จับกระแส ‘สมาร์ทโฟน’ แบรนด์จีนเร่งเกมชิงแชร์

จับกระแส ‘สมาร์ทโฟน’ แบรนด์จีนเร่งเกมชิงแชร์

ปัจจุบัน พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคจะเป็นการซื้อเครื่องเพื่อทดแทนของเดิมมากกว่าการซื้อเป็นเครื่องแรก

ตั้งแต่ต้นปี 2560 ดีกรีการแข่งขันในตลาดสมาร์ทโฟนประเทศไทยทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ ยังคงรุนแรงไม่ยิ่งหย่อนไปจากปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะแบรนด์จากประเทศจีนทั้ง ออปโป้ วีโว่ และหัวเว่ย ที่พยายามสร้างชื่อ เทงบการตลาดแบบไม่อั้น ทั้งพาเหรดสินค้าใหม่ออกมาช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาด

นอกจากนี้ เจ้าตลาดอย่างซัมซุงไม่ยอมน้อยหน้า ส่งสมาร์ทโฟนเรือธงรุ่น กาแลคซี่ เอส 8 และเอส 8 พลัส ออกมาตอกย้ำความเป็นผู้นำ พร้อมตั้งความหวังไว้ว่ารุ่นดังกล่าวจะยิ่งทำให้แบรนด์แข็งแกร่งมากขึ้น ประเมินจากช่วงเปิดจอง ยอดที่ได้สูงกว่ารุ่นก่อนหน้าอย่างกาแลคซี่เอส 7 ถึง 2 เท่า

อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นที่น่าจับตามองอย่างมาก คือ แนวทางแก้ปัญหา และเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาปมสมาร์ทโฟนผิดสเปคของค่าย “หัวเว่ย” ที่แม้จะพยายามออกมายืนยันแล้วว่าประสิทธิภาพการทำงานไม่แตกต่าง ทว่าความรู้สึกของผู้บริโภคต่อแบรนด์คงไม่เหมือนเดิม...

แบรนด์จีนกระแสแรง
“นราธิป วิรุฬห์ชาตะพันธ์” ผู้อำนวยการสายงานการตลาด บมจ.เจมาร์ท เผยว่า แนวโน้มการเติบโตของตลาดสมาร์ทโฟนประเทศไทยปีนี้คงไม่ได้สูงมากเช่นเดียวกับเมื่อหลายปีก่อนแล้ว แต่ทั้งนี้ที่สามารถสร้างกระแสได้ คือ การเปิดตัวสินค้าเรือธงของแบรนด์ต่างๆ โดยเฉพาะจากประเทศจีน และล่าสุดซัมซุงกาแลคซี่เอส 8

ปัจจุบัน พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคจะเป็นการซื้อเครื่องเพื่อทดแทนของเดิมมากกว่าการซื้อเป็นเครื่องแรก ดังนั้นส่วนใหญ่ประเด็นที่ให้ความสำคัญจะเป็นการอัพเกรดสเปคการให้งานให้ดีขึ้นกว่าเดิมโดยช่วงราคาที่ได้รับความนิยมอยู่ที่ระหว่าง 7,500 - 10,000 บาท

ด้านแบรนด์ที่มาแรงหนีไม่พ้น 3 ยักษ์ใหญ่จากประเทศจีนทั้งออปโป้ วีโว่ และหัวเว่ย เนื่องจากสเปคดี ราคาจับต้องได้ สำหรับประเด็นด้านสเปคของหัวเว่ยนั้นก็จะมีการสอบถามจากลูกค้าเข้ามาบ้างว่าจะมีผลกระทบหรือไม่ อย่างไร

ส่วนของเจมาร์ท ยังคงเดินหน้ากระตุ้นกำลังซื้อในตลาดแบบต่อเนื่อง เร็วๆ นี้จะมีแคมเปญของแถม พร้อมโปรโมชั่นราคาพิเศษสำหรับร่วมงานไทยแลนด์โมบายเอ็กซ์โป โดยรวมจากนี้จนถึงจบไตรมาสที่ 3 จะโฟกัสกับแคมเปญรับประกันเครื่องตลอดอายุการใช้งาน จากนั้นไตรมาสที่ 4 ก็จะมีแคมเปญใหญ่ออกมาอีก

ด้าน “สุธิดา มงคลสุธี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซินเน็ค (ประเทศไทย) ผู้นำเข้า และจัดจำหน่ายสินค้าเทคโนโลยีรายใหญ่ มีมุมมองว่า ภาพรวมตลาดสมาร์ทโฟนไทยยังคงขยายตัว ตลอดทั้งปีน่าจะเติบโตได้ถึงระดับ 10% ขณะนี้พบว่ามีกำลังซื้อเข้ามาต่อเนื่อง โดยสินค้าเรือธงจากแบรนด์ต่างๆ จะเป็นตัวสร้างสีสันตลาดให้คึกคักได้ตลอดทั้งปี

“เลอโนโว” คืนชีพ “โมโตโรล่า”
อีกหนึ่งความเคลื่อนไหว “อาวิทย์ จิระเลิศพงษ์” ผู้จัดการฝ่ายการตลาดกลุ่มผลิตภัณฑ์สมาร์ทโฟน บริษัท เลอโนโว (ประเทศไทย) เผยว่า แนวทางธุรกิจของสมาร์ทโฟนโมโตปีนี้เน้นสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก จากนี้จะกลับมาใช้ชื่อ “โมโตโรล่า” เป็นแบรนด์ในการทำตลาด ส่วนชื่อรุ่นใช้ “โมโต” เหมือนเดิม

แนวทางดังกล่าวเป็นกลยุทธ์ระดับโลก จากนี้การสื่อสารทางการตลาด ทุกอีเวนท์ ทุกกิจกรรมที่จัด จะใช้ชื่อดังกล่าวสื่อสารออกไป

“เราจะดึงความเป็นโมโตโลร่าซึ่งมีฐานชื่อเสียงเดิมมาเป็นจุดขาย ชี้ให้ลูกค้าเห็นว่าเป็นแบรนด์ที่มีนวัตกรรม ตัวเลือกใช้งานได้หลากหลาย”

เทียบกับปีก่อนหน้าบริษัทจะใช้งบการตลาดมากขึ้นเกือบ 200% เน้นสื่อรูปแบบอโบพเดอะไลน์มากขึ้น ควบคู่ไปกับออนไลน์ ไทยเป็นหนึ่งตลาดโฟกัสอันดับท็อป 3 ในเอเชียแปซิฟิก ส่วนตลาดอื่นๆ คือ อินเดีย อินโดนีเซีย

อีกหนึ่งจุดต่าง เป็นแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับการอัพเดทซอฟต์แวร์อย่างต่อเนื่องแม้กระทั่งกับรุ่นระดับล่าง การใช้งานหลักๆ อย่างกล้อง โซเชียล เน็ตเวิร์ค ดูวีดิโอ รวมถึงการใช้งานทั่วไปต้องมีเสถียรภาพมากที่สุด มากกว่านั้นเพิ่มโอกาสทางการตลาดโดยสร้างเซ็กเมนท์ใหม่ๆ ขายไปพร้อมกับอุปกรณ์เสริม

ลุยทุกเซ็กเมนท์
ด้านผลิตภัณฑ์ พร้อมลุยหนักในทุกเซ็กเมนท์ราคาเริ่มตั้งแต่ 2-3 พันบาท จนถึงรุ่นพรีเมียม 1.5 หมื่นบาทขึ้นไป รุ่นระดับล่างเน้นจุดต่างเรื่องแบตเตอร์รีอึด ทนทาน กลุ่มราคาระดับกลาง กล้องดี สเปคจัดเต็ม ราคาจับต้องได้ เร็วๆ เตรียมจำหน่ายรุ่นใหม่ “โมโต จี 5 พลัส”

ส่วนระดับบนมาพร้อมคุณภาพการผลิตและสเปคระดับพรีเมียม เสริมด้วยอุปกรณ์ “โมโต มอดส์” โดยช่วงปลายปีเตรียมนำ “โมโต เอ็กซ์ รุ่น 2” พร้อมด้วย “โมโต แซด” ลงตลาด ขณะที่โดยรวมทั้งปี

จะมีทั้งหมด 4 ซีรีส์ ซีรีส์ละ 2-3 รุ่น ที่ผ่านมาที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่จะเป็นระดับบน

“กลุ่มที่เราจะเข้าไปโฟกัสมากที่สุดคือระดับกลางและบน ซึ่งได้เปรียบทั้งการขายเชิงจำนวน มูลค่า รวมถึงแบรนด์ การทำตลาดของโมโตจะเน้นกลุ่มแมส ส่วนแบรนด์เลอโนโวเน้นสเปคดีแต่ราคาไม่แพงเน้นกลุ่มราคากลางๆ ไม่เกิน 1 หมื่นบาท”

สำหรับกลุ่มเป้าหมายหลัก โฟกัสผู้บริโภคเจนวายอายุระหว่าง 18-39 ปี อาศัยในพื้นที่กรุงเทพมหานครและหัวเมืองใหญ่

ขอท็อป3ใน5ปี
ส่วนบริการหลังการขาย ทั้ง 2 แบรนด์ใช้ร่วมกัน ขณะนี้มีจุดรับเครื่องอยู่ 15 แห่ง และมีแผนขยายเพิ่มต่อเนื่อง ส่วนของช่องทางการจัดจำหน่ายปีนี้เพิ่มออนไลน์โดยเปิดช้อปกับทางลาซาด้า

ปัจจุบัน เมื่อรวมแบรนด์โมโตและเลอโนโวบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ในอันดับท็อป 5 ในประเทศไทย ปีนี้บริษัทตั้งเป้าไว้ว่ายอดขายจะสามารถเติบโตได้เป็นเป็นตัวเลข 2 หลัก ทั้งเป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภคนึกถึงติดอันดับท็อป 5

บริษัทหวังไว้ด้วยว่า จะสามารถขึ้นไปเป็นแบรนด์อันดับท็อป 3 ในประเทศไทยภายใน 5 ปี

อย่างไรก็ตาม ด้วยนโยบายของบริษัทคงไม่ขอให้ความเห็นกับประเด็นปัญหาที่ของแบรนด์ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ทว่านับเป็นโอกาสที่ดี จังหวะที่ผู้บริโภคจะเปิดใจให้กับแบรนด์อื่นๆ ในตลาดรวมถึงเลอโนโวมากขึ้น คู่แข่งที่น่ากลัวคือแบรนด์จากประเทศจีนเนื่องจากมีงบการลงทุนทางการตลาดจำนวนมาก แต่เชื่อว่าโมโตมีความได้เปรียบด้านแบรนด

ไอดีซีชี้ตลาดโตไม่หยุด
ข้อมูลล่าสุด โดยบริษัทวิจัยไอดีซี ระบุว่า ไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ยอดขายสมาร์ทโฟนทั่วโลกอยู่ที่ 347.4 ล้านเครื่อง เทียบกับปีก่อนหน้าเติบโตประมาณ 4.3% แม้จะไม่หวือหวามากนักทว่าดีเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะโต 3.6%

จากตัวเลขดังกล่าวพิสูจน์ให้เห็นว่า อุตสาหกรรมสมาร์ทโฟนยังไม่ตาย และมีโอกาสเติบโตได้ต่อเนื่อง ที่น่าสนใจพบว่า สินค้าที่มีส่วนกระตุ้นกำลังซื้อได้อย่างมาก มาจากแบรนด์จีนทั้งหัวเว่ย ออปโป้ และวีโว่

ในภาพรวมแม้กระแสความสนใจจะเทไปอยู่ที่สินค้ากลุ่มพรีเมียม หรือ เรือธงจากแบรนด์ต่างๆ ทว่าตัวจักรสำคัญที่จะเข้ามาสร้างการเติบโตน่าจะมาจากสมาร์ทโฟนที่สเปคดี ราคาจับต้องได้มากที่สุด
ไอดีซีเผยว่า ไตรมาสที่ 1 ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนที่มียอดขายสูงสุด 5 อันดับแรกประกอบด้วย ซัมซุง ยอดขาย 79.2 ล้านเครื่อง ส่วนแบ่งการตลาด 22.8% ตามมาด้วย แอ๊ปเปิ้ล 51.6 ล้านเครื่อง 14.9% หัวเว่ย 34.2 ล้านเครื่อง 9.8% ออปโป้ 25.6 ล้านเครื่อง 7.4% และ วีโว่ 18.1 ล้านเครื่อง 5.2% ตามลำดับ

แยกตามแบรนด์ไตรมาสแรกนี้ “ซัมซุง” แม้เทียบกับปีก่อนหน้ายอดขายไม่ได้เติบโตมากขึ้น ทว่ายังคงสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดได้อย่างเหนียวแน่น นอกจากเรือธงอย่างเอส 8 และ เอส 8 พลัส ที่สัญญาณตอบรับค่อนข้างดีแล้ว ยักษ์อิเล็กฯ แดนกิมจิสามารถสร้างความสมดุลในการเปิดตลาดสินค้าได้ดี พยายามที่จะสร้างความหลากหลาย ทำราคาที่สามารถจับต้องได้ เช่นซีรีส์ เจ, เอ ที่แข่งขันได้ดีทั้งในตลาดเกิดใหม่และตลาดที่กำลังพัฒนา

ด้าน“แอ๊ปเปิ้ล”มีสินค้าเข้าสต็อกเพื่อวางจำหน่ายมากกว่าเดิม เพิ่มทางเลือกในตลาดระดับกลางในรุ่นไอโฟน เอสอีด้วยความจุ 32 และ 128 กิกะไบต์เข้าไป เสริมด้วยไอโฟนสีแดง และที่ได้รับความสนใจไม่น้อยยังมีรุ่นครบรอบ 10 ปีไอโฟน ที่มีความคาดหวังกันว่าจะได้เห็นความแตกต่างทั้งการออกแบบ ขนาด และประสิทธิภาพการทำงาน

“หัวเว่ย”ทำได้ดีทั้งในตลาดพรีเมียมกับพีและเมทซีรีส์ รวมถึงตลาดที่ราคาจับต้องได้วายซีรีส์และแบรนด์ออเนอร์ แข็งแกร่งอย่างมากในตลาดประเทศจีน ทว่ายังไม่ดีนักในสหรัฐ โดยรุ่นเรือธงพี 10 และ พี 10 พลัส ออกมาช้าไปสำหรับดึงความสนใจในไตรมาสแรก และต้องจับตาดูต่อในไตรมาสถัดๆ ไป

ขณะที่“ออปโป้”กลยุทธ์ที่ทำให้เครื่องราคาระดับกลางมีความสามารถในการถ่ายภาพที่โดดเด่นได้ช่วยเพิ่มยอดขายให้ชัดเจน ทั้งพบว่าเริ่มสร้างการเติบโตได้มากขึ้นในตลาดนอกประเทศจีน ขณะนี้สัดส่วนยอดขายเกือบ 1 ใน 4 มาจากตลาดนอกประเทศ

อีกหนึ่งกลยุทธ์สร้างความสำเร็จ มาจากการสร้างความแข็งแรงในช่องทางการจัดจำหน่าย เสริมบริการหลังการขายในตลาดอาเซียน ทั้งได้โหมการตลาดทั้งรูปแบบบีโลว์และอโบพเดอะไลน์
สำหรับ“วีโว่” ทำได้ดีในตลาดจีน การงางตำแหน่งทางการตลาดในการเป็นผู้นำด้านเซลฟี่สร้างความสนใจให้ผู้บริโภคอายุต่ำกว่า 30 ปีได้อย่างมาก ทั้งมีการเข้าโปเพิ่มนำ้หนักทางการตลาดในตลาดเกิดใหม่อย่างอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พยายามสร้างจุดต่างการบริการด้วยระยะเวลาซ่อมภายในวันเดียว