วิกฤติทุเรียนไทย โดนครอบงำจากต่างชาติ

วิกฤติทุเรียนไทย โดนครอบงำจากต่างชาติ

วิกฤติทุเรียนไทย โดนครอบงำจากต่างชาติ

ทุเรียนเริ่มมีผลผลิตออกสู่ตลาด ซึ่งมีจำนวนกว่า 60% ของทุเรียนทั้งประเทศได้ส่งออกต่างประเทศ ที่มีทั้งจีน ไต้หวัน ฮ่องกง และเวียดนาม แต่ก็ต้องกังวลกับอุตสาหกรรมทุเรียนไทย ที่กลายเป็นวิกฤติคนต่างชาติเข้ามาครอบงำทุเรียนไทย ติดตามได้จากรายงาน 

คนงานของล้งเฮียวิทย์ จังหวัดระยอง กำลังคัดแยกทุเรียน ที่เพิ่งตัดสดๆ เพื่อเตรียมที่จะส่งออกไปยังจีนและไต้หวัน ตามคำสั่งซื้อของคนจีน ในแต่ละวันล้งเฮียวิทย์จะบรรจุทุเรียนใส่กล่องให้ได้อย่างน้อย 18 ตัน ก่อนที่จะขนส่งไปยังท่าเรือ 

ตู้คอนเทนเนอร์คันนี้ มีทุเรียนที่พร้อมจะส่งออกไปยังจีนปริมาณ 18ตัน 240 กิโลกรัม โดยคนจีนต้องหอบเงินก้อนโตกว่า 1.5 ล้านบาท ในการมาซื้อทุเรียนทั้งตู้นี้ 

ผู้ซื้อทุเรียนที่มาจากจีน จะมี 2 ลักษณะ คือจ้างล้งไทยในการคัดแยกทุเรียนตามออเดอร์ที่กำหนด กับจ้างคนไทยมาช่วยคัดแยก ซึ่งในอย่างหลังจะเป็นการว่าจ้างล้งเถื่อนที่ไม่ได้มาตรฐาน ตัดทุเรียนไม่มีคุณภาพ และส่งผลต่อตลาดทุเรียนในจีนด้วย ซึ่งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา จีนก็ได้ตีกลับทุเรียนไทย จำนวน 3 ตู้คอนเทนเนอร์ ที่ไม่มีมาตรฐาน อ่อนเกินไป 

แต่ยังมีกลุ่มนักธุรกิจจีน ที่มาลงทุนร่วมหุ้นกับคนไทย ในการเปิดกิจการล้งคัดแยกผลไม้ ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ตรวจสอบล่าสุด พบล้งทุเรียนที่เสี่ยงในการเป็นนอมินี 6 ราย ในจังหวัดจันทบุรี จากจำนวน 122 โรง ถือว่าจังหวัดจันบุรีมีจำนวนล้งทุเรียนมากที่สุดในประเทศ รองลงมาคือจังหวัดระยอง และตลาด โดยจำนวนล้งทุเรียนที่จดทะเบียนทั้งประเทศมีทั้งหมด 391 โรง 

การเข้ามาครอบงำของคนจีน เริ่มกลายเป็นวิกฤติ เพราะจีนมีการมากว้านซื้อที่ดินทางภาคตะวันออกเพื่อใช้ในการปลูกทุเรียนด้วย หากยังไม่มีการควบคุม อุตสาหกรรมทุเรียนที่ควรจะเป็นของคนไทย ก็จะกลายเป็นของคนจีนอย่างครบวงจร 

สิ่งที่ภาครัฐยังไม่สามารถเข้าไปดูแลชาวสวนได้อย่างเต็มที่ คือ สัญญาการซื้อขายระหว่างชาวสวนและล้ง ที่ถือว่าเป็นความพอใจของทั้งสองฝ่าย ทำได้เพียงควบคุมล้งให้บรรจุทุเรียนที่มีมาตรฐาน ซึ่งก็มีชุดเฉพาะกิจเข้าตรวจสอบล้งอยู่เสมอ 

เมื่อสอบถามล้งไทย ที่มีคู่ค้าคนจีน ที่มาสั่งออเดอร์ทุเรียนในทุกปี ก็มองว่าการแข่งขันของล้ง ถือว่ามีผลดีต่อชาวสวนที่สามารถเลือกราคาขายได้ แต่รัฐบาลควรมีมาตรการมาควบคุมล้ง สร้างความเข้มแข็งให้กับล้งไทย ถ้าล้งไทยมีศักยภาพมากพอ โอกาสที่ล้งเถื่อน หรือคนจีนมาครอบงำก็จะน้อยลง 

แน่นอนว่าผู้ประกอบการไทย และชาวสวน ต่างก็ชอบในการเข้ามาซื้อทุเรียนของคนจีน ที่นอกจากจะซื้อในปริมาณมากแล้ว ยังทำให้ราคาทุเรียนปรับตัวสูงขึ้นด้วย 

โดยราคา ณ วันที่ 8 พฤษภาคม ราคาทุเรียนหน้าสวน 60 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อมาส่งถึงล้ง จะมีราคาขึ้นมาอีก 2-5 บาทต่อกิโลกรัม เพราะเป็นค่าจ้างตัดของคนงาน เมื่อมาถึงล้ง จะมีค่าใช้จ่าย ในการคัดแยก บรรจุกล่อง และขนส่งไปยังท่าเรือ โดยตู้คอนเทนเนอร์เย็น ในแต่ละตู้จะสามารถขนได้ 18 ตัน ค่าใช้จ่ายที่คู่ค้าต้องเสียเฉลี่ย 1.5 ล้านบาทต่อตู้ หรือคิดเป็น 82 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาหลังจากที่ส่งไปจีนแล้ว จะต้องปรับขึ้นอีก 15-20 หลังจากนั้น จะมีการปรับราคาขึ้นอีก ขึ้นอยู่กับผู้รับปลายทาง ที่จะทำกำไรเท่าไร 

สิ่งที่น่าจับตามอง นอกเหนือจากล้งจีน คือ ล้งเวียดนาม ที่เริ่มมีการแย่งทุเรียนมากขึ้น จากปริมาณการส่งออกทุเรียนในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมปีนี้ เวียดนามได้นำเข้าทุเรียนไทย เพิ่มขึ้นเกือบ 200% แซงหน้าจีน ที่นำเข้าลดลง กว่า 50% 

เวียดนาม เมื่อนำเข้าทุเรียนแล้ว นอกจากจะบริโภคภายในประเทศ ยังได้นำทุเรียนไทย ส่งออกไปยังจีนด้วย 

อนาคตของทุเรียนไทย กำลังจะตกอยู่ในมือของจีน และเวียดนาม หากรัฐบาลยังไม่เดินหน้าควบคุมอุตสาหกรรมผลไม้ไทยอย่างจริงจัง สักวันหนึ่งคนไทยคงต้องซื้อทุเรียนไทยจากจีนแน่