ฟันธง ‘ส่งออก’ ไทยไปจีนโต 7%

ฟันธง ‘ส่งออก’ ไทยไปจีนโต 7%

ฟันธง "ส่งออก" ไทยไปจีนโต 7% เศรษฐกิจชะลอไร้ผลกระทบ

เศรษฐกิจจีนไตรมาส 2 ปี 2560 ส่อแววชะลอตัว โดยเฉพาะการผลิตซึ่งอาจส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจเริ่มแผ่วลงนับจากนี้ โดยตัวเลขเศรษฐกิจจีนเดือนเม.ย.2560 บ่งชี้ถึงการอ่อนแรงของภาคเศรษฐกิจ สะท้อนจากผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวลดลงมาอยู่ที่ 6.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

รวมทั้งดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคการผลิตที่ลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 6 เดือน สิ่งเหล่านี้ส่งสัญญาณว่า แนวโน้มกิจกรรมภาคการผลิตในระยะข้างหน้าคงทยอยชะลอตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเศรษฐกิจที่มีกำลังการผลิตส่วนเกิน อันเป็นผลมาจากความพยายามในการบริหารจัดการของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน เหล็กกล้า รวมถึงอะลูมิเนียมและซีเมนต์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จากแนวโน้มการผลิตที่อาจอ่อนแรงลงในอุตสาหกรรมที่ทางการจีนพยายามปฏิรูป รวมถึงภาคการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ที่อาจชะลอลงตามการควบคุมการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของทางการจีน ย่อมเป็นตัวฉุดให้เศรษฐกิจจีน รวมถึงการจ้างงานและค่าแรงของแรงงานในภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เติบโตในทิศทางที่ชะลอลงในช่วงที่เหลือของปี 2560 หลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจจีนขยายตัวได้ 6.9% ในไตรมาสแรกที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี สัญญาณการฟื้นตัวของการค้าระหว่างประเทศ และโมเมนตัมการบริโภคภาคเอกชนที่ ยังคงดีอยู่มีส่วนช่วยประคองเศรษฐกิจจีนในช่วงที่เหลือของปี 2560 ให้ยังคงขยายตัวได้ โดยคาดเศรษฐกิจจีนปี 2560 ขยายตัวได้ 6.5% ถึงแม้จีนจะเผชิญความเสี่ยงที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ทว่ายังคงมีปัจจัยที่ช่วยประคองเศรษฐกิจจีนให้ขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ทางการวางไว้ ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นตัวของการค้าระหว่างประเทศหรือการบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวได้ดี

การค้าระหว่างประเทศของจีนยังคงมีแนวโน้มสดใส โดยการส่งออกของจีนในช่วง 4 เดือนแรกขยายตัวได้ 8.1% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่การนำเข้าขยายตัวถึง 20.8% โดยได้อานิสงส์จากฐานเปรียบเทียบของปีที่ผ่านมาที่ค่อนข้างต่ำ เศรษฐกิจโลกที่ทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง และการผ่อนคลายแรงกดดันด้านการค้าจากทางสหรัฐฯ ที่มีต่อจีนจากการเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการของจีน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้ปรับเพิ่มคาดการณ์มูลค่าการส่งออกของจีนในปี 2560 นี้จากเดิมที่กรอบ 1.8-4.8% มีค่ากลาง 3.5% มาอยู่ที่ 3.0-5.5% ค่ากลาง 4.2% โดยพลิกกลับมาเป็นบวกได้หลังจากหด

ตัวมากว่า 2 ปี

ทั้งนี้สินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี ได้แก่ สมาร์ทโฟนและชิ้นส่วนประกอบ เครื่องรับโทรทัศน์วิทยุและส่วนประกอบ โน้ตบุ๊คและส่วนประกอบ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักไปยังตลาดสำคัญอย่าง สหรัฐ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหภาพยุโรป ทั้งนี้ การส่งออกที่เพิ่มขึ้นย่อมนำมาซึ่งการขยายตัวของภาคการผลิตสินค้าที่เกี่ยวเนื่องข้างต้น

นอกจากนี้ การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนภายในประเทศอยู่ในระดับที่น่าพอใจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบ่งชี้ได้จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่สูงกว่า 110 เป็นเวลา 2 เดือนติดกัน (มี.ค-เม.ย.2560) โดยตัวเลขดังกล่าวนับว่าอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 9 ปีและค่าที่สูงกว่า 100 บ่งบอกถึงความเชื่อมั่น ผู้บริโภคที่ยังคงเป็นบวก ได้สะท้อนมาสู่ยอดค้าปลีกที่ยังคงขยายตัวสูงกว่า 10% และน่าจะยังคงรักษาโมเมนตัมในระดับที่ดีตลอดปี 2560

ศูนย์วิจัยกสิกร ระบุว่า ส่งออกจีนในปี 2560 ที่ยังคงสดใส เป็นแรงผลักดันให้ส่งออกไทยไปจีนฟื้นตัวได้ 7% โดยโมเมนตัมการฟื้นตัวของการส่งออกจีนที่เห็นได้ชัดตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2559บวกกับการบริโภคภาคเอกชนที่เติบโตต่อเนื่อง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การนำเข้าของจีนเพื่อมาตอบโจทย์สินค้าอุตสาหกรรมและการบริโภคภายในประเทศฟื้นตัวได้ดี และส่งผลทำให้การส่งออกของไทยไปยังจีนในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ขยายตัวได้กว่า 36.9% จากฐานเปรียบเทียบของปี ที่ผ่านมาที่ค่อนข้างต่ำ

นำโดยวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพื่ออุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นยางพารา เม็ดพลาสติก ชิ้นส่วนยานยนต์ น้ำมันดิบ ซึ่งบางส่วนได้อานิสงส์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ฟื้นตัว หรือสินค้าคงทนอย่างยานยนต์นั่งส่วนบุคคลและชิ้นส่วนประกอบ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การส่งออกของไทยไปยังจีนในปี 2560 จะสามารถขยายตัวได้ในกรอบ 5.5-8.5% ค่ากลางที่ 7% ทั้งนี้ทิศทางการอ่อนแรงของภาคอสังหาริมทรัพย์และการผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมที่ทางการจีนพยายามปฏิรูป ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกไทยที่เกี่ยวข้อง อาทิ เหล็กและเหล็กกล้า อย่างมีนัยสำคัญ