ผู้บริโภคช้อปสินค้าอุปโภคบริโภค‘มัลติฟอร์แมท’

ผู้บริโภคช้อปสินค้าอุปโภคบริโภค‘มัลติฟอร์แมท’

ภาพรวมการเติบโตของอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วโลกในปี 2559 ในช่องทางปกติ พบว่ามีอัตราขยายตัว 1.3% คาดการณ์ปีนี้อยู่ที่ 1.2% จากภาวะเศรษฐกิจทรงตัว เช่นเดียวกับทิศทางตลาด FMCG ในประเทศไทยที่จะเติบโตราว 1.5% ในปีนี้

คาร์เร็ต  อิลิส ผู้อำนวยการด้านคอมเมอร์เชียล บริษัทกันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) ผู้ดำเนินการวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคเชิงลึกในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค หรือ FMCG (Fast  Moving Consumer Goods) กล่าวว่าการชะลอตัวด้านการจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในช่องทางค้าปลีกปกติ สวนทางทิศทางการเติบโตของมูลค่าตลาด FMCG ในช่องทาง อีคอมเมิร์ช  ที่ปีนี้คาดการณ์เติบโตถึง 15% เทียบปีที่ผ่านมา      

            ปีที่ผ่านมาอีคอมเมิร์ซอุปโภคบริโภคทั่วโลกครองส่วนแบ่งตลาดสัดส่วน  4.4% หรือเป็นมูลค่า  48,000 ล้านดอลลาร์ของยอดขายรวมของสินค้า ทั้งนี้ คาดว่าสินค้าที่จำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์จะมีส่วนแบ่งขยับขึ้นเป็น  9% หรือเป็นมูลค่า 150,000 ล้านดอลลาร์จากมูลค่าตลาดรวมของกลุ่มอุปโภคบริโภคในปี  2568

             จากการสำรวจพฤติกรรมการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านช่องทางออนไลน์ปีที่ผ่านมา ในภูมิภาคเอเชียหลายประเทศมีสัดส่วนสูงกว่าในภูมิภาคอื่น เช่น  อีคอมเมิร์ซอุปโภคบริโภค ในเกาหลีใต้ ครองส่วนแบ่ง 16.6%  , ญี่ปุ่น  7.2% , ไต้หวัน 5.2%  ,จีน 4.2%  

            ในการสำรวจยังพบว่าผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคออนไลน์  จะเลือกซื้อสินค้าจาก “ชอปปิง ลิสต์” เดิม 55%  เนื่องจากเป็นสินค้าที่ใช้ประจำ และมีความภักดี (loyalty) ต่อแบรนด์สูง ต่างจากการซื้อสินค้าในช่องทางร้านค้าทั่วไป  ที่จะมีการตัดสินใจซื้อสินค้าที่ไม่ได้อยู่ในแผน เนื่องจากได้รับแรงกระตุ้นจากโปรโมชั่น ณ จุดขาย

            พฤติกรรมนักช้อปออนไลน์ที่จับจ่ายสินค้าตามบัญชีรายการเดิมทุกครั้ง  ดังนั้นแบรนด์และสินค้าที่ประสบความสำเร็จในช่องทางออนไลน์  มักจะเป็นผู้ที่เข้ามาทำตลาดก่อนเป็นรายแรก ที่สามารถดึงผู้บริโภคเข้ามาสร้างบัญชีจับจ่ายผ่านดิจิทัล แพลตฟอร์ม และมีพฤติกรรมซื้อเป็นประจำ ที่มักไม่เปลี่ยนบัญชี หรือไม่สร้างบัญชีใหม่ผ่านช่องทางออนไลน์อื่น

            ทางด้านพฤติกรรมช้อปออนไลน์สินค้าอุปโภคบริโภคของครัวเรือนไทยมีแนวโน้มขยายตัวเช่นกัน  ในปี2557  สัดส่วนครัวเรือนไทยซื้อออนไลน์ อยู่ที่ 1.4%  ปี2558 สัดส่วน  2.7%  ปี2559 สัดส่วน  4.4%

            ในปีที่ผ่านพฤติกรรมการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคออนไลน์ของคนไทยอยู่ที่  2.3 ครั้งต่อปี   มูลค่า 658 บาทต่อครั้ง สูงกว่าการจับจ่ายผ่านช่องทางค้าปลีก 3 เท่า หรือ 279  บาทต่อครั้ง  

            โดยคาดการณ์ว่าตลาดอีคอมเมิร์ซสินค้าอุปโภคบริโภคไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง  ปี2562 คาดครองสัดส่วน 15-20% ของครัวเรือนไทย

            ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคไทยเลือกช้อปออนไลน์ มาจาก โปรโมชั่นพิเศษ  48%   ,จัดส่งในวันที่ซื้อ 46%  จัดส่งสินค้าเร็ว  36%  จัดส่งสินค้าฟรี 35%

            อิลิส  กล่าวอีกว่า จากการสำรวจพฤติกรรมซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคของครัวเรือนไทย พบว่ามีพฤติกรรมจับจ่ายรูปแบบ “มัลติ ฟอร์แมท”  คือผ่านหลากหลายช่องทาง  ทั้งช่องทางร้านค้าทั่วไป  ไฮเปอร์มาร์เก็ต ,ร้านสะดวกซื้อ  รวมทั้ง ช่องทางออนไลน์  ทั้งดิจิทัล แพลตฟอร์มของร้านค้าปลีก และเว็บมาร์เก็ตเพรส 

            ปัจจุบันสัดส่วนประชากรไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ที่ราว 50%  ไทยจึงเป็นช่วงเริ่มต้นของการขยายตัวด้านอีคอมเมิร์ซ และยังต้องให้ความสำคัญกับการขยายช่องทางค้าปลีกให้ครอบคลุมผู้บริโภคในต่างจังหวัดที่เป็นกำลังซื้อสำคัญ

            ดังนั้นกลยุทธ์การทำตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคในไทยปัจจุบัน  กลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกและแบรนด์สินค้า จึงต้องขยายทั้งช่องทางค้าปลีกปกติและ พัฒนา “ดิจิทัล แพลตฟอร์ม” เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซ ที่มีทิศทางขยายตัวทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง พร้อมนำเสนอกลยุทธ์การทำตลาดด้านโปรโมชั่นที่ตอบโจทย์ความต้องการ เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตทั้งช่องทางค้าปลีกและอีคอมเมิร์ซ