‘คอมพาส’ชูธงแบรนด์5ดาวแข่งเชนอินเตอร์รุกไทย

‘คอมพาส’ชูธงแบรนด์5ดาวแข่งเชนอินเตอร์รุกไทย

ท่ามกลางการแข่งขันของเชนโรงแรมระดับนานาชาติ “คอมพาส ฮอสพิทาลิตี้” ภายใต้คอมพาส แคปิตอล อินเตอร์เนชั่นแนล จดทะเบียนในฮ่องกง ใช้ชื่อเสียงการทำตลาดในไทยมา 17 ปี สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน และวางกลยุทธ์เติบโต สู่การปักธงทำตลาด 5 ดาวเพิ่มขึ้น

นูมา แบร์ทรอง รองประธานอาวุโส ฝ่ายบริหารจัดการองค์กร บริษัทคอมพาส ฮอสพิทาลิตี้ กล่าวว่า เริ่มต้นเข้ามาทำตลาดรับบริหารแห่งแรกที่กรุงเทพฯ และปัจจุบันยังเป็นจุดหมายที่ปักหลักขยายโรงแรมได้มากที่สุดถึง 21 แห่ง โดยเฉพาะย่าน “สุขุมวิท” ที่เป็นความเชี่ยวชาญมากที่สุด นอกจากนั้น ยังขยายการรับบริหารไปยัง พัทยา, เชียงใหม่ ตามกลยุทธ์การเจาะทำเลแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในประเทศ

แต่โครงการที่ถือเป็นสัญลักษณ์ในเชิงรุก สำหรับการขยับขยายฐานในไทยอย่างมีนัยสำคัญในปีนี้ ได้แก่ การเปิดโรงแรมแห่งแรกในหัวหิน ซึ่งเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว ภายใต้ชื่อ “อนันดา หัวหิน รีสอร์ท แอนด์ สปา” ขนาด 196 ห้อง ที่บ่งบอกถึงความพร้อมในการจับตลาดไฮเอนด์เต็มตัว หลังจากที่เปิดตัวโรงแรมคอมพาส สกาย วิว ขนาด 285 ห้องที่สุขุมวิท 24 ไปเมื่อราว 6 เดือนที่ผ่านมา

“โรงแรมภายใต้เครือคอมพาสมีทั้งหมด 4 แบรนด์ ที่ผ่านมาทำตลาดด้วยแบรนด์ซิติน ระดับ 3 ดาว และแบรนด์ซิตรัส ระดับ 4 ดาวมากที่สุด แต่หลังจากนี้เป็นต้นไป นอกจากจะขยายฐานธุรกิจด้วยฐานตลาดเดิมแล้ว จะมุ่งสู่กลุ่ม 5 ดาวมากขึ้น โดยใช้แบรนด์คอมพาส, แบรนด์อนันดา รวมถึงการรับบริหารภายใต้แบรนด์อิสระ (White Label) ในกลุ่มคอมพาส คอลเลคชั่นมากขึ้น”

ข้อได้เปรียบของการทำตลาดมายาวนาน คือการสร้างความเชื่อถือให้กับนักลงทุน ซึ่งเมื่อตัดสินใจสร้างโรงแรมแห่งที่ 2 และ 3 ทั้งในไทยและต่างประเทศ จึงวางใจให้บริการโครงการอื่นต่อเนื่อง และโมเดลนี้ ยังทำให้ประสบความสำเร็จในการขยายกิจการไปยัง “สหราชอาณาจักร” ด้วย เนื่องจากใช้เวลาเพียง 2 ปีกว่า สามารถรับบริหารได้ถึง 11 แห่งแล้ว หลังจากที่โรงแรมแรกเป็นตัวอย่างความสำเร็จ มีจุดเด่นด้านระยะเวลาการคืนทุนที่รวดเร็ว

การขยายโรงแรมปัจจุบันยังเน้นใน 3 ประเทศ ด้วยการออกไปตั้งบริษัทเพื่อดูแลตลาดอย่างใกล้ชิด ได้แก่ ไทย, มาเลเซีย และสหราชอาณาจักร โดยให้น้ำหนักกับการรับบริหาร 85% และอีก 15% เป็นการลงทุนของเจ้าของบริษัทคอมพาส แคปิตอล เอง ซึ่งแต่ละพื้นที่จะวางกลยุทธ์ต่างกัน ในสหราชอาณาจักรที่มีการแข่งขันในเมืองใหญ่อย่าง ลอนดอน สูงมาก ก็จะหลีกเลี่ยงความหนาแน่น หันไปเจาะตลาดเมืองรองแทน เช่น โรงแรมซิตรัส โคเวนทรี ขนาด 51 ห้อง รายล่าสุดที่เซ็นสัญญารับบริหารตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา

สำหรับการขยายกิจการในไทย ขณะนี้มีโครงการที่อยู่ระหว่างการเจรจาอีก 6-7 แห่ง จากปัจจุบันมีอยู่แล้ว 30 แห่ง โดยในปีนี้มีโครงการใหญ่ที่เตรียมเปิดอีก ได้แก่ ซิตรัส แกรนด์ โฮเทล แอนด์ สปา ขนาด 510 ห้อง และเดอะ คีย์ 113 ห้อง ซึ่งจะเป็นโรงแรมในเครือลำดับที่ 4 และ 5 ในพัทยาด้วย

ส่วนทำเลที่จะเข้าไป มองการขยายเพิ่มเติมที่เชียงใหม่ จากที่ปัจจุบันมีอยู่แล้ว 3 โรงแรม รวมถึงทำเลรีสอร์ทชายทะเล เช่น ภูเก็ต, สมุย, กระบี่ เป็นต้น

ด้าน พิเชษฐ วงศ์เขื่อนแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัทเอช แอนด์ เอ ปาร์ค จำกัด ในฐานะผู้ลงทุนโรงแรมอนันดา หัวหิน รีสอร์ท แอนด์ สปา กล่าวว่า บริษัททำธุรกิจลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงโรงแรมด้วย โดยเป็นธุรกิจภายใต้ตระกูลศรีชวาลาที่มีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุนโรงแรมมาก่อน การแตกไลน์บริษัทนี้ขึ้นมา ประเดิมการสร้างโรงแรมอนันดา หัวหินฯ เป็นแห่งแรก ภายใต้งบประมาณ 1,500 ล้านบาท หรือลงทุนต่อห้องที่ 7 ล้านบาท มากกว่าค่าเฉลี่ยของโรงแรม 5 ดาวทั่วไปซึ่งอยู่ที่ราว 5 ล้านบาทต่อห้อง นอกจากนั้นยังใช้ที่ดินพัฒนากว่า 31 ไร่ และคาดว่าจะคืนทุนได้ภายในระยะเวลา 12 ปี

สาเหตุที่เลือกคอมพาส ฮอสพิทาลิตี้ เนื่องจากมีความคุ้นเคยในการให้รับบริหารโรงแรมอื่นๆ ในเครือธุรกิจเดียวกันมาก่อน มีประสบการณ์ในประเทศยาวนาน ทำให้เข้าใจการทำตลาดในไทยได้ดี โดยคาดหวังว่าโรงแรมนี้จะมีอัตราเข้าพักเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 70-80%

พิเชษฐ์ กล่าวด้วยว่าการเลือกลงทุนในหัวหินเป็นแห่งแรก เนื่องจากเป็นทำเลชายทะเลที่สงบเงียบและใกล้กับกรุงเทพฯ มากที่สุด เป็นจุดหมายที่นิยมของตลาดคนไทย ดังที่พบจากการสำรวจพบว่ามีสัดส่วนลูกค้าในประเทศกว่า 80% ขณะที่อีก 20% เป็นที่นิยมของตลาดยุโรปและเอเชีย และเมื่อวิเคราะห์พบว่าในพื้นที่หัวหินยังมีโรงแรม 5 ดาวจำนวนจำกัด หากนับรวมกับอนันดา หัวหิน มีเพียง 8 แห่งเท่านั้น จึงถือว่ามีศักยภาพในการทำตลาดเจาะกลุ่มไฮเอนด์ได้อีกมาก ในช่วงเปิดตลาดแนะนำโรงแรม จะใช้กลยุทธ์ราคาโปรโมชั่น 3,500-4,000 บาท และสำหรับวิลล่าที่มี 23 หลัง ราคา 1.5-2.5 หมื่นบาทต่อคืน

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการสร้าง “จุดแข็ง” ที่โดดเด่นเหนือโรงแรม 5 ดาวในละแวกเดียวกันอีก โรงแรมได้สร้างพื้นที่ห้องประชุมขนาดใหญ่กว่า 900 ตร.ม.ขึ้นมาด้วย ซึ่งทำให้เป็นโรงแรมในหัวหินที่มีห้องประชุมขนาดใหญ่ที่สุดในขณะนี้ พร้อมรองรับการจัดประชุมสัมมนา และการจัดเลี้ยงขนาดใหญ่ได้ โดยตั้งเป้าในการจับตลาด “คู่แต่งงานอินเดีย” โดยเฉพาะ ขณะนี้มีการเซ็นสัญญาไปแล้วราว 4 งาน และโรงแรมคาดว่าจะต้องดึงดูดลูกค้าประเภทจัดเลี้ยงหรือประชุมขนาดใหญ่ 12-15 งานต่อปี

ด้าน เดวิด แบร์เร็ตต์ ที่ปรึกษาด้านธุรกิจไมซ์ อนันดา หัวหินฯ กล่าวว่า กำลังทำงานร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (ทีเส็บ) เพื่อทำโครงการนำร่อง ส่งเสริมจุดเด่นให้หัวหินเป็นเมืองแห่ง “การประชุมและท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล” (Meeting and Incentive) หลังจากที่ได้รับเลือกเป็น 1 ใน 5 ไมซ์ซิตี้ของไทยมาแล้ว ซึ่งโครงการนี้จะทำให้มีภาพลักษณ์ในเชิงลึกเจาะกลุ่มลูกค้าเฉพาะมากขึ้น สอดคล้องกับศักยภาพการรองรับของหัวหิน ที่เป็นเมืองตากอากาศชายทะเลที่สงบ ไม่ได้มีห้องประชุมที่รองรับคนจำนวนกว่า 2,000 คนขึ้นไป จึงตอบโจทย์กลุ่มเดินทางเชิงธุรกิจขนาดเล็กถึงกลางมากกว่า