เศรษฐกิจแบ่งปันในมุม ‘เอชพี’

เศรษฐกิจแบ่งปันในมุม ‘เอชพี’

เทรนด์ที่มีให้เห็นมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือการใช้งานคอมพิวเตอร์ และ พริ้นเตอร์ในฝั่งอเมริกาและยุโรปก็เริ่มเปลี่ยนไปจาก “ซื้อ” เป็น “เช่าใช้” เพื่อหวังลดค่าใช้จ่าย และสอดรับกับเทรนด์องค์กรยุคใหม่ที่เน้นกระชับและคล่องตัวในการทำงาน

โดยมองถึงข้อดีของความคุ้มค่าจากการซื้อสินค้าและใช้บริการนั้นๆ และการลดค่าใช้จ่ายแทนการซื้อสินทรัพย์

สิ่งที่เกิดขึ้น ปวิณ วรพฤกษ์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจการพิมพ์และคอมพิวเตอร์ เอชพี อิงค์ (ประเทศไทย) จำกัด มองว่าเป็นโอกาสใหม่สำหรับ ‘เอชพี’

เมื่อรูปแบบการทำงานในองค์กรเริ่มเปลี่ยนไป จากข้อมูลวิจัยพบว่าสัดส่วนคนทำงานในองค์กรมากถึง 50% จะเป็นกลุ่มมิลเลนเนียล ในปี 2020

ความท้าทายของผู้บริหาร คือทำอย่างไรให้สมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต

ปัจจุบันคนทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา แล้วกลุ่มใหญ่ในนั้นคือ กลุ่มมิลเลเนียล ในวัย 20-35 ปี ที่มีไลฟ์สไตล์ที่ไม่เหมือนกัน บางคนวิ่งตอนเช้าเข้าทำงาน บ่ายสามอาจไปฟิตเนส แล้วมาทำงานต่อถึงเที่ยวคืน หรือแม้แต่การทำงานออฟฟิศก็ได้ ที่บ้านก็ได้

“การประชุมที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกิดขึ้นแบบไม่เป็นทางการ มีการยืนประชุม หรือ ประชุมในร้านกาแฟ บางครั้งผมก็เอาโน๊ตบุ๊คพาทีมไปประชุมและทำงานในร้านกาแฟ”

ด้วยรูปแบบการทำงานในแบบ Office of the Future จะมีให้เห็นมากขึ้น เน้นการออกแบบที่ไม่ตายตัวเหมือนการทำงานยุคเก่า การออกแบบเปิดโล่ง เน้นสร้างบรรยากาศการสื่อสารระหว่างคนในองค์กรมากขึ้น รวมถึงรูปแบบการใช้งานอุปกรณ์ไอทีในองค์กรด้วย  

“นอกจากเรื่องความปลอดภัย และดีไซน์ อีกส่วนที่เราให้ความสำคัญก็คือ Total solution ในการควบคุมค่าใช้จ่าย

เทรนด์อเมริกา ยุโรป ไม่ได้ซื้อเครื่อง แต่เช่าใช้ พริ้นเตอร์ และพีซี ซึ่งเหมาะมากกับบริษัทสตาร์ทอัพ และธุรกิจที่ต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา

โดยเฉพาะสตาร์ทอัพ ไม่ได้มีบุคลากรเยอะ ไม่ได้มีแผนกไอที หรือ ผู้จัดการด้านไอที การจะซื้อเครื่องจำนวนมากๆ เป็นเรื่องที่ปวดหัวมาก”

การนำเซอร์วิสเรื่องการ “เช่าใช้” มาให้บริการในไทยดำเนินงานมาปีเศษผ่าน เอชพี และพาร์ทเนอร์กว่าแสนรายทั่วประเทศ โดยมี 2 บริการหลัก ได้แก่ DAAS : Device as a service สำหรับ คอมพิวติ้ง และ MPS : Manage print service

นั่นหมายถึงว่า ลูกค้าสามารถเช่าใช้เป็นรายเดือนได้ ตั้งแต่ 36 เดือนไปจนถึง 60 เดือนหรือมากกว่านั้น

ส่วนที่เป็นข้อดีของ การเช่าใช้ ปวิณ บอก มีผลต่อ Financial ของบริษัท โดยการเช่าใช้สามารถลงบัญชีเป็นค่าใช้จ่าย ลดต้นทุน ภาษี และทำให้ประมาณการได้ว่าค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน หรือ แต่ละปีเป็นเท่าไหร่ อีกทั้งไม่ต้องห่วงเรื่องการบำรุงรักษา และค่าเสื่อมราคา

“ตอนนี้เทรนด์นี้บูมมากในต่างประเทศ ผมว่าน้อยบริษัทที่จะซื้อเครื่องเข้าไปแล้วบริหารเอง สำหรับตลาดในไทย มองว่าน่าจะรับรู้ในวงกว้างมากขึ้น และเป็นโอกาสของธุรกิจขนาดกลางถึงเล็ก และสตาร์ทอัพ”

โมเดลธุรกิจนี้เหมาะกับตลาดในไทย ตัวอย่างเช่น สตาร์ทอัพเปิดตัวไทยปีนี้ แล้วมีแผนขยายตัวไปในอีกหลายประเทศ ต้องลงทุนเยอะ แต่ด้วยบริการนี้ทำให้เช่าใช้ที่นี่ แล้วเติมไปในแต่ละประเทศได้เลย ทุกอย่างบริหารจัดการได้ในแต่ละพื้นที่ โดยที่ไม่ต้องคุยกับหลายเวนเดอร์

“ที่สำคัญ ลูกค้าสามารถจ่ายเป็นรายเดือน โดยเรามีอีกส่วน เอชพี ไฟแนนเชียล เซอร์วิส ทำให้ปัจจุบันไม่ใช่บริการแค่เครื่อง แต่มีโซลูชั่น และเซอร์วิส เสนอเป็นแพ็คเก็จเอาไว้ให้

ถือว่าเราเป็นเจ้าแรกที่ทำตรงนี้อย่างเต็มรูปแบบ

ผมมองว่าไทยแลนด์ 4.0 ซีอีโอ ซีไอโอ ต้องเข้ามาดูแล ไม่ใช่ให้แค่ tools แต่คือ โทเทิ่ลโซลูชั่น ในการเพิ่มยอดขาย การสร้างความได้เปรียบธุรกิจ การเข้าถึงข้อมูลทางธุรกิจได้ดีกว่า รวมถึงเรื่องความปลอดภัย

ในอนาคตว่าเวลาซื้อไม่ใช่แค่ให้งบ แต่ต้องนั่งคุยในบริษัทว่าซื้ออะไร แบบไหน เพราะการซื้อกับเช่าใช้เป็นคนละแบบกัน

โดยลูกค้าเราจะมองในขาดกลางถึงใหญ่ รวมทั้งดีไซน์แพ็คเก็จไว้สำหรับกลุ่มเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ ผ่านการให้บริการของบริษัทและพาร์ทเนอร์" 

ในครั้งนี้ เรียกว่าเป็นการ “ปรับ” เพื่อให้สอดรับกับตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปของ ‘เอชพี’

อย่างไรก็ดี ในประเด็น ‘ความปลอดภัย’ ก็เป็นเรื่องใหญ่โลกดิจิทัล

สังคมยุคดิจิทัลที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์ไอทีจำนวนมาก มั่นใจแค่ไหนว่า อุปกรณ์นั้นไม่ได้ถูกคุกคามจากผู้อื่น

Forbes ได้มีการรายงานผลสำรวจ พบ 92% มีการรั่วไหลข้อมูล ซึ่งส่งผลเสียหายมากถึง 7.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

65% ของการรั่วไหลมาจากคนในองค์กร

นอกจากผลสำรวจดังกล่าวแล้ว กรณีที่เกิดขึ้นหลายครั้งก็สร้างความเสียหายได้มากจนนึกไม่ถึง

เหตุเกิดที่ประเทศสิงคโปร์กมีการนำโดรนบินเข้าไปใช้ไวไฟแอคเซส เอาข้อมูลองค์กรออกมา หรือ ล่าสุด แฮคเกอร์ชื่อดัง ใช้เวลาสั้นมากในการแฮคพริ้นเตอร์ 1.5 แสนเครื่องพร้อมๆกัน

“ประเด็นความปลอดภัยเทรนด์นี้สำคัญมากๆ เพราะการถูกแฮค จะมีให้เห็นมากขึ้น เราต้องเรียนรู้การป้องกันให้มากขึ้นด้วย” ปวิณ วรพฤกษ์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจการพิมพ์และคอมพิวเตอร์ เอชพี อิงค์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

ทำไมเราต้องมามองถึงความปลอดภัยในพริ้นเตอร์ นั่น เพราะพริ้นเตอร์ทุกวันนี้ทำหน้าที่เหมือนพีซี มีการเชื่อมต่อเน็ตเวิร์ค และส่งอีเมลได้

แล้วพริ้นเตอร์ก็มีฮาร์ดดิสก์เหมือนกัน อีกทั้งสามารถอัพเดทเฟิร์มแวร์ให้เป็นเวอร์ชั่นล่าสุดได้ นอกจากนี้ พริ้นเตอร์ฉลาดถึงกับบอกได้ว่าเครื่องเป็นอะไร เป็นต้น

ในส่วนของ เอชพี วันนี้เราเรียกว่าเทคโนโลยี 3D โดย D ตัวแรกคือ Device ผลิตภัณฑ์เอนเตอร์ไพรส์ พริ้นเตอร์เรามีระบบป้องกันเวลาถูกโจมตี เครื่องจะทำการปิดตัวเองลงแล้วแจ้งไปยังระบบแมเนจเม้นท์ขององค์กรได้

D ตัวที่สอง คือ Data การรู้ว่าส่งดาต้าจะถูกส่งไปที่ไหน คนที่ส่งไปนั้นได้รับอนุญาตหรือไม่ เป็นต้น

D ตัวที่สาม คือ Document องค์กรจะเซ็ตนโยบายในการพริ้นงานเพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย