ถอดยุทธศาสตร์ "เส้นทางสายไหมใหม่" ไทยอยู่ตรงไหน?

ถอดยุทธศาสตร์ "เส้นทางสายไหมใหม่" ไทยอยู่ตรงไหน?

The rise of China, America's decline คือประโยคที่อธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงของมหาอำนาจโลก เมื่อจีนกำลังผงาดขึ้นเป็นเบอร์ 1 ขณะที่สหรัฐกำลังอยู่ในช่วงอัสดง

ความเปลี่ยนแปลงนี้มองเห็นแนวโน้มมาระยะหนึ่งแล้ว เพราะจีนมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในประวัติศาสตร์โลก และคาดหมายกันว่าภายในปี 2025 หรืออีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า จีนจะแซงหน้าสหรัฐ และเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี หรือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่อเมริกาจะหล่นมาเป็นเบอร์ 2 ไม่ใช่ผู้นำเบอร์ 1 ของโลกอีกต่อไป และนั่นทำให้สหรัฐต้องดำเนินนโยบายปิดล้อมจีน เห็นอย่างชัดเจนในยุคประธานาธิบดีโอบามา ที่ใช้นโยบาย Pivot to Asia ตั้งแต่ปี 2011 มีการสร้างฐานทัพที่ดาร์วิน ออสเตรเลีย และพยายามผูกมิตรกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย รวมถึงเวียดนาม ทั้งหมดก็เพื่อปิดล้อมจีน

ขณะที่ในยุคประธานาธิบดีมือใหม่หัดขับอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ การแสดงปฏิกิริยาฮึ่มๆ กับเกาหลีเหนือ จนเป็นข้ออ้างในการส่งเรือรบและเรือดำน้ำขนาดยักษ์เข้ามายังคาบสมุทรเกาหลี และพยายามหาแรงสนับสนุน ไม่เว้นแม้ประเทศเล็กๆ อย่างไทย ก็เชื่อกันว่าเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีนเช่นกัน

เหล่านี้คือที่มาที่ทำให้จีนต้องปรับยุทธศาสตร์สู้ ผ่านนโยบาย “เส้นทางสายไหมเส้นทางใหม่” หรือ one belt one road ซึ่งจีนเพิ่งเป็นเจ้าภาพประชุมผู้นำประเทศต่างๆ ทั่วโลกช่วง 2 วันมานี้

ศ.ดร.สุรชัย ศิริไกร นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า นี่ก็เป็นสาเหตุที่ในปี 2013 สีจิ้นผิง เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว จีนจึงมีนโยบาย one belt one road เส้นทางสายไหมทางบกและทางทะเล สร้าง infrastructure ถ้าไปที่ไหนเศรษฐกิจก็จะไปที่นั่น ทุกประเทศในโลกส่วนใหญ่สนับสนุน มีอเมริกาที่เดียวที่ค้าน เพราะเส้นทางนี้เริ่มจากจีน ไปเอเชียกลาง และไปถึงยุโรป เพราะจุดหมายเดิมอยู่ที่กรุงโรม เอาแพรไหมไปขาย

"เพราะฉะนั้นแนวคิดการจะรื้อฟื้นเส้นทางของจีน ทำให้สหรัฐมองได้หลายแนวทาง 1 จีนจะไม่พึ่งพาทะเลมาก เพราะสหรัฐปิดล้อมหมด จีนก็ไม่กลัวเพราะจะบุกทางบก นี่แหละที่สหรัฐกลัว เพราะถ้าจีนสร้างแล้วสามารถคอนเนคไปถึงยุโรปได้ จะทำให้เกิดการรวมระหว่างยุโยปและเอเชีย"

ยุทธศาสตร์การเชื่อมโยง หรือ connectivity ระหว่างยุโรปกับเอเชีย เป็นไปตามทฤษฎีภูมิรัฐศาสตร์เก่าแก่ นั่นก็คือทฤษฎี “ใจโลก” หรือ Heartland Theory ที่เชื่อว่าใครก็ตามที่ยึดยุโรปกับเอเชียเอาไว้ได้ ผู้นั้นจะเป็นมหาอำนาจ แต่แนวคิดนี้สวนทางกับสหรัฐ ที่เชื่อทฤษฎี “ขอบโลก” หรือ Rimland Theory ซึ่งมองว่าดินแดนชายขอบทวีปดีกว่า จึงเป็นที่มาของการขยายแสนยานุภาพของกองเรือสหรัฐ
การเผชิญหน้ากันระหว่างมหาอำนาจเก่าและใหม่อย่างสหรัฐกับจีน จึงเป็นการท้าทายกันผ่านทฤษฎีภูมิรัฐศาสตร์ที่มองคนละมุมด้วย

"สองทฤษฎีที่แข่งขัน ซึ่งเราก็ไม่รู้จริงๆ ว่าทั้งสองนี้อันไหนดีกว่ากัน แต่แน่นอนที่สุดสหรัฐไม่สามารถปิดล้อมจีนได้โดยการยึดครองทางทะเลอย่างเดียว มีประเทศที่สนับสนุนนโยบายของจีน 60-70 ประเทศ และยังตั้งความร่วมมือที่รวมที่สุดในโลก AIIB ธนาคารเพื่อการพัฒนา Infrastructure Bank แข่งกับ world bank ไม่ต้องง้อ IMF

Connectivity การเชื่อมโยงกัน เน้นเรื่องบนบกเป็นหลัก เพราะจีนมีกองทัพเรือที่อ่อนแอกว่าสหรัฐ ตอนนี้รื้อฟื้นทางเรืออยู่ ก็ด้วยกัน ตราบใดที่สหรัฐไม่ได้ใช้กำลังสกัด จีนก็จะพัฒนา ปี 2013 คือปีที่จีนเป็นผู้ค้าขายที่ใหญ่ที่สุดในโลก ไปทั้งทางเรือ รถไฟ เครื่องบิน พยายามขยายเพื่อรักษา GDP ไม่ให้ลบ ที่สำคัญสุดคือรถไฟ เพราะตอนนี้มี over capacity กำลังผลิตเหลือเฟือ ทั้งเหล็กและซีเมนต์ ต้องการระบาย จีนมีรถไฟความเร็วสูงมากที่สุดในโลก" ศ.ดร.สุรชัย ศิริไกร นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าว

การแผ่ขยายอิทธิพลของจีนผ่านนโยบายเส้นทางสายไหมเส้นทางใหม่ หรือ one belt one road แม้เส้นทางสายนี้ไม่ผ่านไทยโดยตรง แต่ก็ส่งผลกับไทยทางอ้อม ในฐานะศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน แต่การรุกคืบของจีนในมิติอื่นๆ ได้สร้างความกังวลให้กับหลายภาคส่วนในประเทศไทย โดยเฉพาะโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงเพื่อรองรับเรือขนสินค้าขนาดใหญ่ หรือแม้แต่การเข้ามากว้านซื้อผลไม้ไทย ที่เรียกว่า “ล้งจีน” แต่นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตั้งคำถามว่า กระแสความหวาดกลัวที่เกิดขึ้นขณะนี้ ช้าเกินไปหรือเปล่า

นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ บอกว่า สิ่งที่ไทยต้องแก้ คือต้องปฏิรูปใหม่ทั้งระบบ และสร้างอำนาจต่อรองทางการตลาดให้มากขึ้น โดยจับมือกันระหว่างชาติอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ

การประคองตัวให้ได้ประโยชน์สูงสุดท่ามกลางกระแสการเผชิญหน้ากันระหว่างมหาอำนาจโลกนั้น ไม่ใช่แค่การถ่วงดุลชาติมหาอำนาจแบบที่ไทยเคยถนัด แต่การสร้างพลังต่อรองทางการตลาด โดยอาศัยความร่วมมือแบบพหุภาคี กำลังเป็นทางออกใหม่ๆ ที่ไทยต้องก้าวเดิน

ทีมล่าความจริง พิกัดข่าว NOW26 รายงาน