ไมโครซอฟท์แนะองค์กรไทยเร่งปรับรับดิจิทัล

ไมโครซอฟท์แนะองค์กรไทยเร่งปรับรับดิจิทัล

ไมโครซอฟท์ ชี้ต้องปรับตั้งแต่โครงสร้าง ระบุไทยยังขาดสภาพแวดล้อม-ทักษะแบบดิจิทัล

“ไมโครซอฟท์” เผยพนักงานออฟฟิศในไทยไม่มั่นใจการทำงานบนสภาพแวดล้อมดิจิทัล ชี้ขาดทักษะ วัฒนธรรมองค์กร-ผู้บริหารสนับสนุนไม่มากพอ แนะต้องปรับตั้งแต่โครงสร้าง เร่งพัฒนาคนพร้อมดึงไอทีหนุนความสำเร็จดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่น

นางสาวชุติมา สีบำรุงสาสน์ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า โลกยุคใหม่ของการทำงานอยู่บนสภาพแวดล้อมทางดิจิทัล แต่ทั้งนี้ ผลสำรวจโดยไมโครซอฟท์ระบุว่า พนักงานออฟฟิศในประเทศไทยยังไม่รู้สึกว่าพวกเขาได้รับการเตรียมความพร้อมสำหรับสถานที่ทำงานแบบดิจิทัลเท่าที่ควร

โดยมีเพียง 63% ที่รู้สึกว่าได้รับการสนับสนุนด้านวัฒนธรรมองค์กร ผู้บริหาร ให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างยืดหยุ่น ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม และมีเพียง 46% ที่เห็นว่าผู้นำองค์กรของตัวเองมุ่งมั่นในการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้กับบุคลากร

ปัจจุบัน 85% ของผู้ตอบแบบสำรวจมองว่า ตัวเองเป็นผู้ที่มีรูปแบบการทำงานแบบเคลื่อนที่ แต่ละสัปดาห์ใช้เวลาอย่างน้อย 20% อยู่นอกสำนักงาน
อย่างไรก็ดี ไทยนับเป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่สามารถปรับตัวต่อการมาของดิจิทัลได้เร็ว เทียบจาก 14 ตลาดที่เข้าไปสำรวจ ความพร้อมติดอันดับ 3 จาก รองจากอินเดีย และเวียดนาม จากการเข้าไปพูดคุยกับลูกค้าองค์กรธุรกิจในไทยต่างให้ความสำคัญกับดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่น

“การยกระดับศักยภาพบุคลากรเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดต่อความสำเร็จการปรับโฉมธุรกิจด้วยดิจิทัล หรือดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่น ซึ่งต้องสามารถทำงานได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกแพลตฟอร์ม”

ไมโครซอฟท์ชี้ว่า องค์กรจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างในหลายประการ เพื่อเตรียมความพร้อมการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยผู้นำองค์กรจะเป็นกุญแจสำคัญในการผลักดันรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่น ต้องมีการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้สอดคล้อง

ขณะเดียวกัน ต้องมีการเข้าถึงเทคโนโลยีแบบข้อมูลเป็นศูนย์กลาง เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและประสิทธิภาพการทำงาน ขณะนี้มีเพียง 44% ที่รู้สึกว่าองค์กรของพวกเขาใช้เครื่องมือวิเคราะห์ และเก็บข้อมูล เพื่อช่วยให้พวกเขาตัดสินใจได้ถูกต้อง ทันเวลา และมีเพียง 45% เห็นว่า องค์กรของพวกเขามีเครื่องมือที่ช่วยให้การทำงานของพวกเขาง่ายขึ้น

ผลการสำรวจพบด้วยว่า ปัจจุบันยังมีช่องว่างที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานร่วมกันเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งความท้าทาย 5 อันดับสูงสุดได้แก่ นัดประชุมมากเกินไป 33% คนในทีมไม่เปิดรับความคิดใหม่ๆ ที่จะปรับปรุงกระบวนการทำงานให้ดีขึ้น 24% และทีมงานใช้เวลาในการโต้ตอบ และสื่อสารมากเกินไป 24%

นอกจากนี้ ใช้เวลามากเกินไปในการสอนพนักงานใหม่ 23% สมาชิกในทีมไม่ปรับตัวให้เข้ากับตารางการทำงานที่ยืดหยุ่นของทีม 22%

สำหรับปัจจัยเสริมที่จะสร้างทีมที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น คือ การเข้าถึงเครื่องมือที่ทันสมัยในการทำงานร่วมกัน 49% ความเป็นผู้นำองค์กรที่แข็งแกร่งและมีวิสัยทัศน์ 44% ตลอดจนการบริหารจัดการที่เปิดกว้าง 40%

ด้านอื่นๆ คนทำงานต้องการอุปกรณ์ที่ดีขึ้นเพื่อช่วยให้พวกเขาทำงานได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกเหนือจาก ความต้องการฮาร์ดแวร์ต่างๆ แล้ว 43% ของคนทำงานยังต้องการเข้าถึงเครื่องมือบนคลาวด์เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และอีก 28% ต้องการที่จะสามารถทำงานร่วมกันแบบเรียลไทม์ รวมทั้งระบบเครือข่ายสังคมภายในองค์กร

“3 ปัจจัยหลักที่พนักงานต้องการมากที่สุดคือ การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล เทคโนโลยีเพื่อการทำงานร่วมกัน และการผสมผสานที่ลงตัวระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต”

“เอไอ-เวอร์ช่วล”ยกระดับการทำงาน
ด้านเทคโนโลยีเด่นที่จะช่วยยกระดับที่ทำงาน ภายในปี 2563 ผู้ตอบแบบสอบถาม 42% คิดถึง ปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถสนับสนุนการทำงานได้อย่างเป็นอิสระ 42% อยากให้มีระบบเครือข่ายสังคมภายในองค์กร ที่รองรับการสื่อสารด้วยวิดีโอและเสียง และ 40% ต้องการพื้นที่การทำงานเสมือนจริงที่รองรับการพูดคุย และแชร์เอกสารแบบเรียลไทม์

นางสาวชุติมา กล่าวเสริมว่า เมื่อลักษณะการทำงานเปลี่ยนไป วิธีที่พนักงานให้ความร่วมมือ และทำงานร่วมกันก็จะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ดังนั้นผู้นำธุรกิจ และฝ่ายทรัพยากรบุคคลจำเป็นต้องหาวิธีที่ดีขึ้นเพื่อเสริมศักยภาพให้แต่ละบุคคล พร้อมๆ ไปกับขจัดอุปสรรคต่อความร่วมมือในยุคดิจิทัล โดยเฉพาะเมื่อผลการสำรวจบ่งชี้อย่างเด่นชัดว่า ช่องโหว่เหล่านั้นสามารถลดลงได้ด้วยเทคโนโลยี

ขณะเดียวกัน เป็นเรื่องสำคัญสำหรับการดำเนินธุรกิจต่างๆ ที่จะต้องให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงช่องว่างระหว่างผู้นำองค์กรฯ กับพนักงาน การให้ความสำคัญกับบุคคล และวัฒนธรรมมากขึ้น