เปิดใจขุนพลไทยเบฟ เคลื่อนทัพผลิต 4.0

เปิดใจขุนพลไทยเบฟ เคลื่อนทัพผลิต 4.0

เป็นหนึ่งในขุนพลข้างกาย “เจ้าสัวเจริญ” และ “เจ้าสัวน้อย ฐาปน สิริวัฒนภัักดี” สำหรับ “พิษณุ วิเชียรสรรค์” ออกสื่อที ขอเล่า Passion การทำงานแบบถึงลูกถึงคน เคียงข้างนายใหญ่-นายน้อย ยกระดับธุรกิจเครื่องดื่มไทย สู่โลกอนาคต ด้วยเทคโนโลยี

เป็นหนึ่งในขุนพลข้างกายเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) เลยก็ว่าได้ สำหรับ “ดร.พิษณุ วิเชียรสรรค์ กรรมการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และกรรมการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) เพราะนับตั้งแต่บุกเบิกสร้างโรงเบียร์ ดร.พิษณุ ก็เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการช่วยงานและส่วนใหญ่จะอยู่ เบื้องหลัง” ไม่ได้ออกหน้าเหมือนกันฝ่ายการตลาด หรือฝ่ายขายต่างๆมากนัก

โอกาสดี เมื่อ “โออิชิ กรุ๊ป” เปิดโรงงานผลิตชาเขียวแห่งที่ 3 ที่อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี เลยมีโอกาสได้สนทนากับผู้บริหารโออิชิ แบบยกทีม นำโดย ฐาปน สิริวัฒนภักดี” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) และรองประธานกรรมการ บมจ. โออิชิ กรุ๊ป "นงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บมจ.โออิชิ กรุ๊ป ซึ่งเพิ่งเข้ามาทำงานหมาดๆ และยังไม่ได้ฉายวิสัยทัศน์ในการเคลื่อนธุรกิจเครื่องดื่มอย่างจริงจัง และ เจษฎากร โคชส์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจเครื่องดื่ม บมจ.โออิชิ ที่ประกาศกร้าวถึงความพร้อมลุยธุรกิจเครื่องดื่มชาเขียวทั่วโลก

หนึ่งในคีย์แมนคนสำคัญ ต้องยกให้ ดร.พิษณุ ที่ออกตัวว่าเป็นคนพูดไม่เก่ง พร้อมเปรยเปรียบตัวเองว่า ตรงๆนะ ผมเป็นพระป่า ไม่ใช่พระพาณิชย์ พูดไม่เก่งหรอก” แต่กระนั้น เมื่อพบปะสื่อทั้งที อดไม่ได้ที่จะเล่าเรื่องราวหลายอย่างให้ฟังเกี่ยวกับเครือไทยเบฟ และสิ่งที่โออิชิกำลังทะยานไปข้างหน้าเพื่อผลักดันธุรกิจเครื่องดื่มไทยให้เป็น “1 ใน 5 ยักษ์เครื่องดื่มเอเชีย ตามวิชั่น 2020 (ปี2563)

ในปีที่ผ่านมา ดร.พิษณุ เป็นหนึ่งในผู้บริหารของไทยเบฟที่ถูกปรับตำแหน่ง โดยเพิ่มคำว่า อาวุโส ห้อยท้ายตำแหน่งเดิม เจ้าตัวบอกเช่นนั้น โดยภาระหน้าที่ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เขายังคงทำงานที่เต็มเปี่ยมไปด้วย Passion (ความหลงใหล) ไม่ต่างจาก “ผู้กุมบังเหียน”

งานก็เต็มมือตลอด...โอ๊ย! อยู่กับคุณหนุ่ม (ฐาปน) หาเวลาว่างไม่มี เพราะงานเป็นความสุขของเขา(คุณหนุ่ม)” ดร.พิษณุเล่าอย่างอารมณ์ดี

ถามถึงแผนธุรกิจเครือไทยเบฟ ทั้งการสร้างโรงเบียร์แห่งใหม่ การซื้อและควบรวมกิจการ(M&A)ต่างๆที่มีกระแสออกมา เพื่อขยายอาณาจักรและสานวิชั่น 2020 เขาบอกว่า ให้ฟังที่ "เจ้านายผมพูด เวลาฟังต้องแกะความหมายให้ดีๆ เพราะเขาหมายความถึงอะไรในนั้นไว้เยอะ และต้องให้เจ้านายพูด ตรงนั้นใช้ได้เลย" เขาพูดและว่า 

โอ้โห..คุณหนุ่มเป็นทุกอย่าง เหมือนแกนกลาง ฉะนั้นคำพูดของเขาที่พูดออกมา ทุกคนในองค์กรต้องหมุนตามเขาให้ได้ มันไม่มีใครหยุดได้ ในเมื่อหัวจักรใหญ่ไม่หยุด

จึงไม่แปลกที่จะเห็นการเดินเกมธุรกิจ “เชิงรุก” อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นลงทุน การทำตลาด การขยายคลังสินค้า โลจิสติกส์ กระทั่งเทคโนโลยีการผลิตต่างๆ

ล่าสุด กับเกมรุกระลอกใหม่ เมื่อบริษัทในเครืออย่างโออิชิ ทุ่มงบมหาศาล พัฒนาโรงงานบนเนื้อที่ 232 ไร่ จากพื้นที่ของไทยเบฟทั้งสิ้น 1,486 ไร่ โดยโรงงานแห่งนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถกรแข่งขันให้กับธุรกิจเครื่องดื่มโออิชิรอบด้าน ด้วยทำเลที่ตั้งบนที่ราบสูง(Highland) ใกล้กับแหล่งน้ำที่มีคุณภาพคงที่ ซึ่งเครื่องดื่ม การได้ “วัตถุดิบน้ำที่ดี” ก็เอื้อต่อการผลิตสินค้าคุณภาพ การผลิตบรรจุภัณฑ์หรือแพ็คเกจจิ้งได้หลากหลายมากขึ้น

นอกจากนี้ ระบบสาธาณูปโภคพื้นฐาน ถนนหนทางที่รัฐทุ่มงบพัฒนาเพื่อเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตก ก็ยิ่งทำให้การขนส่งสินค้าเป็นประตูสู่ภาคอีสาน เหนือ เชื่อมไปยังประเทศเพื่อนบ้านทั้งลาว เมียนมา และกัมพูชา สะดวกมากขึ้น อีกทั้งโรงงานแห่งนี้ “ฉีก” ออกจากทำเลที่คู่แข่งหรือผู้ประกอบการรายอื่นอยู่รวมกันเป็น “คลัสเตอร์” นั่นทำให้เขาฟันธงว่า

โลจิสติกส์คู่แข่งแพ้ผม ดร.พิษณุบอก ก่อนขยายความว่า..

ทำเลนี้ดีมาก น้ำไม่มีวันท่วม แหล่งน้ำดีมาก เพราะไหลลงมาจากเขาใหญ่ ซึ่งแหล่งน้ำที่ดีไม่ได้หาง่าย น้ำคุณภาพนิ่ง ชีวิตผมสบายเลย เพราะคุณภาพสินค้าคือชัวร์ หากได้น้ำที่ไม่ดี แม้เทคโนโลยีจะสกัดกรองออกได้ แต่มันไม่ใช่ และที่นี่จะเป็นประตูฟีดสินค้าสู่ภาคเหนือ อิสาน อินโดจีน ได้หมดเลย แทนที่จะแบกสินค้ามาจากภาคกลาง และการผลิตก็เดินเต็มที่ 100% ตอบโจทย์การลงทุนว่าเรามาถูกที่ถูกทาง

ด้านกระบวนการผลิตสินค้า โออิชิยังทุ่มทุนซื้อเครื่องจักรที่มีนวัตกรรมการผลิตและบรรจุเย็นแบบปลอดเชื้อ(CAF)มาใช้ โดยเจ้าตัวการันตีว่าโรงงานแห่งนี้ใช้เทคโนโลยีการผลิตดีที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน สอดคล้องกับนโยบายบริษัทที่จะไม่ “ประนีประนอม"เรื่องคุณภาพ

“เราเป็นรายแรกในอาเซียนที่ลงทุน CAF เรามองระยะยาว ไม่ทำอะไรฉาบฉวย” เห็นได้จากการลงทุนเครื่องจักรที่ใช้ระดับโลกจาก Shibuya corporation นอกจากวัตถุดิบน้ำที่ดี ใบชาก็ต้องเป็นยอดอ่อนใบชาออการ์นิก 3 ใบเท่านั้น และชาต้องผ่านกระบวนการผลิตต้องผ่านน้ำเดียวเท่านั้น เพื่อให้ได้แอนติออกซิแด็นซ์ (Anti-Oxidant) ต่อให้แม้สินค้าจะขายดี ก็จะไม่มุ่งผลิตสินค้า(Output)ให้ออกมาเร็ว หากคุณภาพไม่ได้ดังที่ตั้งไว้

“ถ้าคุณเห็น Passion การทำงานของเราจริงๆ คุณจะตกใจว่า..เรากล้าเหรอ กล้าขนาดนี้เลยเหรอ เจ้าของใจถึงมาก และผมก็ยืนหยัดในเรื่องคุณภาพสินค้าเหล่านี้” โออิชินำร่องสร้างโรงงาน แต่พื้นที่พันไร่ของไทยเบฟแห่งนี้ ในอนาคตมีโอกาสที่จะพัฒนาเป็น “ฮับ” หลายๆด้าน แต่ภาพชัดจะไปทางไหน “ฝ่ายการตลาด” และ “ฝ่ายขาย” จะเป็นผู้ชี้ทิศทางให้

“ผมต้องก้าวตามให้ทัน จะเอาคุณภาพแบบไหนต้องทำให้ได้” เขาบอก โดยยึดหัวใจสำคัญในการผลิตสินค้า ได้แก่ คุณภาพ การผลิตสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการ โดยสิ่งที่คำนึงถึงน้อยที่สุดคือ ต้นทุนต่อหน่วย ที่นี่ไม่มีลัดขั้นตอน หรือหาทางทำสินค้าออกมาให้ต้นทุนต่ำสุด

“3ข้อนี้เรียงไว้บนหัวนอนเลย เราไม่ยอมถ้าต้องใช้ของเกรดต่ำ(วัตถุดิบเราไม่เอา นี่ต้องกลับไปดูกฎข้อที่ 1 Quality comes first เรารับผิดชอบในเรื่องของคุณภาพที่ซ่อนอยู่(Hidden qualities) รับผิดชอบในสิ่งที่ผู้บริโภคไม่รู้

ความน่าสนใจอีกอย่างประการของโรงงานโออิชิ วังม่วง คือการนำระบบ อัตโนมัติ” มาใช้มากขึ้น รวมทั้งนำหุ่นยนต์มาใช่ในกระบวนการผลิตด้วย นี่เป็นหนึ่งในโจทย์ที่ “ฐาปน” แม่ทัพเครือไทยเบฟได้มอบหมายให้ ดร.พิษณุ เดินหน้า “ยกระดับ” และเพิ่ม “ความเข้มข้น” การใช้ระบบอัตโนมัตกับโรงงานและส่วนต่างๆของบริษัทในเครือไทยเบฟมากขึ้น ไล่ตั้งแต่โรงงานผลิตสุรา เบียร์ ชาเขียว น้ำดื่ม โชดา ฯ

วันที่ 9 ธ.ค. 2559 ไทยเบฟ ได้ตั้งบริษัท เบฟเทค จำกัด (BevTech) ขึ้่นมา ด้วยทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท เพื่อลุยเรื่องเทคโนโลยีการผลิต เครื่องจักร และหุ่นยนต์ ป้อนในเครือ โดยมี “3-4 ทหารเสือ มารับผิดชอบเต็มตัว พร้อมกับทีมวิศวกร หัวกะทิ ร่วม 59 ชีวิต มาขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว จากเดิมเหล่าวิศวกรคนทำงานด้านนี้จะซ่อนอยู่ในส่วนต่างๆขององค์กร ทุกโรงงาน

“โออิชิ วังม่วง” เป็นหนึ่งในโรงงานนำร่องใช้ระบบอัตโนมัติเกือบ 100% เพราะก่อนหน้านี้โรงงานเบียร์หลายๆแห่งของไทยเบฟก็ใช้ระบบอัตโนมัติราว 80% ขณะที่โรงงานสุรา โรงงานของเสริมสุข โรงงานของเฟรเซอร์แอนด์นีฟ (เอฟแอนด์เอ็น) จะอยู่ที่ระดับ 50% ซึ่งอนาคตต้องเพิ่มดีกรีอัตโนมัติมากขึ้น

ดร.พิษณุ เล่าว่า บริษัท เบฟเทค ตั้งได้ไม่นาน แต่ผลงานออกมาเยอะมาก ส่วนหนึ่งเพราะความเชี่ยวชาญของเหล่าวิศวกรและทีมงานแต่ละคนคร่ำหวอดในสายการผลิตบ่มประสบการณ์กว่า 2 ทศวรรษ และบริษัทก็มีโรงงานผลิตเครื่องจักร เทคโนโลยีเองที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วันนี้ โจทย์ทำงานมากขึ้น เมื่อนายใหญ่สั่งลุยเพิ่มระบบอัตโนมัติในทุกโรงงาน และคาดว่าจะใช้หุ่นยนต์ร่วม “พันตัว” ในจุดต่างๆต่อเนื่อง

“ไทยเบฟมีโรงงานในเครือคลังสินค้าหลายสิบแห่ง นำหุ่นยนต์มาใช้ร่วมร้อยตัวแล้ว และคุณฐาปนให้ยกระดับระบบอัตโนมัติในกลุ่มอื่นด้วย โดยเราต้องทำไปเรื่อยๆ ไม่ใช่อยู่ดีๆยกระดับเป็นระบบอัตโนมัติหมด บางแห่งอาจใช้แค่กึ่งอัตโนมัติ (Semi-Automatic)”

การปรับตัวดังกล่าว ไม่ได้อิงแค่เงินทุนที่ได้มาผลิตเทคโนโลยี แต่ต้องคำนึงถึง “คนทำงาน” เมื่อเครื่องจักรเข้ามามาแทนที่ “คน” จะไปอยู่ที่ไหน“นโยบายเราไม่ต้องการปลดพนักงาน(Layoff)ออก ใช้ระบบอัตโนมัติแล้วตำแหน่งงานหายไป 20 ตำแหน่ง นั่นไม่ใช่ที่เจ้านายผมต้องการ แต่ยอมรับว่าการใช้ระบบอัตโนมัติช่วยลดต้นทุนได้มโหฬาร ที่สำคัญคือเพิ่มผลผลิตได้เป็นเท่าตัว”

นอกจากนี้ ความยากของการนำเครื่องจักรระบบอัตโนมัติมาใช้ ยังมี ความยากซ้อนอยู่ในความยาก เพราะเมื่อลงระบบ ต้องมั่นใจว่า เทคโนโลยีนั้นจะไม่ ล้าสมัย ขณะเดียวกัน ต้องไม่ ล้ำสมัย เกินไปด้วย

ที่ผ่านมา เครือไทยเบฟ ซื้อเครื่องจักรผลิตสินค้าจากหลายประเทศ เช่น เยอรมนี สวีเดน เดนมาร์ก ญี่ปุ่น มาใช้ และเมื่อใช้จนเบื่อ กระทั่งเครื่องจักรมีปัญหา พัง ทีมงานก็จะชำแหละเพื่อเรียนรู้ จุดอ่อนจุดด้อย พัฒนาต่อยอด (Copy and Development) และผลิตเองได้ โดยไม่ยึดว่าจะต้องใช้เทคโนโลยีของค่ายใด ชาติใดเป็นพิเศษ แต่จะผสานองค์ความรู้ที่มีจากทุกค่าย ใครว่าดีผมรับมาหมด

การพัฒนาเทคโนโลยีของไทยเบฟระลอกนี้ ต้องบอกว่าไม่ธรรมดา เพราะการตั้งบริษัทที่ทุนจดทะเบียนไม่น้อย ประกอบกับการตั้งงบประมาณแบบ “ฟังก์ชั่นนอล” เมื่อเทคโนโลยี เครื่องจักรในการผลิตจุดไหนมีปัญหา เรียกได้ว่า “เบิกเท่าไหร่ ก็เอาไปเลย มีความคล่องตัวสูง” เพราะ “ปัญหาทางเทคนิค” ไม่เคยบอกชัดเจนว่าเมื่อไหร่จะเกิดขึ้น

เหล่านี้เป็นภาพสะท้อนของการก้าวสู่  “1 ใน 5 ยักษ์ใหญ่เครื่องดื่มเอเชีย” ได้ชัดเจนอีกมิติ