยอดการเข้าไปอ่าน ซึ่งจะถูกนำไปอ้างอิงในการซื้อขายยอดวิว และเม็ดเงินโฆษณาในเว็บนั้นๆ เว็บคลิกเบทเหล่านี้มักใช้พาดหัวจูงใจ ดึงดูด แต่เนื้อหาจริงๆ อาจไม่มีอะไรเลย เป็นประเด็นที่เฟซบุ๊คให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง และพยายาม ‘สกัด’ เพจลักษณะนี้ ให้ปรากฏบนหน้าฟีดข่าวของเฟซบุ๊คน้อยลง 


รายงานของเฟซบุ๊ค ล่าสุด ระบุว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้คนมักไม่ชอบเรื่องราวที่ชวนให้เข้าใจผิด ยั่วยุอารมณ์ หรือคล้ายสแปมมากจนเกินไป ซึ่งรวมถึงพาดหัวข่าวแบบคลิกเบท ที่ดึงดูดความสนใจให้ผู้คนกดลิงค์ดังกล่าว

"จากความพยายามสนับสนุนชุมชนให้เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเที่ยงตรง เฟซบุ๊คพยายามตรวจสอบ และแยกแยะว่าเรื่องราวใดที่มีพาดหัวแบบคลิกเบท เพื่อลดการแสดงผลเรื่องราวนั้นๆ ให้น้อยลงกว่าเดิม"

ทั้งนี้ เมื่อปีที่ผ่านมา เฟซบุ๊คได้อัพเดทฟีดข่าว เพื่อลดจำนวนเรื่องราว และข่าวสารจากแหล่งข้อมูลที่มักจะโพสต์แนวคลิกเบท ไม่ว่าจะเป็นการปิดบังข้อมูลบางส่วน หรือนำเสนอเกินจริง โดยได้อัพเดทวิธีการทำงานเพิ่ม เพื่อจัดการกับกรณีดังกล่าว ให้ผู้คนเห็นเรื่องราวแบบคลิกเบทน้อยลง และรับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือบนฟีดข่าวมากยิ่งขึ้น

ลุยตรวจสอบเชิงลึกมากขึ้น
เฟซบุ๊คจะใช้ 2 วิธีหลัก ได้แก่ พยายามตรวจสอบหัวข้อข่าวคลิกเบทให้เจาะลึกในระดับโพสต์ของผู้ใช้แต่ละราย นอกเหนือจากระดับโดเมนของเว็บและเพจต่างๆ เพื่อลดพาดหัวข่าวคลิกเบทอย่างแม่นยำยิ่งขึ้น และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

โดยจะแบ่งวิธีการตรวจสอบออกเป็นสองแนวทางที่ต่างกัน พิจารณาว่าหัวข้อข่าวนั้นๆ ปกปิดข้อมูลบางส่วน หรือนำเสนอเรื่องราวอย่างเกินจริง ซึ่งจะทำการตรวจสอบแยกจากกันโดยสิ้นเชิง พร้อมระบุว่ากำลังทดสอบวิธีการนี้ในภาษาอื่นๆ เพิ่มเติมอีกด้วย

เฟซบุ๊ค ระบุว่า หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่สุดของฟีดข่าว คือ การสื่อสารด้วยข้อมูลที่ถูกต้องเที่ยงตรง จึงทุ่มเทตรวจสอบและแยกแยะเนื้อหาประเภทต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้งานให้ได้มากที่สุด

สำหรับหัวข้อข่าวประเภทปกปิดข้อมูลบางส่วน ตั้งใจละทิ้งข้อมูลสำคัญหรือสร้างความเข้าใจผิดต่อผู้คน โดยบังคับให้ต้องคลิกเพื่อค้นหาคำตอบ ยกตัวอย่างเช่น “เมื่อเธอพลิกเบาะโซฟาขึ้น ก็ต้องตื่นตะลึงเมื่อพบกับสิ่งนี้…” ในขณะที่หัวข้อข่าวประเภทเกินจริง นำเสนอข้อมูลด้วยภาษาที่หวือหวา มีแนวโน้มยกระดับให้เรื่องราวใหญ่โตกว่าที่เป็นจริงๆ เช่น “ว้าว! รู้หรือไม่ว่าชาขิงเป็นเคล็ดลับสู่ความเยาว์วัยชั่วนิรันดร์ คุณจำเป็นต้องอ่านสิ่งนี้!”

วิธีการจัดการกับกรณีดังกล่าว คล้ายกับความพยายามก่อนหน้านี้ของเฟซบุ๊คในการลดหัวข้อข่าวคลิกเบทโดยรวม โดยทำการแจกแจงหัวข้อข่าวมากกว่าแสนหัวข้อว่าเป็นคลิกเบท หรือไม่ พิจารณาว่าหัวข้อนั้นๆ เกินกว่าความเป็นจริงกว่าเรื่องราวที่นำเสนอ หรือปิดบังข้อมูลบางส่วน

"ทีมงานของเฟซบุ๊คจะตรวจสอบหัวข้อข่าว โดยใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าว และตรวจทานความถูกต้องของสมาชิกในทีม ก่อนระบุว่าเป็นหัวข้อข่าวคลิกเบทจำนวนมาก หลังจากนั้น จะวิเคราะห์ว่า วลีใดที่ถูกใช้ในหัวข้อข่าวแบบคลิกเบทอย่างแพร่หลาย และไม่ได้ใช้ในหัวข้อข่าวจริงๆ ซึ่งเป็นหลักการทำงานที่คล้ายการตรวจจับอีเมลสแปม" รายงานในเฟซบุ๊ค ระบุ

เฟซบุ๊ค ระบุว่า จากนี้โพสต์แนวคลิกเบททั้งหลายจะปรากฏบนฟีดข่าวน้อยลง และหวังว่าความสามารถนี้จะขยายสู่การลดคลิกเบทในภาษาอื่นๆเพิ่มเติมอีกด้วย

ขณะที่ การอัพเดทนี้ เฟซบุ๊ค ระบุว่า จะไม่ส่งผลให้เพจส่วนใหญ่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญใดๆ ในการโพสต์บนฟีด

แนะเพจเลี่ยงหัวข้อข่าวปิดบังข้อมูล
สำนักข่าวหรือผู้ที่ผลิตเนื้อหาโดยอาศัยคลิกเบท อาจเห็นว่าโพสต์ของพวกเขาเข้าถึงผู้คนได้ลดน้อยลง เฟซบุ๊คแนะนำว่า เพจต่างๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้หัวข้อข่าวที่ปิดบังข้อมูลที่จำเป็น หรือพาดหัวให้เกิดความเข้าใจผิด หากเพจนั้นๆ หยุดโพสต์คลิกเบทและหัวข้อข่าวที่ยั่วยุอารมณ์จนเกินไป โพสต์จากเพจดังกล่าวจะกลับสู่ภาวะปกติ และไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้

พร้อมทั้งแนะด้วยว่า เพจต่างๆ ควรศึกษาข้อปฏิบัติที่ดีในการนำเสนอข้อมูลอยู่เสมอ เราจะเรียนรู้จากผลตอบรับของการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ เพื่อลดคลิกเบทให้น้อยลงอย่างต่อเนื่อง และให้ฟีดข่าวเป็นพื้นที่ที่สื่อสารได้อย่างน่าเชื่อถือ

ทั้งนี้ ไทยเป็นตลาดใหญ่ที่เฟซบุ๊คเติบโตสูง ซึ่งปัจจุบันผู้ใช้แอคทีฟต่อเดือนอยู่ที่ 44 ล้านคน และที่น่าสนใจคือ ในจำนวนนี้ 42 ล้านคนใช้เฟซบุ๊คผ่านมือถือ

ขณะที่ ก่อนหน้านี้ นายมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) เฟซบุ๊ค กล่าวในงานประชุมประจำปี ว่า เฟซบุ๊คมีความพยายามหาแนวทางใหม่ๆ มาใช้เพิ่มเติมในการตรวจหาวิดีโอ รูปภาพ หรือข้อความที่ไม่เหมาะสมมากขึ้น ปัจจุบันเฟซบุ๊คมีผู้ทั่วโลก 1,900 ล้านคน หรือเกือบ 20% ของประชากรโลก